Business

ค้าปลีกครึ่งปีแรกทรงตัวเอกชนเสนอรัฐผลักดัน ‘ดิวตี้ฟรี ซิตี้’

จริยา จิราธิวัฒน์
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การขยายสาขาธุรกิจค้าปลีกมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในปี 2017 โดยมีร้านค้าปลีกรูปแบบ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์สโตร์ เพิ่มขึ้น 37 แห่ง, ซูเปอร์มาร์เก็ต 47 แห่ง, ร้านสะดวกซื้อ 1,104 แห่ง, ห้างสรรพสินค้า 4 แห่ง, ศูนย์จำหน่ายสินค้าตกแต่งซ่อมแซมบ้าน และ การก่อสร้าง 16 แห่ง, ศูนย์จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ 65 แห่ง และศูนย์จำหน่ายสินค้าสุขภาพและความงาม 211 แห่ง

ด้านการลงทุนในภาคค้าปลีก มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ยอดเม็ดเงินการลงทุนจากปี 2015-2017 อยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท (เฉลี่ยปีละประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท) ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงมากและสูงกว่าการก่อสร้าง BTS (1.2 แสนล้านบาท) หรือการประมูลคลื่น 4G 900 MHz (7.6 หมื่นล้านบาท) ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรงกว่า 2.1 แสนคนต่อปี และการจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 1.5 แสนคน

โดยสถานการณ์ภาพรวมครึ่งปีแรกของภาคธุรกิจค้าปลีกพบว่า ยอดค้าปลีกในครึ่งปีแรกค่อนข้างคงที่ในทุกหมวดสินค้า แต่ GDPของประเทศมีการเติบโต ทั้งนี้ GDP ทั้งประเทศในสิ้นปี 2560 เติบโต 3.9% และไตรมาสแรกของปี 2561 เติบโตถึง 4.9%

การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกแยกตามประเภท ปี

การเติบโตของ GDP ประเทศ เป็นผลมาจากการเติบโตของภาคการส่งออก และการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่เมื่อไปดูในหมวดการบริโภคเติบโตเพียง 3.2% โดยในปี 2560 เติบโตเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2559 อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการบริโภคมีทิศทางเดียวกับดัชนีค้าปลีก ซึ่งเติบโตจาก 3.2% ในปี 2560 มาเป็น 3.3% ในครึ่งปีแรก 2561

ภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรกที่ทรงตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า และยังเป็นลักษณะกระจุกตัวที่เฉพาะในกรุงเทพ และหัวเมืองหลักๆ ของการท่องเที่ยว ส่วนสาขาที่อยู่ในต่างจังหวัด การเติบโตของกำลังซื้อค่อนข้างอ่อนตัว เนื่องจากสัดส่วนสาขาในกรุงเทพปริมณฑลมีสัดส่วนเพียง 30% ในขณะที่สาขาส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดถึง 70% ทำให้ดัชนีในไตรมาสที่สองโดยรวมทรงตัว สะท้อนให้เห็นว่า กำลังซื้อในต่างจังหวัด(ยกเว้นกรุงเทพและหัวเมืองหลักๆของการท่องเที่ยว) ยังไม่มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะจังหวัดที่รายได้หลักมาจากภาคเกษตรกรรม ประกอบกับปีนี้ฤดูฝนมาก่อนกำหนดฤดูกาล ส่งผลให้ผลผลิตและราคาสินค้าภาคเกษตรครึ่งปีแรกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

สำหรับสถานการณ์ค้าปลีกในครึ่งหลังของปี 2561 คาดว่าอุตสาหกรรมภาคค้าปลีก น่าจะยังทรงตัวในไตรมาสที่สาม และดีดตัวขึ้นไปในไตรมาสที่สี่ตามวัฎจักรของการจับจ่าย แม้ภาครัฐจะเร่งให้มีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ภายในปีนี้ แต่ผลจากการลงทุนนี้จะส่งผลมายังภาคค้าปลีกต้องใช้เวลา 6-8 เดือน หวังว่านโยบายและงบประมาณที่ไปกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะขยายตัวไปยังจังหวัดรองๆ ไม่มาเติบโตกระจุกตัวในเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมดัชนีค้าปลีกปี 2561 น่าจะดีกว่า ปี 2560 เล็กน้อย โดยคาดว่าการเติบโตน่าจะอยู่ราว 3.3-3.5% แต่ก็ยังน้อยกว่า GDP ทั้งประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเติบโตราว 4.5%

ยื่น 6 ข้อเสนอดันนโยบายดิวตี้ฟรีซิตี้

นอกจากรายงานภาพรวมสถานการณ์ค้าปลีกแล้ว สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยังได้ทำข้อเสนอแนะจากสมาคมผู้เค้าปลีกไทยต่อภาครัฐ 6 ข้อ ดังนี้

  • 1. ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ แต่การเป็นจุดหมายของการจับจ่ายใช้สอยสินค้า (Shopping Destination) ยังไม่ใช่เหตุผลหลักที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกมาประเทศไทย สมาคมฯเสนอให้ภาครัฐผลักดันนโยบาย Duty Free City เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Shopping Destination ของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง สร้างให้การช้อปปิ้งเป็นหนึ่งในแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย
  • 2. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบาย Shopping Tourism หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง ภาครัฐจะต้องพิจารณาการเปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษี โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีในเมืองให้มากขึ้น และการพิจารณาประมูลร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินตามประเภทกลุ่มสินค้า ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการซื้อ สินค้าและยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้มีการใช้จ่ายในประเทศให้มากมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อาทิ โรงแรม ที่พัก สปา ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้าน จำหน่ายของที่ระลึก การคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เป็นต้น
  • 3.ภาครัฐจะต้องเร่งรัดโครงการ Downtown VAT Refund For Tourist โดยเร็ว เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในการได้รับคืนภาษีทันทีเมื่อซื้อสินค้า และเมื่อนักท่องเที่ยวได้รับคืนเงินภาษี นักท่องเที่ยวก็สามารถนำเงินนั้นมาซื้อสินค้าและบริการด้วยเงินสด ซึ่งหมายความว่าเงินนั้นจะไปถึงผู้ประกอบการรายเล็ก ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็ก มีโอกาสได้ประโยชน์จากเงินคืนภาษีของชาวต่างชาติมากขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยลดภาระของกรมสรรพากรในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว
  • 4. รัฐต้องสร้างกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจแนวทางใหม่ และหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ที่มีประสิทธิภาพภายใต้สังคมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เม็ดเงินในการจับจ่ายสู่ภูมิภาคและจังหวัดรอง
  • 5. ในด้านการค้าชายแดน ภาครัฐต้องผลักดันและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ภาคค้าปลีก ค้าส่งสามารถขยายสาขาในบริเวณพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นฐานในการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค และเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางมาท่องเที่ยวและจับจ่ายในประเทศไทย
  • 6. ปัจจุบันกลุ่มค้าปลีกมีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพนักงานรายชั่วโมงที่ไม่สามารถจ้างได้เพียงพอ และในขณะเดียวกันยังมีกลุ่มที่ขาดรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มบุคคลหลังเกษียณ ที่ไม่มีรายได้แต่ยังมีภาระเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา 8 ชั่วโมง จึงเหมาะสมที่จะจ้างกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นรายชั่วโมง ภาครัฐจะต้องกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน ผลักดันให้มีการออกกฎระเบียบประกาศค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้สามารถจ้างงานบุคคลกลุ่มดังกล่าวได้

Avatar photo