CEO INSIGHT

เปิด 7 ยุทธศาสตร์ ดัน ‘จีเอ็มเอ็ม มิวสิค’ โตสวนกระแส

ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจต้องเผชิญกับแรงกดดันจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจซบเซา กำลังซื้อผู้บริโภคหดตัว ภาวะการใช้เม็ดเงินโฆษณาที่ถดถอยและกระแสดิสรัปชั่นที่ถาโถมใส่ทุกธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ ธุรกิจเพลง ที่ได้รับผลกระทบหนักทั่วโลกเช่นกัน

แต่สำหรับ “จีเอ็มเอ็ม มิวสิค” กลับสามารถฝ่าวิกฤตและสร้างการเจริญเติบโต แบบสวนกระแสทำรายได้รวมสูงถึง 4,014 ล้านบาท มากที่สุดในรอบ 10 ปี มีกำไร 472 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตกำไรที่ 13.2%

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค 200311 0006

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์ของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้ถูกวางไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นเป็นบันได 3 ขั้นที่ต้องปีนขึ้นไปเพื่อการเติบโตสู่อนาคตที่มั่นคง สดใส และยั่งยืน ได้แก่ บันไดขั้นที่ 1 Restructure – Refocus – Restabilize, บันไดขั้นที่ 2 Build – Invest – Aggregate และบันไดขั้นที่ 3 Infrastructure – Recurring – Sustainable

ทั้งนี้ ในบันไดขั้นที่ 1 ในการนำพาธุรกิจให้เติบโตและสำเร็จตามเป้าหมาย ประกอบไปด้วยวัตถุประสงค์ 3 ส่วน คือ 1.การปรับโครงสร้าง (Restructure) ที่เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างความเชี่ยวชาญเดิมและความเชี่ยวชาญใหม่เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุด มีฟังก์ชั่นที่ชัดเจนเอื้อต่อยุทธศาสตร์ธุรกิจและเดินร่วมกันไปสู่ความสำเร็จที่เป็นไปได้ 2.การทำสิ่งเดียวให้ดีที่สุด (Refocus) เป็นการส่งเสริมและจัดระบบให้ทีมงานทำในสิ่งที่สำคัญและขับเคลื่อนองค์กร โฟกัสสิ่งเดียวทำให้ดีที่สุด เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และ 3.การสร้างเสถียรภาพของรายได้ (Restabilize)

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค 200311 0001

จากผลประกอบการปี 62 ทำให้เห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์บันไดขั้นที่ 1 ของ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จด้วยดีเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กล่าวมาข้างต้น โดยการเติบโตในปี 2562 ที่ผ่านมา มาจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ที่ถือได้ว่าเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญของแหล่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น และเป็นโอกาสของการเจริญเติบโตในระยะยาว ประกอบด้วย

  • ธุรกิจดิจิทัล มิวสิค ที่เติบโตสูงถึง 31% และมียอดรายรับสูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งแผนก ทะลุ 1,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกโดยมีรายรับที่ 1,123 ล้านบาท
  • ธุรกิจโชว์บิซ เติบโตขึ้น 36% มีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มธุรกิจเพลง โดยมียอดรายรับที่ 524 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13% ของธุรกิจ
  • ธุรกิจการบริหารลิขสิทธิ์ เติบโตขึ้น 25% และมียอดรายรับที่ 313 ล้านบาท สูงที่สุดตั้งแต่ได้ทำการบริหารจัดการ

 

ขณะที่รายได้ของ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ในปี 2562 ในส่วนอื่นประกอบด้วย ธุรกิจสปอนเซอร์ชิฟ และ บริหารจัดการศิลปิน มีรายได้ 1,408 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35% ของธุรกิจ, ธุรกิจเทรดดิ้ง รายได้ 301 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7% ของธุรกิจ และธุรกิจ อื่นๆ มีรายได้ 345 ล้านบาท คิดเป็นส่ดส่วน 9% ของธุรกิจ

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค 200311 0003

นายภาวิต กล่าวว่า สำหรับปีนี้ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จะก้าวสู่บันไดขั้นที่ 2 ที่มี 7 ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อน และจะเป็นแผนแม่บทที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า (2563 – 2568) ซึ่งประกอบไปด้วย

1.New Content Strategy & New Artist Development

  • New Content Strategy การสร้างศิลปินและแนวเพลงให้มีประสิทธิภาพทุกหมวดหมู่ ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ การลงทุนทำอัลบั้มเต็มจะถูกนำกลับมาทำอย่างเต็มรูปแบบ ทุกแนวเพลงดนตรี โดยแบ่งเป็นเมกา อัลบั้ม และ ดิจิทัล อัลบั้ม ซึ่งจะทำทั้งกับศิลปินในจีเอ็มเอ็ม มิวสิค และร่วมมือกับศิลปินทุกค่ายทั้งตลาดด้วยโมเดลธุรกิจที่เป็นธรรม และมีความยืดหยุ่นในการบริหารลิขสิทธิ์
  • New Artist Development การสร้างศิลปินใหม่ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เพื่อคัดสรร พัฒนา และออกอัลบั้มให้กับศิลปินรุ่นใหม่ โดยมีแผนร่วมมือกับบริษัทพัฒนาศิลปินระดับโลกเพื่อยกระดับคุณภาพให้กับศิลปินรุ่นใหม่ให้มีทักษะและความสามารถที่สามารถแสดงผลงานได้ในระดับสากล

