Digital Economy

จากเติบโตถึงตกต่ำ หรือจะถึงเวลา ‘อวสานเฟซบุ๊ก’

pexels photo 267399

นับจากปี 2546 ที่เฟซบุ๊ก (Facebook) ในฐานะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเริ่มปรากฏตัวขึ้นบนโลก เฟซบุ๊กได้สร้างความ “ว้าว” กับการเป็นเครื่องมือช่วยเชื่อมต่อผู้คนบนโลกใบนี้ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง หรือเพื่อนที่ห่างกันไปในสมัยเรียนให้กลับมาเจอกันอีกครั้ง ซึ่งฟีเจอร์ดังกล่าวส่งผลให้สถานะของเฟซบุ๊กโดดเด่นขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 2 พันล้านแอคเคาน์

อย่างไรก็ดี การเติบโตของเฟซบุ๊กในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ก็กำลังนำเฟซบุ๊กไปสู่จุดที่ตกต่ำที่สุดด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการถูกตีตราว่าเป็นแพลตฟอร์มสร้างความแตกแยกให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในช่วงกิจกรรมหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อปี 2559, การใช้แพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กแพร่กระจาย Fake News จนทำให้โลกโซเชียลมีเดียสั่นคลอนในด้านความน่าเชื่อถือ และฟางเส้นสุดท้ายที่กำลังจะขาดลงเมื่อมีการเปิดเผยโดยสื่อตะวันตกว่า มีบางธุรกิจสามารถดูดข้อมูลโปรไฟล์ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กออกไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งกรณีนี้เป็นประเด็นร้ายแรงเนื่องจากว่า มันไม่ได้ดูดแค่โปรไฟล์ของผู้ใช้งาน แต่ยังรวมถึง “เพื่อน” ของผู้ใช้งานรายนั้น ๆ ที่ไม่ได้ยินยอมให้นำข้อมูลออกไปด้วย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

แหล่งข่าวในสายงานซีเคียวริตี้ของบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งในซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกาเผยกับทีมงาน The Bangkok Insight ว่า “กระแสความไม่พอใจในการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานโดยบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก เพียงแต่ปัจจุบัน ผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งไม่สามารถเลิกใช้ได้เนื่องจากเกิดความเคยชินกับแพลตฟอร์มดังกล่าว”

โดยเขาให้ความเห็นว่า ตอนนี้ เรียกได้ว่าเฟซบุ๊กกำลังเผชิญกับมรสุมอย่างหนักทั้งจากภายในและภายนอก ซึ่งประเด็นภายในก็คือ การที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไม่ปกป้องดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานอย่างที่ควรจะเป็น และทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมอเมริกันไม่พอใจมากที่สุด ส่วนประเด็นจากภายนอกคือการถูกผู้ไม่ประสงค์ดีใช้ความใหญ่โตของแพลตฟอร์มแพร่กระจาย Fake News ซึ่งทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้งในสังคม

“การที่แพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กได้รับความนิยมในอดีต เนื่องจากมันมีความว้าวที่ทำให้เราได้พบเจอกับเพื่อนในสมัยเด็ก ๆ อีกครั้ง แต่มาถึงตอนนี้ ความว้าวเหล่านั้นหายไปหมดแล้ว และเป็นไปได้ว่าเฟซบุ๊กกำลังเสื่อมความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย”

aaa 2

สัญญาณความสั่นคลอนของเฟซบุ๊กปรากฏชัดมากขึ้นกับแคมเปญ #deletefacebook และราคาหุ้นที่ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเวลา 10 วัน นับตั้งแต่วันที่เรื่องแดงสู่สาธารณชน (16 มีนาคม) จนถึงวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมานั้น มูลค่าหุ้นของเฟซบุ๊กหายไปประมาณ 30 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลล่าร์ ตีเป็นเงินไทยประมาณ 1.55 ล้านล้านบาท ส่วนมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊กเองนั้นก็ต้องออกมาซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์จำนวนมากในสหรัฐอเมริกา และอังกฤษในวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมาเพื่อ “ขอโทษ” ผู้ใช้งานอย่างเป็นทางการซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

โดยหนังสือพิมพ์ที่เขาซื้อนั้นประกอบด้วย (อังกฤษ) ดิ ออบเซิร์ฟเวอร์, เดอะ ซันเดย์ ไทม์ส, เมล ออน ซันเดย์, ซันเดย์ มิเรอร์, ซันเดย์ เอ็กซ์เพรส, และซันเดย์ เทเลกราฟ ส่วนในสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย นิวยอร์กไทม์ส, วอชิงตันโพสต์ และวอลล์สตรีทเจอร์นัล ใจความที่ปรากฏในโฆษณายังมีการให้สัญญาด้วยว่าเฟซบุ๊กจะปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นด้วย

กระนั้นก็ไม่อาจต้านทานกระแส #deletefacebook ที่ร้อนแรงได้ โดยผู้ที่ออกมาสนับสนุนแคมเปญ #deletefacebook มีทั้งคนดังอย่างอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอเทสล่า และสเปซเอ็กซ์ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับมาร์ค ซักเคอร์เบิร์กมายาวนาน โดยเขาออกมาประกาศว่าได้ลบเพจของเทสล่าและสเปซเอ็กซ์บนเฟซบุ๊กไปแล้ว แม้ว่าทั้งสองเพจจะมีผู้ติดตามรวมกันกว่า 5 ล้านแอคเคาน์ รวมถึง ไบรอัน แอคตัน (Brian Acton) อดีดผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชันวอทส์แอป ที่ถูกเฟซบุ๊กควบกิจการไปเมื่อปี 2014 (เขาลาออกจากเฟซบุ๊กเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และกำลังปลุกปั้นโปรเจ็คใหม่เพื่อขึ้นมาเป็นคู่แข่งวอทส์แอปอีกครั้งในชื่อซิกแนล)

การเผชิญหน้ากับวิกฤติศรัทธาแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กในปี 2561 นี้จึงเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่วงการเทคโนโลยีต้องบันทึกเอาไว้ รวมถึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก และทีมบริหารว่าจะสามารถนำพาเฟซบุ๊ก ให้รอดพ้นจากการล่มสลายได้อย่างไรด้วย

Avatar photo