World News

เข้าขั้นโคม่า! ดาวโจนส์ดิ่งเกิน 2,000 จุด ทุบหุ้นเอเชีย ‘นิกเคอิ’ ทรุดหนัก 1,700 จุด ‘น้ำมัน’ ร่วงต่อเนื่อง

ตลาดหุ้นเอเชีย ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (13 มี.ค.) ทรุดลงอย่างหนัก ตามการดิ่งลงครั้งเลวร้ายสุดในรอบ 33 ปี ของวอลล์สตรีทเมื่อวานนี้ (12 มี.ค.) ท่ามกลางความตื่นตระหนกของนักลงทุน ในเรื่องที่ว่ามาตรการทางการคลัง และการเงินที่หลายชาติประกาศออกมา เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น อาจจะไม่เพียงพอที่จะสกัดเศรษฐกิจโลกไม่ให้ตกลงไปอยู่ในภาวะถดถอยได้

stocks 2

ดัชนีนิกเคอิ ของญี่ปุ่น เคลื่อนไหวล่าสุดอยู่ที่ 16,845.23 จุด ดิ่งลง 1,714.40 จุด หรือ 9.24% ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงที่ 22,870.66 จุด ร่วงลง 1,438.41 จุด หรือ 5.92% ดัชนีคอมโพสิตเซี่ยงไฮ้ ของจีน ที่ 2,830.24 จุด ลดลง 93.25 จุด หรือ 3.19% และดัชนีสเตรทไทมส์ ของสิงคโปร์ที่ 2,521.99 จุด ร่วงลง 156.65 จุด หรือ 5.85%

ทางด้านดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดซื้อขายที่ 21,200.62 จุด ดิ่งลง 2,352.60 จุด หรือ 9.99% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 2,480.64 จุด ลดลง 260.74 จุด หรือ 9.51% และดัชนีแนสแด็กปิดที่ 7,201.80 จุด ลดลง 750.25 จุด หรือ 9.43%

นักลงทุนชี้ว่า ตลาดเต็มไปด้วยความรู้สึกกลัว และตื่นตระหนก โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่ไร้เสถียรภาพอย่างมาก จนไม่มีใครรู้ว่าจะต้องรับมืออย่างไร ไม่รู้ว่าควรจะสู้ต่อ หรือหนีออกจากตลาด

นอกจากจะกังวลเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว นักลงทุนยังตระหนกต่อการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการเดินทางจากประเทศในยุโรปเข้าสู่สหรัฐ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นไปอีก เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ

นักลงทุนยังรู้สึกผิดหวังกับมาตรการอัดฉีดเศรษฐกิจของหลายประเทศ ที่ไม่มีความชัดเจนมากพอ ในการต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น ยังฉุดให้ราคาน้ำมันในตลาดเอเชียช่วงเช้าวันนี้ ร่วงลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ลดลง 67 เซนต์ มาอยู่ที่ 32.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มีเดียท ลดลง 66 เซนต์ ที่ 30.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

น้ำมันดิบราคาถูกจากซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ไหลบ่าเข้ามาในตลาด ตั้งแต่ที่ซาอุดีอาระเบีย เปิดฉากทำสงครามราคาน้ำมันกับรัสเซียช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังเป็นตัวสร้างแรงกดดันให้กับราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น

Avatar photo