Economics

ครม.ไฟเขียว! มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบ ‘ไวรัสโควิด-19’

“อุตตม” เผย ครม.ไฟเขียวมาตรการดูแลผลกระทบเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 1

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบชุดมาตรการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 1 เพื่อดูแลทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ภายใต้หลักการที่ว่าเป็นมาตรการที่ทันการณ์ ตรงเป้าหมาย และเป็นมาตรการชั่วคราวตามความจำเป็น ประกอบด้วย มาตรการทางการเงินได้แก่

1. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเตรียมวงเงินไว้ 150,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 2% ระยะเวลา 2 ปี วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย

2. มาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะดำเนินการโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น

3. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถอำนวยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

4. มาตรการเสริมจากสำนักงานประกันสังคม โดยเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% ระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้กู้แก่ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคม

อุตตม103631

ส่วนมาตรการทางภาษี ได้แก่

1. มาตรการคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน 2563 รอบปีภาษี 2563

2. มาตรการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการให้นำไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า

3. มาตรการส่งเสริมการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยให้นำรายจ่ายค่าจ้างมาหักลดหย่อนได้ 3 เท่าในการคำนวณภาษีเงินได้

4. การเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศให้เร็วขึ้น หากเป็นผู้ที่ยื่นแบบชำระภาษีทางอินเทอร์เน็ตจะคืนให้ภายใน 15 วัน ส่วนการยื่นที่สำนักงานสาขาของสรรพากรจะคืนให้ภายใน 45 วัน

สำหรับมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการบรรเทาการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ อาทิ การคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า

2. กองทุนประกันสังคม ให้ลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง

3. มาตรการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าพื้นที่ราชพัสดุ

4. มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยให้ผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) สามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มอีก 200,000 บาท สำหรับเงินลงทุนระยะเวลาตั้งแต่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2563 จากเดิมหักลดหย่อนได้ 200,000 บาท โดยอาจจะพิจารณาขยายเวลาให้อีกหากมีความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้กันวงเงินงบประมาณเบื้องต้น 20,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมการไว้สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง หรือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากที่พนักงานไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร ซึ่งกระทรวงการคลังจะหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อกำหนดรูปแบบและขอบเขตการใช้วงเงินดังกล่าวต่อไป

Avatar photo