Lifestyle

ย้อนรอยดราม่า ‘หมอโอ๊ต’

ย้อนรอยดราม่า “หมอโอ๊ต” วิจารณ์การทำงานของภาครัฐอย่างเผ็ดร้อนจนโลกออนไลน์ต้อง ติดแฮชแท็ก #saveหมอโอ๊ต ด้านสาธารณสุขยันไม่ใช่ “ข้าราชการ”

“หมอโอ๊ต” หรือ นพ.ศรุต ประวิตรกุลวัฒน์ กลายเป็นคนดังในโลกออนไลน์ชั่วข้ามคืน หลังโพสต์คลิปวิพากษ์วิจารณ์คนไทยที่ไปทำงานในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย หรือ ผีน้อย ที่เดินทางกลับไทยหลังจากไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการทำงานของรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน ผ่านทางช่อง YouTube ชื่อว่า “OuixZ” ด้วยความที่ชาวเน็ตมองว่าคลิปดังกล่าวของ “หมอโอ๊ต” อธิบายเข้าใจได้ง่ายทำให้คลิปนี้ถูกแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดกระแสในโลกออนไลน์

แต่ในที่สุด “หมอโอ๊ต” ได้ออกมาขอร้องให้ทุกคนที่แชร์ลบคลิปดังกล่าวออก โดยระบุว่า “ช่วยแชร์ต่อเหมือนตอนที่แชร์คลิปทีนะครับ กราบเรียนเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ และผู้ใหญ่ที่เคารพทุกท่าน จากเมื่อวันก่อนผมได้ทำการอัดคลิปพูดถึงประเด็นผีน้อยและหน้ากากอนามัยไปและได้ลบคลิปต้นทางไปแล้วตั้งแต่วันแรก แต่ก็มีหลายๆท่านเซฟไฟล์แล้วนำไปลงต่อและแชร์ต่อกันไปเป็นจำนวนมาก จึงขอความร่วมมือทุกท่านให้ช่วย Report คลิปเหล่านั้นให้หายไปจากระบบโซเชียลไม่ว่าจะเจอที่ใดก็ตาม

หมอโอ๊ต103633

ทั้งนี้ต้องขออภัยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีก่อน รวมถึงการพูดจาลบหลู่โดยไม่ได้เจตนา ผมแค่อยากเป็นคนช่วยสื่อสารเรื่องการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด (COVID-19) เพียงแค่นั้น ไม่ได้มีเจตนาอื่นใดแอบแฝง จึงเรียนมาเพื่อทราบและกราบขออภัยทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วยครับ กราบขอความร่วมมือทุกท่านและกราบขอโทษในการกระทำที่ได้ทำไปด้วยครับ หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจนะครับ”

อย่างไรก็ตาม หลังจาก “หมอโอ๊ต” ได้ใช้ทุกช่องทางโซเชียลที่มีอยู่ในมือ ทั้งเฟซบุ๊กส่วนตัว, แฟนเพจเฟซบุ๊ก, ช่องยูทูป และทวิตเตอร์เพื่อขอให้ลบคลิปออกจากระบบนั้น ทำให้เกิดคำถามว่า “ทำไมต้องลบคลิปออก” ทั้งที่ “หมอโอ๊ต” ทำถูกแล้ว ชาวเน็ตบางกลุ่มมองว่า การแสดงความคิดเห็นครั้งนี้อาจกระทบการทำงานของหมอได้ จนเป็นที่มาของ #saveหมอโอ๊ต พุ่งขึ้นติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์

ต่อมาได้มีภาพแชทหลุด โดยระบุว่า โดนเล่นละ โดนสั่งเก็บ กระทรวงไม่ปลื้ม ขู่ฟ้องยึดใบประกอบโรค จนชาวเน็ตช่วยกันติดแฮชแท็ก #saveหมอโอ๊ต พร้อมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

หมอโอ๊ต103636
ภาพจากทวิตเตอร์ ที่อ้างว่าจะมีการถอดใบประกอบวิชาชีพ

อย่างไรก็ตาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาตอบคำถามสื่อหลังเกิดกระแส “#saveหมอโอ๊ต” โดยระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลหมอคนดังกล่าวเป็นหมอที่ทำงานอยู่ในคลินิกเอกชนแห่งหนึ่ง ไม่ได้อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ฉะนั้นเรื่องการสอบสวนคงไม่มีทางเป็นไปได้และยืนยันว่าไม่เคยแม้แต่คิดที่จะไปกดดันหมอคนดังกล่าวไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น แถมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหมอคนที่ออกมาพูดนั้นเป็นใคร

