Politics

ละเอียดยิบ! เปิดคำแถลงมาตรการดูแลสถานการณ์ ‘โควิด-19’ ของ ‘บิ๊กตู่’

ละเอียดยิบ! เปิดคำแถลงมาตรการดูแลสถานการณ์ ‘โควิด-19’ ของ “นายกรัฐมนตรี” ลั่นขอใช้ความรัก ความสามัคคี ของทุกคนในชาติร่วมกันเอาชนะไวรัส

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีมติเห็นชอบเลื่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ 13–15 เมษายนออกไปก่อน และจะชดเชยวันหยุดให้ในภายหลัง โดยกระทรวงคมนาคมจะดูแลการคืนตั๋วเดินทางได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม สำหรับมาตรการปิดสถานบันเทิงเพื่อลดการแพร่กระจายของโควิด – 19 นั้น กระทรวงการคลังจัดเตรียมมาตรการรองรับให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบในลำดับต่อไป

นายก1734

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังขอความร่วมมืองดจัดงานรื่นเริงหรืองานสังสรรค์ที่มีการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก ขอให้ทำตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คือ การเว้นระยะห่างจากสังคม เฝ้าสังเกตอาการตัวเอง 14 วัน หรือ หากมีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ในปัจจุบัน พร้อมเน้นย้ำว่าทุกขั้นตอนนั้นปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขและมีมาตรการรองรับในทุกมิติยืนยันไทยยังไม่เข้าสู่การระบาดในระยะที่ 3 แต่มีแนวโน้มการแพร่กระจายที่เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและหามาตรการรองรับ รวมทั้งการเข้าถึงพื้นที่ชุมชน ซึ่งได้จัดตั้งคณะทำงานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายกรัฐมนตรีแถลงว่า วันนี้ คณะรัฐมนตรีรับทราบและพิจารณาการดำเนินการตามข้อเสนอจากการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด–19) ทั้งหมด 6 ด้วย ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน ด้านข้อมูล การชี้แจงและการรับเรื่องร้องเรียน ด้านการต่างประเทศ ด้านมาตรการป้องกัน และด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งมีมติเห็นชอบดังต่อไปนี้

ด้านสาธารณสุข ไม่มีการปิดเมืองหรือปิดประเทศ แต่เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันและสกัดกันการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย คือ ชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย (4 ประเทศ + 2 เขตปกครองพิเศษ) ต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ประกันสุขภาพ ยินยอมใช้แอปพลิเคชันในการติดตามของรัฐ ใช้กับการเข้าเมืองทุกทางทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะต้องดูประเทศก่อนที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยด้วย หากพบว่าไปประเทศที่มีความเสี่ยงตามที่ประกาศ จะต้องกักกันเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง แต่ยังไม่ประกาศเป็นเขตโรคติดต่ออันตราย ต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ประกันสุขภาพ ที่พำนักอาศัยที่สามารถติดต่อได้ในประเทศไทย ยินยอมให้ใช้แอปพลิเคชันในการติดตามของรัฐ ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และใช้มาตรการกักกันของรัฐคือการเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน

ครม.173631

รวมถึงห้ามข้าราชการ พนักงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ เดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น เช่น ต้องเข้าร่วมประชุม และเตือนประชาชนให้งดการเดินทางไปในประเทศซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตรายและพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะมีการพัฒนาระบบและกลไกการกักกันผู้ที่เป็นหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ณ ที่พำนัก ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เน้นชาวต่างประเทศรวมทั้งคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศให้มีการใช้แอปพิลเคชันติดตามตัว รัฐบาลจะจัดหาและเพิ่มบุคลาการทางแพทย์ อุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็น ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับการรับมือระยะ 3 ได้แก่ สถานพยาบาล เตียง หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือ และชุดป้องกันโรค ซึ่งได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุนจากต่างประเทศเป็นบางส่วนแล้ว นายกรัฐมนตรียังแนะนำให้คนไทยที่พำนักอาศัยในต่างประเทศชะลอการเดินทางกลับประเทศไทย จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในประเทศจะดีขึ้น

ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน จะมีการเร่งผลิตในประเทศและจัดหาจากต่างประเทศให้เพียงพอกับความต้องการ โดยสั่งเร่งผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยผ้า เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการป้องกัน นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหรรมและภาคเอกชน อนุญาตให้ใช้แอลกอฮอล์ในการผลิตเจลล้างมือแอลกอฮอล์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น โดยจะแจกเจลล้างมือในสถานีบริการน้ำมันบางจากและปตท. พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนใช้หน้ากากผ้าเมื่อเดินทางเข้าสถานที่ชุมชน รัฐบาลจะนำหน้ากากอนามัยที่ยึดได้จากการซื้อขายออนไลน์อย่างผิดกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์เพื่อกระจายต่อไป แต่จะยังดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอยู่ รวมทั้งจะสำรวจความต้องการของเวชภัณฑ์ที่จำเป็น อาทิ ชุดป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (PPE) หน้ากาก N95 และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น และจะมีการประสานงานกับต่างประเทศในการจัดหาเพิ่มเติมให้เพียงพอ รวมถึงตรวจสอบการขายออนไลน์ การกักตุน และการระบายของสินค้า ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลได้เข้าควบคุมการกระจายสินค้าอย่างถูกต้อง

ด้านข้อมูล การสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐบาลมี 2 แหล่งด้วยกัน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการแถลงเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์ การสาธารณสุข ส่วนศูนย์ข้อมูลโควิด – 19 เป็นการแถลงภาพรวมในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น มติของคณะรัฐมนตรี

