CEO INSIGHT

‘อริยะ พนมยงค์’ กับกลยุทธ์รับมือ ‘คลื่นลูกที่ 3’ ถาโถม ‘ทีวีดิจิทัล’

เปิดมุมมองบิ๊กช่อง 3 “อริยะ พนมยงค์” เตือนทีวีดิจิทัล รับมือคลื่นลูกใหม่ระลอก 3 ซัดใส่ ภายใน 3-4 ปีจากนี้ หลังเจอคลื่นดิสรัป 2 ระลอก ช่อง 3 เร่งปรับตัวรีลอนช์ “เมลโล” สู่ “CH 3+” พร้อมรับบริหารการตลาดครบวงจรผ่านสื่อทีวี

นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 เปิดเผยในงาน “Thailand Zocial Awards 2020” จัดโดย บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า วงการสื่อทีวีดิจิทัล จะโดนดิสรัปอีกครั้งเป็นระลอกที่ 3 ซึ่งจะเห็นภาพชัดเจนไม่เกิน 3-4 ปีจากนี้ จากก่อนหน้านี้ที่โดนดิสรัปมาแล้ว 2 ครั้ง

157788

สำหรับสองครั้งที่ผ่านมานั้น ครั้งแรกคือ บิสซิเนส ดิสรัปชั่น จากการเกิดของทีวีดิจิทัล ที่มีการประมูลทีวีดิจิทัลเป็น 24 ช่อง ทำให้ก้อนเค้กที่ไม่ได้ใหญ่ขึ้น แต่ถูกซอยมากขึ้น ทำให้ส่วนแบ่งของแต่ละช่องลดลง และระลอกที่สองคือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ที่ในปี 2557 อยู่ที่ 27 ล้านคน แต่ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็นถึง 40 ล้านคนและเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัวภายใน 4 ปี

การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เกิดยูสเซอร์ ดิสรัปชั่น คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคที่เปลี่ยนการใช้อินเทอร์เน็ตบนเดสก์ท็อป หรือพีซี มาเป็นใช้บนมือถือมากขึ้น ซึ่งถือเป็นตัวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจทีวีดิจิทัล เพราะผู้ชมมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งในแง่หน้าจอและคอนเทนต์

ทั้งนี้ นายอริยะมองว่า สำหรับการเปลี่ยนแปลงระลอกที่ 3 ของวงการทีวีดิจิทัล คือการเปลี่ยนพฤติกรรมการเล่นอินเทอร์เน็ตจากมือถือไปสู่หน้าจอที่ใหญ่กว่า จากการพัฒนาเทคโนโลยีของทีวี ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ททีวี คอนเน็กทีวี เซ็ตอัพบ็อกซ์ เป็นต้บ ซึ่งจะทำให้วงการทีวีเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

157787

อีกประเด็นสำคัญคือ พฤติกรรมการดูทีวีของคนไทย ที่มีทั้งการดูฟรี จากช่องฟรีทีวี และกลุ่มที่นิยมดูจากทีวีที่เสียเงินจากโอทีที หรือออนไลน์เซอร์วิส แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการทีวีมักคิดว่าเป็นกลุ่มคนดูกลุ่มเดียวกัน รวมถึงเรื่องระบบชำระเงิน ที่ยังเป็นอุปสรรคสำหรับคนจำนวนมากโดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ

ทั้งนี้สำหรับผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบนแพลตฟอร์มไหน หรือมาจากต่างประเทศ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงถือ ผู้บริโภคคนไทย 80-90% จะบริโภคคอนเทนต์ที่เป็นภาษาไทย และคอนเทนต์ที่มาจากทีวี นี่คือสิ่งที่ต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคให้ถูกต้อง

“ปัจจุบัน ผู้เล่นในวงการทีวีดิจิทัล แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ 1.ผู้ผลิตหรือเจ้าของคอนเทนต์ และ 2.เจ้าของแพลตฟอร์ม ต้องไปทั้งคู่ หากเป็นแพลตฟอร์ม ถ้าไม่มีคอนเทนต์ไทยก็ไม่รอด ทุกแพลตฟอร์มที่มีอยู่ในประเทศไทย ต้องมีคอนเทนต์ไทย นี่คือโอกาส”นายอริยะกล่าว

157786

ในส่วนของช่อง 3 เอง ก็มีการปรับตัวเช่นกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 เรื่องคือ สำหรับยูสเซอร์ ต้องแก้ที่การปรับคอนเทนต์ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้ชม และในแง่ของรายได้ ต้องแก้ที่โมเดลธุรกิจ หรือ บิสซิเนสโมเดล

ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับช่อง 3 คือ จะรีลอนช์บริการจากเดิมชื่อ “เมลโล” Mello.me ที่เป็นแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์รวบรวมคอนเทนต์ละครต่างๆของช่อง 3 และรวมถึงรายการ-ซีรีส์ของทาง Mello ที่ผลิตขึ้นมาเอง เปลี่ยนเป็น “CH 3+”หรือช่อง 3 พลัส ซึ่งจะรวมคอนเทนต์ทุกอย่างของช่อง 3 ไว้ที่เดียว ทั้งการชมย้อนหลัง หรือชมรายการสด จากเดิมที่ Mello จะเป็นรายการย้อนหลัง

นอกจากนี้ CH 3+ยังสามารถเชื่อมต่อกับจอทีวี ผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อรองรับเทรนด์สมาร์ททีวี พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์กับผู้ชม ในการที่จะได้รับคะแนนหรือพอยต์ เพื่อทำซีอาร์เอ็ม และเก็บฐานข้อมูลลูกค้าเพื่อนำไปต่อยอดการทำตลาดได้อีกด้วย โดยจะเปิดตัวประมาณปลายไตรมาสแรก หรือต้นไตรมาสสองปีนี้

157790

พร้อมกันนี้ ช่อง 3 ยังปรับรูปแบบการทำงาน จากเดิมที่เป็นเพียงผู้ผลิตและเผยแพร่คอนเทนต์ เมื่อมีดาต้าของผู้บริโภค จะทำให้ช่อง 3 สามารถนำข้อมูลผู้บริโภคมาทำการตลาดให้กับแบรนด์ได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การช่วยทำการตลาดเพื่อผลักดันยอดขาย ไปจนถึงการส่งสินค้าถึงบ้าน โดยจะมีระบบโลจิสติกส์รองรับ

“วันนี้สิ่งที่ผมไปเปลี่ยนคือ ผมไม่ได้ขายมีเดียแล้ว แต่พร้อมขายเป็นโซลูชั่น เช่น ต้องการให้ขายมือถือหมื่นเครื่อง เรารับโจทย์มา วางแผนการใช้มีเดีย บริหารค่าใช้จ่าย ผลักดันยอดขายไปจนถึงบริการ”

ทั้งหมดนี้คือ ก้าวใหม่ของช่อง 3 ที่จะได้เห็นในปีนี้แน่นอน และแน่นอนว่าจะเป็นการปรับภาพลักษณ์ของช่อง 3 ที่ไม่ใช่แค่ช่องทีวีดิจิทัลอย่างเดียวอีกต่อไป

Avatar photo