2.Showbiz Expansion

การขยายธุรกิจโชว์บิซอย่างเต็มรูปแบบ ทั้ง มิวสิค เฟสติวัล, ขยายธุรกิจ Solo Concert ครอบคลุมทั้งศิลปินปัจจุบันที่มีความพร้อม ศิลปินหน้าใหม่ที่ต้องการโอกาสและศิลปินกลุ่มโทรที่มีแฟนคลับเหนียวแน่น, การขยายธุรกิจ Theme Concert ด้วยการร่วมมือกับครีเอเตอร์ใหม่ๆ ที่มาจากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย และการขยายธุรกิจสู่การเป็นโปรโมเตอร์ในการจัดโชว์บิซระดับสากลในประเทศไทย

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค 200311 0009

3.Artist Product

การสร้างสินค้าศิลปินที่ศิลปินเป็นเจ้าของจริงๆ ได้รับกำไรขาดทุนจริงๆ โดยมีจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นผู้ลงทุน ซึ่งจะเปิดตัวบริษัทใหม่ในเร็วๆ นี้ โดยการสร้างผลิตภัณฑ์นี้จะโฟกัสเฉพาะศิลปินที่อยู่ภายใต้สังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เท่านั้น คาดว่าการเติบโตของธุรกิจประเภทนี้จะสามารถทำตัวเลข 9 หลัก ได้ภายใน 2 ปี

4.Industry Aggregation

เดินหน้ารวบรวมพันธมิตรในวงการเพลงเพื่อสร้างประโยชน์ทางรายได้จากทุกช่องทางการค้าร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางดิจิทัล แพลตฟอร์ม, คาราโอเกะ แพลตฟอร์ม หรือการสร้างโปรเจกต์ร่วมกันก็ได้ โดยปัจจุบันทางจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้ร่วมกับค่ายเพลงต่างๆ เกือบทุกค่ายแล้ว เพียงแต่จะอยู่ในธุรกิจของการทำ MP3 เท่านั้น ดังนั้นการเดินหน้าจับมือกับทุกค่ายเพลงจึงเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ในการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันและยังสามารถสร้างรายได้ที่สูงขึ้นให้กับค่ายเพลงทุกค่าย

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค 200311 0014

5.Media Partnership

ปีนี้ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จะร่วมมือกับสื่อชั้นนำทั่วประเทศแบบครบวงจร รวมถึงแพลตฟอร์มรายใหญ่ เพื่อขยายฐานการเข้าถึงและการรับรู้ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สื่อทีวี, สื่อวิทยุ, สื่อกลางแจ้ง และสื่อโรงภาพยนตร์

6.M&A

การซื้อกิจการและควบรวมกิจการ เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่สามารถสร้างโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดทางธุรกิจ โดยบริษัทมีเป้าหมายที่ชัดเจนในอุตสาหกรรมต่างๆที่จะเข้าซื้อภายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้

7.Data Creativity

ปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ พัฒนาเรื่องของการทำดาต้าและมีทีมดาต้าไซน์ หรือทีมวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเพลงโดยเฉพาะ เพื่อหยิบเรื่องของดาจต้ามาสร้างสรรค์โอกาสในการทำการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงและจะเดินเข้าไปสู่ในเรื่องของการทำเพอร์ซันนอลไลเซชั่น (Personalization) เพื่อทำให้เกิดประสบการณ์ของสินค้าใหม่ๆ มากขึ้น

ทั้งนี้ การพยากรณ์ข้อมูล จะถูกนำมาใช้ในการคำนวณโอกาสของการสร้างเพลงฮิต การสร้างคอนเทนต์ที่คาดว่าจะสร้างยอดขายได้อย่างแม่นยำ และยังสามารถเข้าใจและวิเคราะห์ความเชื่อมโยงต่อการตัดสินใจซื้อของแฟนคลับ รวมถึงเรื่องพฤติกรรมของแฟนคลับที่ชื่นชอบศิลปินมากกว่า 1 คน หรือแบรนด์สินค้าและสื่อที่แฟนคลับศิลปินชื่นชอบอีกด้วย

“ทั้งหมดนี้เป็นกลยุทธ์ 7 ด้านที่พร้อมจะทำให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค สามารถสร้างการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนได้” นายภาวิต กล่าว

Avatar photo