Politics

‘กรมชลฯ’ เร่งระบายน้ำ 11 เขื่อนใหญ่เกินเกณฑ์ควบคุม

เขื่อนวชิราลงกรณ
เขื่อนวชิราลงกรณ

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (31 ก.ค. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 51,677 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็น 68% ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 27,757 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 53% ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน สามารถรองรับน้ำได้อีก 24,331 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,253 ล้าน ลบ.ม. หรือ 57% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 7,557 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีก 10,618 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักในบางแห่ง ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน (31 ก.ค. 61)อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม มี 11 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล, น้ำอูน, น้ำพุง, จุฬาภรณ์, อุบลรัตน์, ลำปาว, ลำพระเพลิง, ป่าสักชลสิทธิ์, วชิราลงกรณ, แก่งกระจาน และปราณบุรี

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้มีความเหมาะสม เพื่อสามารถรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำการจำลองปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนจากเครื่องมือ ROS (Reservoir Operation Study) กำหนดสถานการณ์ตัวอย่าง จำนวน 3 สถานการณ์ จากข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำปี พ.ศ.2554, พ.ศ.2557 และปีเฉลี่ย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และพิจารณาการบริหารจัดการน้ำได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการระบายน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณน้ำในอ่างฯสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม ให้เร่งดำเนินการวางแผนการระบายน้ำ เพื่อเป็นการพร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกักต่อไป

ในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จะพิจารณาการระบายน้ำในอ่างฯที่มีความจุเก็บกักมากกว่า 80% ของความจุอ่างฯ ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ (Inflow) น้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับความจุ จะรักษาปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ 70 – 80% และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้า (Inflow) มากกว่าความจุอ่างฯสองเท่า ให้รักษาปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ 60 – 70% เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน

สำหรับสถานการณน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี หลังจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนวชิราลงกรณเป็นจำนวนมาก ปริมาณน้ำในเขื่อนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน(31 ก.ค. 61) มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 123 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำในอ่างฯอยู่ที่ 7,146 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 81% ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำออกจากอ่างฯวันละประมาณ 28 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ มีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.)เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณ เป็นวันละ 36 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย และรักษาเสถียรภาพของเขื่อนให้สามารถรองรับปริมาณน้ำจากฝนที่จะตกลงมาในพื้นที่ได้อีกในระยะต่อไป สำหรับการเพิ่มการระบายน้ำในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบผลต่อกลุ่มผู้ใช้น้ำที่อยู่ทางด้านท้ายเขื่อน กรมชลประทานจึงมอบหมายให้ กฟผ. ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อชี้แจงพร้อมทำความเข้าใจต่อกลุ่มผู้ที่อาจได้รับผลกระทบทราบต่อไปแล้ว

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำ ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิม ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่ หากเกิดฝนตกหนักจะได้เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งได้กำชับให้ติดตามตรวจสอบอาคารและระบบชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา ควบคุมและรักษาระดับน้ำในเขื่อนต่างๆให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด อีกทั้ง จัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ 1,851 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 317 ชุด รถบรรทุก/ยานพาหนะ 324 คัน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ในเขตสำนักงานชลประทานต่างๆ รวมทั้งสิ้น 2,803 หน่วย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK