Economics

‘พาณิชย์’ ดีเดย์ ‘9 มี.ค.’ จับแหลก ‘ร้านค้า ห้าง ออนไลน์’ ขาย ‘หน้ากากอนามัย’ เกิน 2.50 บาท

กรมการค้าภายในดีเดย์ 9 มีนาคมนี้ จับแหลก ขาย “หน้ากากอนามัย” แบบสีเขียว เกินราคาสูงสุดที่กำหนดชิ้นละ 2.50 บาท ทั้งร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า และในออนไลน์ ลั่นเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ หากยังปล่อยให้ใครนำมาขายแพงๆ เจอฟันด้วย โทษคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท

วิชัย โภชนกิจ20163

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (9 มี.ค.) เป็นต้นไป กรมจะจัดส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจออกตรวจสอบการจำหน่ายหน้ากากอนามัย (แบบสีเขียว) ที่ประชาชนใช้สำหรับป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 โดยในกรุงเทพฯ จะมีจำนวน 10 สาย และต่างจังหวัดจะดำเนินการร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบว่า มีการจำหน่ายในราคาสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด คือ ชิ้นละ 2.50 บาทหรือไม่ หากพบว่ามีการจำหน่ายเกินราคา จะดำเนินการจับกุมและส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับทันที

“ขอเตือนไปยังร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือผู้ที่จำหน่ายทางออนไลน์ ให้จำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคาสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าไม่ทำตาม จะมีความผิด และถูกจับกุมดำเนินคดีไม่มียกเว้นทุกราย และเฉพาะทางออนไลน์ หากเป็นทางเฟซบุ๊ก จะมีการประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาช่วยตามตัว ส่วนที่ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ขายผ่านทางมาร์เก็ตเพลสต่างๆ ไม่เพียงแต่เล่นงานคนขาย จะดำเนินคดีกับแพลตฟอร์ม และมาร์เก็ตเพลสที่ปล่อยให้มีการขายเกินราคาที่กำหนดด้วย มีโทษเท่ากัน”

นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับการกระจายหน้ากากอนามัยที่ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยได้รับมาวันละ 1.2 ล้านชิ้นจาก 11 โรงงาน ยังคงแบ่งสัดส่วนการระบายเช่นเดิม คือ 7 แสนชิ้น ให้กระทรวงสาธารณสุขกระจายให้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาลทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชน ส่วนอีก 5 แสนชิ้น กรมการค้าภายในจะเป็นผู้ระบายให้กับประชากร 65 ล้านคน โดยส่วนหนึ่งจะกระจายให้กับการบินไทย เพื่อให้นำไปให้ผู้ที่ให้บริการทั้งในสนามบินและบนเครื่องบินใช้ กระจายให้กับสมาคมร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อ คือ เซเว่นอีเลฟเว่น มินิ บิ๊กซี โลตัส เอ็กซ์เพรส แฟมิลี่มาร์ท และรถโมบาย 111 คัน กระจายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

“ตอนนี้ ทางศูนย์ฯ ได้เร่งจัดส่งหน้ากากอนามัยไปให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล ที่มีปัญหาขาดแคลนเป็นการเร่งด่วนแล้ว โดยจะส่งให้รายที่มีปัญหาก่อน จากนั้นจะทยอยส่งไปให้ทุกที่ ซึ่งปริมาณที่ส่ง สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และความจำเป็นเร่งด่วน ส่วนการจำหน่ายให้กับประชาชน ก็จะกระจายผ่านช่องทางที่มีอยู่ และจะเน้นผ่านรถโมบายมากขึ้น เพราะวิ่งตรงเข้าถึงชุมชนเลย แต่ที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ยกเลิกการจำหน่ายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา”นายวิชัยกล่าว

GettyImages 1205434346

ทั้งนี้ หากถามว่าหน้ากากอนามัยมีเพียงพอกับความต้องการของประชาชนแล้วหรือยัง ก็ต้องตอบตามความเป็นจริง ทุกวันนี้ผลิตได้ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน ได้กระจายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ผู้ที่มีความเสี่ยงในการทำงาน เช่น สนามบิน ศูนย์การประชุม และประชาชน หากคำนวนจากประชากร 65 ล้านคน และในจำนวนนี้ ถือว่ามี 10% ที่จำเป็นต้องใช้แค่คนละ 1 ชิ้นต่อวัน ก็จะมีความต้องการสูงถึงวันละ 6.5 ล้านชิ้น หัก 1.2 ล้านชิ้น ก็ยังขาดอยู่ 5.3 ล้านชิ้น ยังไงก็ไม่พอ ซึ่งกรมฯ ก็ต้องบริหารจัดการตามความเร่งด่วนและความจำเป็น และขอความร่วมมือประชาชน ช่วยซื้อแต่พอใจ อย่าซื้อกักตุน เพื่อให้คนข้างหลังได้มีโอกาสซื้อ แต่เชื่อว่า ในระยะต่อไป น่าจะดีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้เร่งผลิตหน้ากากผ้า เพื่อเป็นหน้ากากทางเลือกให้กับประชาชนได้ใช้

ส่วนสินค้านำเข้า ปกติเคยนำได้เข้าประมาณ 20 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา นำเข้าเหลือ 1-2 ล้านชิ้นต่อเดือน และในจำนวนนี้เป็นหน้ากากอนามัยแบบสีเขียวแค่ 7-8 แสนชิ้นเท่านั้น ถือว่ายอดลดลงมาก เพราะประเทศที่เป็นผู้ผลิตอย่างจีน ญี่ปุ่น ได้ห้ามการส่งออก ซึ่งก็ต้องหาทางเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ โดยล่าสุดรัฐบาลได้เดินหน้าแก้ไขแล้ว ทั้งการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ หรือสนับสนุนให้มีการลงทุนโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต

Avatar photo