Economics

หั่นค่าโดยสาร ‘รถไฟฟ้าสีม่วง’ ต่ออีก 3 เดือน ด้าน ‘สีน้ำเงิน’ ผู้โดยสารวูบ 10%

“รฟม.” ขยายเวลาลดค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีม่วง” ต่ออีก 3 เดือน เหตุไวรัสโควิด-19 ทำสถิติคลาดเคลื่อน ด้าน “สายสีน้ำเงิน” ผู้โดยสารวูบ 10% วันเสาร์อาทิตย์เหลือคนขึ้นแสนต้นๆ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ e1560928089702

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า วันนี้ (11 มี.ค.) คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. มีมติให้ขยายระยะเวลาการลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน จาก 14-42 บาทต่อเที่ยว เหลือ 14-20 บาทต่อเที่ยว ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2563 นี้ ออกไปอีก 3 เดือน

เนื่องจากการทดลองลดค่าโดยสารในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีตัวเลขที่แปรปรวนและไม่สามารถเก็บสถิติที่ชัดเจนได้ เพราะมีปัจจัยพิเศษเรื่องแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) มาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังที่ชุมชนและหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางมากขึ้น ปริมาณผู้โดยสารของรถไฟฟ้าจึงลดลงและไม่สามารถประเมินผลกระทบที่แท้จริงของมาตรการลดค่าโดยสารได้

โดยล่าสุดปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงอยู่ที่ 6.2 หมื่นคนต่อวัน สูงขึ้นจากก่อนหน้านี้ 10% แต่ยังไม่ถึงเป้าหมาย 20% ที่วางไว้ บอร์ดจึงให้ขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 เพื่อประเมินผลกระทบใหม่ โดยคาดว่าปัจจัยเรื่องไวรัสโควิด-19 จะลดลงในช่วง 3 เดือนข้างหน้า และมีการประเมินมาตรการลดค่าโดยสารที่แม่นยำมากขึ้น

รถไฟฟ้า สีม่วง2

สภาพคล่องน้อยลง แต่พอไปได้

นายภคพงศ์กล่าวต่อว่า การลดอัตราค่าโดยสารในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 จะส่งผลให้ รฟม. มีรายได้ลดลง 50 ล้านบาท ส่วนการลดอัตราค่าโดยสารก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2562-มีนาคม 2563 ส่งผลให้รายได้ลดลงไปแล้ว 50 ล้านบาท รวมเป็นทั้งหมด 100 ล้านบาท

โดยปัจจุบัน รฟม. มีสภาพคล่อง 400-500 ล้านบาท แม้จะน้อยกว่าปกติที่มีสภาพคล่อง 600-700 ล้านบาท แต่ก็ยัง “พอไปได้” สำหรับการดำเนินมาตรการลดค่าโดยสาร โดยไม่จำเป็นต้องขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ และไม่มีปัญหาในการจ่ายเงินผู้รับเหมา

นอกจากนี้ รฟม. รายงานต่อที่ประชุมบอร์ดด้วยว่า มาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหลือ 14-20 บาทต่อเที่ยว จะถึงจุดคุ้มทุนเมื่อปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 50% เป็น 1.1-1.2 แสนคนต่อวัน

S 95608838

“สีน้ำเงินส่วนหลัก” คนหาย 10%

นายภคพงศ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ก็มีปริมาณผู้โดยสารน้อยกว่าคาดการณ์ เนื่องจากปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการปิดภาคเรียน ซึ่งตามปกติการปิดภาคเรียนจะส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารลดลงประมาณ 5% อยู่แล้ว

โดยเมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนหลัก มีปริมาณผู้โดยสาร 3.1 แสนคนต่อวัน ลดลง 10% จากช่วงก่อนหน้านี้ที่มีผู้โดยสาร 3.5 แสนคนต่อวัน ส่วนในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีผู้โดยสารเพียง 1 แสนคนต้นๆ ต่อวัน ด้านรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมีปริมาณผู้โดยสาร 7 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์

Avatar photo