Business

แบรนด์ ‘ท้องถิ่น’ค้าปลีก-อุปโภคบริโภค เอเชียโต

ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์เปลี่ยนไป (Demographic Change) จากขนาดครัวเรือนเล็กลง และการก้าวสู่สังคมสูงวัย  ทำให้ “ผู้ค้าปลีก”ต้องจับพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ คัดเลือกแบรนด์ กลุ่มสินค้า เพื่อจำหน่ายบนชั้นวางสินค้า สร้างการแข่งขันชิงแชร์บนพื้นที่ชั้นวางสินค้าเข้มข้น

จากการศึกษา “พลังแบรนด์เอเชีย ผู้กำหนดทิศทางใหม่ตลาด FMCG  พร้อมการรับมือการค้าปลีก เมื่อปัจจัยการตลาดเปลี่ยน”  ที่จัดทำโดย กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล ผู้นำด้านการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึก ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีอัตราการหมุนเวียนสูง  หรือ  FMCG  (Fast  Moving Consumer Goods)  พบว่าทั้งช่องทางค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค “แบรนด์ท้องถิ่น” มีบทบาทสำคัญขับเคลื่อนการเติบโต

ไฮเปอร์ฯนิ่ง-ออนไลน์โต

แบรนด์ ‘ท้องถิ่น’ค้าปลีก-อุปโภคบริโภค เอเชียโต
ฮาเวิร์ด ชาง

ฮาเวิร์ด ชาง กรรมการผู้จัดการ  บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) กล่าวว่าสถานการณ์อุตสาหกรรมค้าปลีกและกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคตลาด“เอเชีย” มีทิศทางที่น่าสนใจ  คือ แนวโน้มการเติบโตของตลาดรูปแบบไฮเปอร์ มาร์เก็ต มีอัตราลดลง  แม้ว่าร้านสะดวกซื้อยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่การเติบโตในอัตราที่รวดเร็วเช่นที่ผ่านมานั้น เริ่มแผ่วลงเช่นกัน  ขณะที่ “ออนไลน์” กลายเป็นช่องทางการตลาดหลัก เช่น ในประเทศเกาหลี

ทางด้านการจับจ่ายสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในเอเชีย ครึ่งปีแรกของปี  2560 เติบโต 2%  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และเติบโตในอัตราลดลงในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการท้าทายของสภาวะทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของช่องทาง อีคอมเมิร์ช

สะดวกซื้อ’ไทยเบอร์1โมเดิร์นเทรด

สำหรับสถานการณ์ เช่นเดียวกับช่องทางค้าปลีกประเทศไทยที่ “ร้านสะดวกซื้อ” มีแนวโน้มขยายตัวทุกปี  จากปี 2548 สัดส่วนอยู่ที่ 8.3%  ปี 2558 เพิ่มเป็น 16%  ปี 2559 ขยับเป็น 16.5%  และปี 2560 อยู่ที่ 17%  ประเมินว่าหากร้านสะดวกซื้อสามารถขยายส่วนแบ่งการตลาดได้ปีละ  0.5%  ถึงปี 2562  จะครองมาร์เก็ตแชร์ 18% ของตลาดค้าปลีก และขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มโมเดิร์นเทรด

ขณะที่ไฮเปอร์ มาร์เก็ต มีแนวโน้ม “ทรงตัว”  จากปี 2553  ส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มค้าปลีกอยู่ที่ 20%  ปี 2558  ลดลงมาอยู่ที่ 18.1%  ปี 2559  ขยับขึ้นมาที่ 18.4%  และปี 2560  ทรงตัวที่ 18.4%

ส่วนช่องทาง “อีคอมเมิร์ซ” ยังมีทิศทางเติบโตเป็นตัวเลข 3 หลัก ต่อเนื่อง แต่ยังคงส่วนแบ่งการตลาดไม่มาก คือในปี 2558 อยู่ที่ 0.3%  ปี 2559 เพิ่มเป็น 0.6%   และปี 2560  อยู่ที่  1.2%  หรือมีมูลค่า 5,144 ล้าน บาท  จากตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทุกช่องทางมูลค่า 4.4 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา

ร้านสะดวกซื้อก้าวสู่คอมมูนิตี้ฮับ

แบรนด์ 'ท้องถิ่น'ค้าปลีก-อุปโภคบริโภค เอเชียโต

ปัจจุบันทิศทางค้าปลีกมุ่งตอบสนองความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค  ฮาเวิร์ด  มองว่าทิศทาง “ร้านสะดวกซื้อ” ได้พัฒนาให้เป็น “คอนเนคชั่น  พอยท์” (Point of Connection)  เป็นประตูเปิดสู่บริการอย่างกว้างขวาง และเมื่อก้าวเข้าสู่ความนิยมในการจับจ่ายผ่านดิจิทัลแล้ว   ร้านสะดวกซื้อแนวคิด คอมมูนิตี้ ฮับ (Community Hub)  จะกลายเป็น ศูนย์กลางการส่งมอบสินค้า

ด้วยการนำเสนอเซอร์วิสทุกรูปแบบที่ตอบโจทย์ชุมชน และอำนวยความสะดวกสบาย อาทิ  การเพิ่มให้มีบริการตัดแต่งผม และบริการซักแห้ง  จัดสถานที่ให้เป็นจุดนัดพบ   เป็นจุดรับสินค้าสำหรับใบสั่งซื้อออนไลน์   และยังสามารถจัดให้มีบริการขายตั๋วเดินทาง  เป็น จุดให้บริการสินเชื่อและบริการชำระเงินค่าใช้จ่าย ต่างๆ

โดยการจัดการส่วนผสมทั้งด้านความสะดวกและชุมชนให้ลงตัวนี้  จะต้องคำนึงถึงปัจจัย  การลดช่องว่างระหว่างการค้าปลีกรูปแบบโมเดิร์นเทรด และการค้าปลีกรูปแบบดั้งเดิม และต้องทำการเชื่อมโยงให้เกิดการเอื้อซึ่งกันและกัน   ร้านค้าย่อยเป็นตัวส่งผลต่อการเติบโตของสัดส่วนทางการตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค

 “ร้านสะดวกซื้อ จะมีการปรับโฉมสู้การเป็น คอมมูนิตี้ ฮับ  และการตั้งราคาให้ต่ำลง  จะส่งผลต่อการแข่งขันในการยึดครองพื้นที่ชั้นวางสินค้า”

แบรนด์ ‘ท้องถิ่น’ค้าปลีก-อุปโภคบริโภค เอเชียโต

เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนการค้าปลีกระหว่างแบรนด์อินเตอร์ และแบรนด์ท้องถิ่น  (Local & Regional)  ในตลาดเอเชีย  “แบรนด์ท้องถิ่น” เริ่มมีแนวโน้มสดใส

สำหรับแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคท้องถิ่น มีความสามารถในการสร้างแบรนด์ให้มีคุณค่าและความต่างที่เหนือกว่า และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุด ทั้งด้านการเลือกซื้อด้วยอารมณ์ หรือความต้องการใช้งาน  ผ่านโมเดลธุรกิจที่สามารถนำเสนอกลยุทธ์ด้านราคาที่จับต้องได้  อีกทั้งสามารถนำเสนอนวัตกรรมใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

การเติบโตของสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นของเอเชีย เติบโตไปในทิศทางเดียวกับการขยายตัวของ การค้าปลีกที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่น  เช่นกัน

โดยสัดส่วนแบรนด์อุปโภคบริโภค “ท้องถิ่น”  ครองตลาดเอเชีย  เกาหลี 79%  เวียดนาม  78%  จีน  76%  ไต้หวัน   70% อินโดนีเซีย 64%  และไทย 75%

 ตลาดอุปโภคบริโภคเจอศึกหนักกำลังซื้อส่อร่วงยาวปี62

Avatar photo