COLUMNISTS

ความต่างของ ‘หนี้’ เพราะเป็น ‘ครู’ กับ ‘ครูที่เป็นหนี้’ ผ่านบทเรียน ‘ครูวิภา’

Avatar photo
97

S 5324809

“ขอให้เห็นใจครู ขอให้ติดต่อโทรกลับ และหาวิธีการชำระหนี้สินที่นักเรียนกู้ไปเพื่อการศึกษา เพื่ออนาคตของนักเรียนเอง แต่ครูซึ่งไม่ได้รับประโยชน์อะไรด้วย แต่เซ็นค้ำประกันช่วย เพื่อให้นักเรียนได้มีอนาคตทางการศึกษาที่ดี แต่กลับเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ทำให้ครูเดือดร้อนมาก”

คำให้สัมภาษณ์เปิดอกของครูวิภา บานเย็น หลังมีการเปิดเผยถึงชีวิตสุดรันทดจากการค้ำประกันหนี้ กยศ.ให้ลูกศิษย์ 60 คน ในช่วงปี 2541-2542 แต่ปรากฏว่ามีลูกศิษย์ที่ไร้จิตสำนึกถึง 21 คนเบี้ยวหนี้จนเป็นคดีความฟ้องร้องในศาล กระทั่งคนเป็นครูต้องไปแบกรับภาระแทน ถูกบังคับคดีเตรียมนำบ้านไปขายทอดตลาด แม้จะมีการระงับการบังคับคดีไว้ชั่วคราวในขณะนี้

แต่ปัญหายังไม่จบ และคงไม่จบง่าย ๆ เพราะเรื่องนี้ไม่เพียงแต่เป็นประเด็นจิตสำนึกของผู้กู้เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงวิธีบริหารจัดการของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.และยังเป็นอุทธาหรณ์สอนใจที่ดีสำหรับสังคมครู ที่เหลือ “ครู” ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูน้อยเต็มที่ ผ่านบทเรียน “หนี้” ด้วย โดยขอเรียงข้อมูลเป็น 3 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 : การบริหารจัดการของ กยศ.

กยศ.เป็นนโยบายในสมัยรัฐบาลชวน 1 ที่ออกมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2538 มุ่งหมายที่จะเพิ่มโอกาสให้เยาวชนที่ไร้ทุนทรัพย์มีโอกาสได้ศึกษาต่อ โดยเริ่มเปิดให้นักเรียนและนักศึกษากู้ยืมครั้งแรกในปีการศึกษา 2539 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 22 ปีแล้ว โดย กยศ.ปล่อยกู้ไปทั้งหมด 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงินกว่า 5.7 แสนล้านบาท

ในจำนวนนี้มีผู้กู้ยืมชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว 8 แสนราย อยู่ระหว่างปลอดหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านราย แบ่งเป็นสองประเภทคือ ชำระหนี้ปกติ 1.4 ล้านราย เป็นหนี้ผิดนัดชำระหนี้ 2.1 ล้านราย รวมเป็นเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท แต่ที่น่าตกใจคือในพวกที่เบี้ยวหนี้มีจำนวนถึง 8 หมื่นคนเป็นข้าราชการ

จึงมีคำถามตามมาถึงระบบการบริหารจัดการของกองทุนว่าไร้ประสิทธิภาพเพียงใด เพราะถ้ามีการเอาจริงเอาจัง มีการติดตามข้อมูลผู้กู้อย่างเป็น เชื่อมต่อหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชน เหมือนกับการเสียภาษี ที่จะถูกหักโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยในเรื่องการติดตามทวงหนี้กับผู้ที่ทำงานในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา ไม่มีการวางระบบเหล่านี้เลย เพิ่งจะมาตื่นตัวออก พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กันเมื่อปี 2560 ให้อำนาจ กยศ.ประสานข้อมูลส่วนตัวลูกหนี้ทั้งจากกรมสรรพากร ประกันสังคม ไปจนถึงเงินในบัญชีของผู้กู้ในอนาคตด้วย แต่ก็ยังถือว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า

S 5324807

ล่าสุดเพิ่งจะเริ่มหักเงินเดือนข้าราชการที่เป็นหนี้ กยศ.ทั้งหมด 170,000 ราย ในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นจึงค่อยขยับไปหักเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นหนี้ กยศ. ก่อนจะเริ่มให้บริษัทเอกชนหักเงินเดือนใช้หนี้ กยศ.ในปี 2562 ซึ่งก็ยังอยู่ในวงจำกัด ไม่ได้เป็นไปตามอัตโนมัติเหมือนกับการหักภาษี

ในปัจจุบัน กยศ.มีเงินทุนหมุนเวียน 3 หมื่นล้านบาท โดยในปีนี้มีลูกหนี้ที่ต้องชำระหนีคืน 3.5 ล้านราย วงเงินกู้รวม 4 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีลูกหนี้ชำระเงินคืน 26,000 ล้านบาท โดยเชื่อว่าเงินทุนหมุนเวียนที่มีอยู่จะเพียงพอต่อการปลอยกู้ให้กับนักเรียน นิสิตและนักศึกษาในปีการศึกษา 2561 อีก 7 แสนรายได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน

หากการวางระบบหลักกณฑ์การติดตามทวงหนี้มีประสิทธิภาพก็จะทำให้ กยศ.ช่วยเหลือเยาวชนที่ขาดทุนทรัพย์ให้มีโอกาส ทางการศึกษาได้มากขึ้นด้วย และควรทำตั้งแต่ต้นทาง มากกว่าการมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล ซึ่งในปีนี้จะมีการยื่นฟ้อง 120,000 ราย มูลหนี้รวม 12,000 ล้านบาท

ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีการวางนโยบายให้หลีกเลี่ยงการฟ้อง โดยให้ติดตามข้อมูลผู้กู้หลังจบการศึกษาว่ามีรายได้หรือไม่ ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีงานทำ จะได้มีศักยภาพมาชำระหนี้ แต่ไม่มีการดำเนินการตามนโยบายนี้อย่างจริงจัง ซึ่งจากคำสัมภาษณ์ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในรายการต้องถาม เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2561 กล่าวว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ก็จะวางระบบให้มีการจัดเก็บข้อมูลผู้กู้ ตั้งแต่จบการศึกษา เส้นทางชีวิตหลังจบการศึกษา หากไม่มีงานทำให้เสนอแนวทางการทำงานเพื่อให้มีรายได้มาชำระหนี้แทนการดำเนินคดีตามกฎหมาย เช่น การดูแลผู้สูงอายุ การจัดเก็บข้อมูลให้ภาครัฐ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางคือตัวผู้กู้ ปัญหาก็จะไม่ลุกลามมาถึงผู้ค้ำประกันเหมือนที่เกิดกับครูวิภา

ประเด็นที่ 2 : การสร้างจิตสำนึกให้ผู้กู้รับผิดชอบต่อเงินแผ่นดิน

การให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นนโยบายที่ดีในการขยายโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนไทย แต่สิ่งที่ขาดไปคือการปลูกจิตสำนึกให้ผู้ที่ได้รับโอกาสมีความรับผิดชอบ โดยต้องทำความเข้าใจว่าเงินก้อนนี้ไม่ใช่ของฟรี แต่เป็นหนี้ที่ต้องชำระเพื่อคืนกลับมาเป็นโอกาสให้กับเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป ได้มีโอกาสเหมือนกับผู้กู้ที่ได้รับโอกาสไปแล้ว การไม่ชำหระนี้คืนผู้ที่เสียหายไม่ใช่แค่รัฐบาลที่เป็นผู้ให้กู้เท่านั้น แต่เป็นอนาคตของชาติส่วนหนึ่ง ที่จะเสียโอกาสทางการศึกษา จากความไร้วินัยของคนที่เบี้ยวหนี้

นอกจากนี้ ยังกระทบต่อผู้ค้ำประกันที่ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการกู้ยืมด้วย ดังเช่นกรณีของ “ครูวิภา” ซึ่งเคราะห์ดีว่ามีการนำมาตีแผ่ให้สังคมได้รับทราบ ทำให้บรรดาลูกศิษย์เนรคุณส่วนหนึ่งคิดได้ ติดต่อขอเคลียร์หนี้แล้ว 10 คน เหลืออีก 7 คน อยู่ระหว่างรอไกล่เกลี่ย แสดงให้เห็นว่ายัมียางอายอยู่ในสังคมไทย

ดังนั้นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุกจิตสำนึกของคนที่ส่อว่าจะเบี้ยวหนี้ได้ทั้ง ๆ ที่มีศักยภาพในการชำระคืน คือ การใช้มาตรการทางสังคม โดยอาจมีการเปิดเผยรายชื่อต่อสาธารณะ เพื่อกดดันให้คนเหล่านี้รับผิดชอบต่อหนี้ที่ตัวเองสร้างขึ้น

S 5324808

ประเด็นที่ 3: “หนี้” เพราะความเป็น “ครู” กับ “ครู” ที่เป็นหนี้

จากกรณีของครูวิภา แม้จะสะเทือนใจในแง่ที่ว่า “ครู” ทำเพื่อ “ลูกศิษย์” แต่ “ลูกศิษย์” กลับทำให้ “ครู” เดือดร้อน แต่ก็ยังมีมุมดี ๆ ที่ทำให้เราเห็นว่ายังมี “ครู” ที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู หลงเหลืออยู่ในสังคมไทย ไม่ได้มีแต่ครูติว ครูขายตรง ฯลฯ เหมือนที่เห็นกันดาษดื่น
ในเวลานี้ “หนี้” ที่เกิดจากความเป็น “ครู” จึงเป็นเรื่องที่ควรยกย่อง ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรดูแล “ครู” ประเภทนี้ แทนที่จะไปไล่บี้ทวงหนี้จนถึงขั้นบ้านก็จะถูกนำไปขายทอดตลาด ระบบการติดตามหนี้ควรมุ่งที่ผู้กู้มากกว่าผู้ค้ำประกัน เพราะการค้ำประกันดังกล่าวมิได้เป็นการค้ำประกันเพื่อให้ไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับอนาคตของชาติ

ส่วน “ครูที่เป็นหนี้” ก่อนหน้านี้ไม่นานเพิ่งมีการประกาศปฏิญญาขอยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสินนั้นภาครัฐก็อย่าไปบ้าจี้ตาม เพราะคนเหล่านี้เป็นหนี้จากภาระ “การใช้ชีวิตส่วนตัว” ซึ่งแตกต่างจาก “หนี้” ที่เกิดจากความเป็น “ครู” ดังนั้นหากมี “ครูที่เป็นหนี้” รายใด ไม่ชำระหนี้จริง ก็ต้อง ดำเนินคดีกันไปตามกฎหมาย

บทเรียนจากกรณี “ครูวิภา” ไม่เพียงแต่บอกเราว่า ครูที่ดียังมีในสังคมเท่านั้น แต่ยังเตือนให้ภาครัฐจัดวางระบบ เพื่อวิธีการที่ถูกต้องที่เหมาะสม และเป็นธรรมในการติดตามทวงหนี้ กยศ. เพื่อให้กองทุนนี้เป็นโอกาสให้กับเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งกองทุน ต่อไปด้วย