Business

ยาวไป ! กฟผ. ชงแผนนำเข้า LNG ตลาดจร 3 ปีต่อเนื่อง โชว์ตัวเลขช่วย ลดเอฟที 0.86 สตางค์

กฟผ. จ่อชงกบง.ไฟเขียว แผนนำเข้า LNG ล็อตใหม่ 63 – 65 ปีละ 1.2-1.8 ล้านตัน  ระบุนำเข้าปีแรก ช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ 1,600 ล้าน ส่งผลค่าเอฟทีลดลง 0.86 สตางค์/หน่วย 

S 780009475

สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว วงจรของผลิตภัณฑ์และธุรกิจสั้นลง การทำสัญญาแบบตายตัวคงที่ ไม่เหมาะอีกต่อไปในโลกยุคใหม่ การจัดหาเชื้อเพลิงก็เช่นเดียวกัน แต่ละปีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG ) 5-6 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้า อดีตการจัดหาเชื้อเพลิง กฟผ.ทำต้องทำสัญญาซื้อก๊าซฯระยะยาว กับบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) เท่านั้น (Global DCQ) แต่หลังจากราคา LNG ตลาดจร (SPOT) ปรับลดลงฮวบฮาบเหลือราว 4-5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู การซื้อเองจากตลาดจร ไม่ผ่านคนกลางอย่างปตท. ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ด้วยเพราะเศรษฐกิจซบเซาของโลก ซ้ำเติมด้วยไวรัส COVID-19 ทำให้ตลาด LNG กลายเป็นของผู้ซื้อไปเสียแล้ว แม้ไวรัส COVID-19 อาจจะคลี่คลายลงในปลายปี แต่ก็ใช่ว่าความต้องการพลังงานจะผงกหัวโดยพลัน คาดว่า ราคา LNG ตลาดจร จะต่ำต่อเนื่องแบบนี้ไปอีกหลายปี

2 หน่วยงานเลย มาตกลงกันใหม่ เพื่อรักษาฐานะของปตท.ในการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศต่อไป ลูกค้ารายใหญ่อย่างกฟผ.จะซื้อกันต่อเนื่องราว 3-4 ล้านตันต่อปี ที่เหลือราว 1.2-1.8 ล้านต้นต่อปี กฟผ.ขอนำเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าด้วยตัวเอง จะเป็นแบบสัญญาระยะยาว หรือจะเป็นแบบซื้อจากตลาดจร ขอบริหารจัดการเอง เน้นประโยชน์สูงสุด และมุ่งใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.เท่านั้น ไม่เปิดให้ขายภายนอก เพราะกฎระเบียบของกฟผ.ยังค้ำคอ

20191228 PRE01 04

ความมั่นใจของกฟผ.ในการประมูลจัดหาเองนั้น มีมาตามลำดับ หลังจากได้เริ่มประมูลจัดหา และนำเข้า LNG ตามสัญญาระยะ 8 ปี แม้ต้องล้มดีลไป แต่ก็ถือว่าได้ราคาถูก 7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จนต่อมาฟ้าประทาน ได้ฤกษ์จัดหาแบบตลาดจร ปริมาณไม่เกิน 200,000 ตัน ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562

นำเข้า LNG ลำเรือมาแล้ว 65,000 ตัน อีก 65,000 ตัน จะเริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน 2563 ด้วยราคาถูกเข้าไปอีก 5.3 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ทั้งสองโรง ทำให้ค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือเอฟที (Ft)ถูกลง 0.01 สตางค์ต่อหน่วย และ 0.4 สตางค์ต่อหน่วยตามลำดับ 

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. บอกขั้นตอนต่อไปว่า ในเดือนนี้ กฟผ. จะเสนอแผนการจัดหา LNG ต่อ กบง. เป็นแผนระยะ 3 ปี  ระหว่างปี 2563 – 2565

แผนนี้ กำหนดเป็น 2 แนวทาง คือ การจัดซื้อระยะยาว โดยจัดซื้อจาก ปตท. ภายใต้สัญญาหลักซื้อขายก๊าซธรรมชาติ Global DCQ และการจัดซื้อระยะสั้น เพิ่มเติม ในส่วนที่เกินจากปริมาณ ตามข้อผูกพันในสัญญากับ ปตท. ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการ กฟผ. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้ว

โดยเขา ย้ำว่า หาก กฟผ. สามารถดำเนินการจัดหา LNG ได้ตามแผน จะช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนการจัดหา LNG ล็อตใหม่ได้ประมาณ 1,600 ล้านบาท ส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ในค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือเอฟที (Ft) ลงประมาณ 0.86 สตางค์ต่อหน่วย

และการนำเข้า LNG ของ กฟผ. ยังช่วยเสริมความมั่นคงในการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซฯในรูปแบบ LNG เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในธุรกิจก๊าซฯของประเทศ และพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า LNG  (LNG Hub) ในตลาดเอเชียต่อไป

ทั้งนี้ การเปิดให้นำเข้า LNG โดยกฟผ. ของรัฐ มุ่งเป้าทดสอบระบบ การเปิดให้บุคคลที่สามใช้ หรือเชื่อมต่อระบบ (Third Party Access : TPA) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงข้อกำหนด หลักเกณฑ์ ของ TPA ก่อนที่จะเปิดการแข่งขันเสรีก๊าซฯ อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรู้ถึงกระบวนการจัดหา LNG การบริหารจัดการ สำหรับผู้จัดหา LNG หรือ Shipper รายใหม่ และเพื่อให้หน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษารายละเอียด และหาแนวทาง แก้ไข ก่อนจะเปิดเสรี LNG เต็มรูปแบบ

 

Avatar photo