378525

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ผมไม่เคยไม่รู้จัก “หมอโอ๊ต” เลย โดยระบุว่า “เดี๋ยวนะผมยังไม่รู้จักเลยว่าหมอโอ๊ตคือใคร เขาคือใครแล้วทำงานอยู่ที่ไหน ผมยังไม่รู้เลยเขาเป็นหมอจริงหรือเปล่ายังไม่รู้เลย หมอโอ๊ตนี่ชื่อจริงอะไรนามสกุลอะไรอยู่โรงพยาบาลไหน คือทางกระทรวงไม่รู้เรื่องเลย แล้วมาถามว่าตั้งสอบสวนเขา ไม่รู้ว่าหมอโอ๊ตคือใคร ไปทำอะไร และใครตั้งกรรมการสอบสวน”

ขณะที่ พล.อ.ต.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา แจงประเด็นดราม่าให้ลบคลิป “หมอโอ๊ต” โดยระบุว่า ไม่พบว่ามีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมาอย่างเป็นทางการต่อแพทยสภาแต่อย่างใด และผู้ที่ขอลบคลิปดังกล่าวนั้น ไม่ใช่แพทยสภา

พร้อมชี้แจงเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ข้อเท็จจริงของกระบวนการพิจารณาจริยธรรมของแพทยสภา” กระบวนการพิจารณาจริยธรรมของแพทยสภา เริ่มต้นจากมีผู้ร้องเรียน ในการปฏิบัติงานของแพทย์ เข้าสู่กลไกตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 โดยใช้ข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม แพทยสภา พ.ศ.2549 เป็นหลักในการดำเนินการ

เป็นกระบวนการที่ต้องตั้งอนุกรรมการมาพิจารณาเป็นเรื่องเฉพาะแต่ละกรณี ในรูปความเห็นขององค์คณะ โดยต้องมีขั้นตอนรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ร้องเรียน และ ผู้ถูกร้อง และใช้ความเห็นทางวิชาการจากราชวิทยาลัยทั้ง 14 แห่ง สรุปมูลคดี ก่อนนำไปสอบสวน ซึ่งต้องผ่านอนุกรรมการกลั่นกรองจริยธรรม ที่มี นักกฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตผู้พิพากษา อัยการ บุคคลภายนอกเข้าร่วมพิจารณาด้วย เพื่อความเป็นธรรมและครบถ้วนทุกมิติ

จึงเห็นได้ว่ากระบวนการตัดสินแต่ละเรื่องร้องเรียนต้องใช้ ขั้นตอนจำนวนมาก ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการแพทยสภา ตามกฎหมายที่มี คณบดีคณะแพทยศาสตร์ 22 คณะ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เจ้ากรมแพทย์ทหาร 3 เหล่าทัพ แพทย์ใหญ่ตำรวจ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย และกรรมการจากการเลือกตั้ง ร่วมพิจารณา

โดยกระบวนการทั้งหมดจะโปร่งใส และถูกตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนโดย ศาลปกครอง และมีมาตรฐานกำกับ ในการกำหนดโทษชัดเจน แพทยสภาจึงเป็นองค์กรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง (neutrality) และเป็นธรรม (fairness) เพื่อธำรงมาตรฐานของวงการแพทย์

ดังนั้นจึงย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผลการพิจารณากรณีใดๆ จะเกิดขึ้นก่อนรับเรื่องร้องเรียน หรือก่อนรับฟัง พยาน หลักฐานทั้งหมดโดยอนุกรรมการจริยธรรม และสอบสวน ซึ่งแพทยสภาจะตั้งขึ้นรับผิดชอบแต่ละกรณีจากผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกรณีนั้นๆ

ในกรณีมีผู้แอบอ้างผลการพิจารณาโดยยังไม่มีการรับเรื่องเข้าสู่แพทยสภา หรือนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาใดๆ ไปข่มขู่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึงเป็นการกล่าวอ้างโดยเลื่อนลอยไม่มีมูลความจริง และปราศจากความเข้าใจในระบบการทำงานของกระบวนการตามกฎหมายของแพทยสภา จึงขอให้ผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และหากมีกรณีการอ้างถึงแพทยสภาโดยไม่มีมูลความจริงหรือทำให้แพทยสภาเสื่อมเสียหรือเสียหาย ขอให้ส่งรายละเอียดมาที่เลขาธิการแพทยสภา เพื่อให้แพทยสภาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

หมอโอ๊ต1036391

ล่าสุดโลกออนไลน์ได้ผุดแฮชแท็กใหม่ #WeAreหมอโอ๊ต หลังมีข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขได้บีบให้ “หมอโอ๊ต” ลาออกจากราชการ หลังจากออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเรื่องการจัดการกับ “ผีน้อย” และหน้ากากอนามัย

ด้านนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กรณีของแฮชแท็ก #Saveหมอโอ๊ต จากการตรวจสอบพบว่า เป็นแพทย์จริง แต่ไม่ได้เป็นข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมยืนยันว่า ไม่เคยบีบให้ใครออกจากตำแหน่ง แต่หากแพทย์รายนี้ทำให้กระทรวงสาธารณสุขเกิดความเสียหายจะต้องมีการดำเนินการต่อไป

ขอบคุณภาพจาก Sarut Pravitkulawath และ Oong Studio

Avatar photo