ด้านการต่างประเทศ จัดตั้งทีมงานเพื่อดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยให้กระทรวงต่างประเทศจัดดตั้ง TEAM THAILAND ในทุกประเทศเพื่อเป็นทีมเฉพาะกิจ ดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยมีเอกอัคราชทูตเป็นหัวหน้าทีม รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงาน ย่อยภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อให้ข้อมูล ตอบข้อสงสัย กับทางศูนย์ข้อมูลโควิด – 19 ของทางรัฐบาลเพิ่มเติมอีกด้วย

ครม.173633

ด้านการป้องกัน รัฐบาลมุ่งลดโอกาสในการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ การปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค สถานที่ซึ่งผู้คนมาร่วมเป็นกิจวัตร เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอาจแพร่เชื้อได้ง่าย แม้จะป้องกันแล้ว และยังมีทางเลือกอื่นทดแทนการชุมนุม ได้แก่ มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบันให้ปิดชั่วคราว ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะแนะแนวทางการปฏิบัติเรียนการสอนออนไลน์ให้แก่สถานศึกษา นอกจากนี้ยังมีสถานที่ซึ่งผู้คนไม่ได้มาชุมนุมเป็นกิจวัตร แต่มาเพื่อทำกิจกรรมที่มีการเบียดเสียดใกล้ชิด และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อง่ายทางปาก สัมผัสถูกเนื้อต้องตัวหรือใช้สิ่งของร่วมกันง่าย จะมีการปิดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เช่น สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กรณี ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จะมีการปิดชั่วคราวเป็นเวลา 14 วัน รวมถึงการงดจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น จัดคอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่าง ๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบและรายงานมายังศูนย์ข้อมูลโควิด – 19 ด้วย รวมถึงเพิ่มมาตารการป้องกันสำหรับพื้นที่และสถานที่ที่ยังต้องเปิดอยู่ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ จะต้องลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ โดยดำเนินมาตรการป้องกันตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เน้นให้ร้านค้า ร้านอาหาร ให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส การคัดกรองอุณหภูมิ ใช้หน้ากากอนามัยรวมทั้งลดความแออัด เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค

ดังนั้น รัฐบาลได้มีติเห็นชอบงดวันหยุดสงกรานต์วันที่ 13 – 15 เมษายน 263 โดยให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และจะมีการชดเชยวันหยุดให้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ขอความร่วมมืองดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัดของหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ของโรค รวมถึงจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวด้วย นอกจากนี้ ให้หน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงานและทำงานที่บ้าน ส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกล โดยให้หน่วยงานราชการทำแผนการทำงานจากบ้านและรายงานผลการปฏิบัติ นอกจากนี้ จะเพิ่มกลไกการกำกับดูแลในระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่ากทม. โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 เพื่อจำกัด ดูแล การเคลื่อนย้ายที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดหรือกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการจำกัดพื้นที่เสี่ยงตามข้อมูลที่มีการแพร่ระบาด แจ้งมาตรการที่จะดำเนินต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ความเห็นชอบโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกวัน ให้มีหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคในทุกอำเภอ เขต หมู่บ้าน โดยมีบุคคลจากภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

ด้านมาตรการช่วยเหลือเยียวยา เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ โรงงาน สถานประกอบการ โรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้านการท่องเที่ยว ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาหามาตรการรองรับช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ชะลอการ lay off พนักงาน ลูกจ้าง อาทิ มาตรการช่วยเหลือการลดราคาห้องพักของธุรกิจโรงแรม กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของกิจการโรงงาน ให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและมีภาระในการผ่อนชำระ เพื่อให้สถาบันการเงินผ่อนผันการชำระค่างวด รวมถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพนอกระบบ (พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างรายวัน ฯลฯ) กลุ่มเกษตรกร (ผลไม้ ดอกไม้ กล้วยไม้ ฯลฯ) ที่ได้รับผลกระทบ นำเสนอเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯในระยะที่ 2 ต่อไป ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม ดูแลอย่างเข้มงวดในเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ไวรัสโควิด เช่น หนี้นอกระบบ การบังคับคดี การขายฝาก เป็นต้น รวมถึงการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อ จัดหา อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ ซึ่งได้มีการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

ครม.173634

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการของรัฐบาลเพื่อรองรับผลกระทบที่สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคที่มีมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ขอให้ศูนย์โควิด – 19 นำไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์สู่ประชาชนในช่องทางต่าง ๆ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าในขณะนี้ประเทศไทยควบคุมสถานการณ์และชะลอระยะการแพร่ระดับระดับ 2 ไว้ให้นานที่สุด โดยใช้มาตรการควบคุม ป้องกัน รักษา และสื่อสารในทุก ๆ ด้าน การแก้ไขปัญหาโควิด – 19 มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 เนื่องจากมีผลกระทบทั้งชีวิตของประชาชนโดยตรง เมื่อสถานการณ์บรรเทาลงแล้ว รัฐบาลจะดำนเนิการฟื้นฟูผลกระทบทางด้านอื่น ๆ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะประเมินสถานการณ์โควิด – 19 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศและปัญหาเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดรอบคอบเพื่อเตรียมพร้อมรับมือและปรับมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

นายกรัฐมนตรีได้แถลงปิดท้ายว่า รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง และอยากให้ประชาชนมีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนร่วม เน้นการใส่หน้ากากอนามัย กินอาหารร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว และหากพบว่าตัวเองเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อให้รีบเดินทางไปพบแพทย์ทันที

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK