The Bangkok Insight

‘ไพบูลย์’ ค้านเปิดประชุมสภาฯ เหตุนำคนอยูู่ร่วมกัน มากกว่า 500 คน เสี่ยงไวรัสโควิด-19

“ไพบูลย์” ค้านเปิดสภา ประชุมวิสามัญ เหตุฝ่าฝืน มาตรการป้องกันแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นำ ส.ส.จำนวน 500 คน และครม.ร่วมประชุมในที่เดียวกัน “เสี่ยง” และเป็นตัวอย่างไม่ดี เหตุที่ผ่านมา รัฐบาลขอความร่วมให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก

ประชุมรับมืออภิปราย ๒๐๐๓๑๔ 0029

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เห็นคัดค้านไม่เห็นด้วยกับกรณีที่พรรคเพื่อไทย จะเสนอญัตติเปิดสมัยประชุมวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 เพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และการแก้ไขปัญหาการชุมนุมของนักศึกษาในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อขอความคิดเห็นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยนายไพบูลย์ ระบุว่า ในขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 กำหนดให้มีมาตรการระยะเร่งด่วน สำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 14 ข้อ ซึ่งหนึ่งในมาตรการดังกล่าว คือ การให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชนให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่จำเป็น เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต และการจัดมหรสพ

S 3137546

ดังนั้นหากมีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพื่อให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะกลายเป็นการนำ ส.ส.จำนวน 500 คน และคณะรัฐมนตรีไปร่วมประชุมในที่เดียวกัน ทำให้เกิดความเสี่ยง ที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในการประชุมสภาฯโดยไม่จำเป็น และยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ต่อภาคเอกชนที่รัฐบาลพยายามขอความร่วมมาตลอด ให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ในขณะนี้รัฐบาล และประชาชนทั้งประเทศ ได้ตื่นตัวร่วมกันปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 อย่างเต็มที่ ทำให้เดิมช่วงแรก ข้อมูล วันที่ 23 ม.ค.63 ไทยเป็นประเทศ ที่มีผู้ติดเชื้อลำดับที่ 2 รองจากประเทศจีน แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 ไทยอยู่ในลำดับที่ 44 โดยมีประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าไทย เช่น อิตาลี อิหร่าน เกาหลีใต้ สเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น

” ในฐานะเป็น ส.ส.จึงเห็นว่า ไม่ควรมีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพื่อให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้น เพราะจะกลายเป็นการฝ่าฝืนมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เเละจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อสังคมไทย “

ส่วนการแสดงความคิดเห็น เพื่อสะท้อนปัญหาการป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สื่อมวลชน และประชาชนทั้งประเทศก็ได้ตื่นตัว แสดงความคิดเห็นไปให้รัฐบาลโดยตรงอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลก็รับฟัง และนำไปปรับปรุงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเต็มที่ ดังนั้น ส.ส. ก็สามารถเสนอความเห็นโดยตรง หรือผ่านสื่อมวลชนไปยังรัฐบาลได้เช่นเดียวกัน

 

 

Avatar photo