Business

บอร์ด รฟม. เห็นชอบสัญญารถไฟฟ้าสีชมพู ‘ส่วนต่อขยาย’ คาดเริ่มสร้างปีนี้

บอร์ด รฟม. เห็นชอบร่างสัญญารถไฟฟ้าสายสีชมพู “ส่วนต่อขยาย” 3 กม. เข้าเมืองทองธานี คาดลงนามสัญญาได้เดือน ก.ค. เริ่มก่อสร้างปีนี้

ก่อสร้าง รถไฟฟ้า ชมพู 36

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ (รฟม.) เปิดเผยว่า วันนี้ (11 มี.ค.) คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. มีมติเห็นชอบร่างสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร จำนวน 2 สถานี วงเงิน 3 พันล้านบาท ระหว่าง รฟม. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM)

หลังจากนี้ รฟม. จะต้องส่งร่างสัญญาให้คณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43ฯ แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (กฎหมาย PPP) และสำนักงานอัยการสุงสุดพิจารณา ก่อนเสนอร่างสัญญาและผลการเจรจาให้กระทรวงคมนาคม, คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามลำดับ จึงสามารถลงนามสัญญากับเอกชนได้

เมื่อลงนามสัญญาแล้ว รฟม. ก็ต้องดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามแนวเส้นทาง 3 กิโลเมตร โดยเอกชนจะเป็นผู้จ่ายค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างและค่าก่อสร้างทั้งหมด เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างส่วนต่อขยายได้ภายในปีนี้ และส่วนต่อขยายไม่จำเป็นต้องก่อสร้างเสร็จพร้อมสัญญาหลัก ช่วงแคราย-มีนบุรี

“คาดว่าจะลงนามสัญญารถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายได้ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563 โดยส่วนนี้เป็นสัญญาเพิ่มเติม แก้ไขเท่าที่จำเป็นและกระทบกับสัญญาหลักให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ ส่วนต่อขยายจะสร้างช้ากว่าสัญญาหลัก 2 ปีครึ่ง ด้านสัญญาหลัก ช่วงแคราย-มีนบุรี จะแล้วเสร็จปลายปีหน้า” นายภคพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ รฟม. คาดการณ์ว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จะมีผู้โดยสารประมาณ 1 แสนคนต่อวัน เมื่อเปิดให้บริการส่วนต่อขยายจะส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 10% หรือประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน โดย รฟม. จะได้ผลประโยชน์จากรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ในอัตราเดียวกับสัญญาหลักคือ เมื่อมีผู้โดยสารมากขึ้น ก็จะมีส่วนแบ่งมากขึ้น

รถไฟฟ้าสายสีชมพู

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีรัชดาไปเชื่อมกับโครงการรถไฟฟสายสีเขียวบริเวณใกล้สี่แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กิโลเมตรนั้น ล่าสุดมีการทบทวนประมาณการณ์ผู้โดยสารใหม่

เนื่องจากบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และผู้ถือหุ้นบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ซึ่งรับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ออกมาระบุว่า การเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะต้องมีค่าแรกเข้า เนื่องจากเป็นคนละสัญญาและคนละนิติบุคคลกัน

ดังนั้น EBM ต้องนำปัจจัยดังกล่าวไปทบทวนคาดการณ์ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายอีกครั้ง จากก่อนหน้านี้มีการประเมินว่า เมื่อเปิดรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายในปีแรก จะส่งผลให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีปริมาณผู้โดยสารลดลง 9,000 คนต่อวัน

แต่เมื่อปัจจัยเรื่องราคามีการเปลี่ยนแปลง ก็คาดว่าปริมาณผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะลดลงไม่ถึง 9,000 คนต่อวัน ตามคาดการณ์แรก เพราะผู้โดยสารจะเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างรถไฟฟ้า 2 เส้น โดย รฟม. จะพยายามสรุปตัวเลขที่ชัดเจนให้เร็วที่สุด แต่เบื้องต้นยอมรับว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย จะมีความคืบหน้าน้อยกว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายประมาณ 6 เดือน

Avatar photo