Wellness

ฟื้นคุ้งบางกะเจ้าก่อนสาบสูญ

รอยล 1

การกัดเซาะชายฝังเป็นอีกปัญหาของไทย ที่ทำให้พื้นที่ชายฝั่งของประเทศนับหมื่นไร่ รวมถึงพื้นที่ชายหาด และสันทรายใต้น้ำอีกนับแสนไร่หายไปตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

สาเหตุสำคัญมาจากธรรมชาติที่เสียสมดุลไป เนื่องจาก

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เมื่อน้ำทะเลรุกเข้าไปแผ่นดินมากขึ้น ส่งผลให้ชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะรุนแรง
  • ลมมรสุมและพายุที่ทำให้เกิดคลื่นลมเคลื่อนเข้าปะทะชายฝั่ง
  • น้ำขึ้น-น้ำลงส่งผลต่อการเคลื่อนตัวของตะกอนดินเลน และมวลทรายบริเวณชายฝั่ง

นอกจากนี้ยังเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล ได้แก่

  • การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ที่ทำให้มีการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่ชายฝั่งเป็นจำนวนมาก อาทิ นิคมอุตสาหกรรม เส้นทางคมนาคมขนส่ง ท่าเรือน้ำลึก
  • การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน ทำให้ไม่มีรากไม้ชายเลนช่วยดักตะกอนและยึดดินเลน
  • การสร้างเขื่อน และอ่างเก็บน้ำบริเวณต้นน้ำ ที่ส่งผลให้การไหลของกระแสน้ำเกิดการชะลอตัว ตะกอนที่ไหลไปสะสมตัวบริเวณปากแม่น้ำมีน้อยลง ขาดตะกอนที่ถูกเติมเข้าไปแทนที่ตะกอนบริเวณชายฝั่งที่ถูกพัดพาออกไป
  • การสูบน้ำบาดาล จนเกิดการทรุดตัวของดิน

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ออกมาเผยแพร่ข้อมูลเมื่อไม่นานมานี้ ว่าไทยประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาอย่างยาวนาน มีการเก็บสถิติ 50 ปีที่ผ่านมา  (ปี 2495-2551)  พบว่ามีพื้นที่ชายฝั่งที่ประสบปัญหาการกัดเซาะประมาณ 800 กิโลเมตร จากความยาวชายฝั่ง 3,151 กิโลเมตร

ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหามาตลอด จนทำให้ปัญหานี้เริ่มลดความรุนแรงลง จากการสำรวจปี 2560 พบพื้นที่กัดเซาะถูกแก้ไขแล้ว 559 กิโลเมตร คิดเป็น18% ยังเหลือพื้นที่กัดเซาะ ที่ยังไม่รับการแก้ไขระยะทาง 145 กิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 5% ของความยาวชายฝั่ง สำหรับพื้นที่ที่ยังมีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงอยู่ที่จังหวัดสงขลา และนครศรีธรรมราช

การแก้ปัญหาของกรมทรัพยากรทางทะเลฯเริ่มหันมาใช้วิธี “ธรรมชาติแก้ธรรมชาติ” ให้สมดุลกลับคืนมา โดยปักเสาดักตะกอน เพื่อปลูกป่าชายเลน การฟื้นฟูชายหาด รวมถึงการกำหนดพื้นที่ถอยร่น ห้ามก่อสร้าง หรือทำอะไรที่ไปเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดและเนินทราย เพื่อให้ธรรมชาติปรับสมดุล จากเดิมที่มุ่งเน้นการก่อสร้างกำแพงหินสู้กับคลื่น ซึ่งวิธีนี้ไม่เคยเอาชนะธรรมชาติได้

20180724 145650

ชายฝั่งคุ้งบางกะเจ้าถูกกัดเซาะหนัก

ไม่เฉพาะทะเลเท่านั้นที่เกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่ง พื้นที่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ อย่าง “คุ้งบางกะเจ้า” อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการก็เกิดปัญหานี้เช่นเดียวกัน

นายรอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แกนหลักในการแก้ปัญหาจัดการน้ำและการกัดเซาะริมตลิ่ง ในโครงการ OUR Khung Bang Kachao เพื่อน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาสืบสานขยายผลตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เขาบอกสถานการณ์ว่า “ถ้าไม่ทำอะไร พื้นที่นี้จะถูกกัดเซาะไปเรื่อยๆ และจะหายไป 10-20 ไร่ต่อปี ที่เคยเป็นบ้านเรือนก็กลายเป็นน้ำ”

นายรอยล บอกสาเหตุของที่นี่ว่าแตกต่างออกไปจากชายฝั่งทะเล มาจากคลื่นจากการเดินเรือ และจอดเรือใหญ่

วิธีการแก้ปัญหานี้จึงมุ่งไปที่

  1. ประสานงานกับกรมเจ้าท่าให้คุมเรื่องการเดินเรือ จอดเรือ รวมถึงควบคุมความเร็วของเรือ
  2. ปลูกพืชกันการกัดเซาะด้วย ซึ่งพบว่าต้นไม้อย่าง “ลำพู” เหมาะสมที่สุด ขณะที่โกงกางและแสม เจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่า เพราะน้ำไม่เค็มมากพอ ซึ่งรากของลำพูจะช่วยดักตะกอนโคลนที่ฟุ้งกระจายให้ตกตะกอน และช่วยให้ดินเลนยึดรวมตัวกัน ทำให้ยากต่อการพังทลาย
  3. การปักเสาไผ่ให้ได้มุมองศาที่พอดี ซึ่งต้องทำการศึกษาต่อไป

“การกัดเซาะชายฝั่งสองข้างทางของคุ้งบางกะเจ้าต่างจากชายทะเล เพราะคลื่นจากทะเลมาทางตรง แต่ที่นี่คลื่นมามุมเฉียง ทำให้กัดเซาะมากกว่า จึงต้องหาแก้ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และต้องทำหลายแนวทางไปพร้อมกัน”

นอกจากการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว คุ้งบางกะเจ้ายังเกิดปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาถึง 8 เดือน ซึ่งจะต้องถูกแก้ไปพร้อมกันด้วยให้น้ำเค็มรุกเข้ามาเหลือ 3 เดือนตามธรรมชาติ เพราะน้ำเค็ม เป็นสาเหตุหนึ่งให้พื้นที่สวนผลไม้ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศเมื่อ 40-50 ปีก่อนหายไป วันนี้เหลือไม่ถึง 1,000 ไร่จากพื้นที่ทั้งหมด 12,000 ไร่  ส่งผลให้ชาวสวนเหลือเพียง 10%  อีก 90% เป็นลูกจ้างในโรงงาน

เพิ่มแหล่งเก็บน้ำจืดให้ได้ 4 ล้านลบ.ม.

ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้เข้ามาแก้ไขปัญหาน้ำเค็มไปแล้วบางส่วน จากที่เคยรุนแรงเมื่อปี 2557 ที่มีค่าความเค็มถึง 4-5 กรัมต่อลิตร แต่เราต้องมองระยะยาวไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำอีก วิธีการ คือ เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำจืด และทำให้การไหลเวียนของพื้นที่ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย กลับคืนมา

“ การให้ชาวสวนกลับมาทำสวนผลไม้ต้องแก้ที่น้ำก่อน”   นายรอยล อธิบายแนวทางการทำงานว่า พื้นที่นี้ต้องการน้ำจืด 4 ล้านลบ.ม. เพื่อทำสวนผลไม้ ซึ่งคุ้งบางกะเจ้ามีสระใหญ่ในสวนสาธารณะศรีนครเขื่อนขันธ์ ที่ตำบลบางกอบัว สามารถเป็นแหล่งกักเก็บน้ำจืดได้ ซึ่งวันนี้มีน้ำอยู่  2-3 แสนลบ.ม.สามารถเพิ่มความจุได้เป็น 6 แสนลบ.ม.

ส่วนปริมาณ 2-3 ล้านลบ.ม.มาจากร่องสวนของชาวบ้าน ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่สามารถเก็บน้ำได้ 1,000 ลบ.ม. ต้องการพื้นที่อยู่ประมาณ 2,000-3,000 ไร่ พร้อมไปกับการฟื้นฟูคูคลอง 32 คลองที่ต่อเชื่อมคุ้งบางกะเจ้าทั้งหมด

ส่วนที่ทำไปพร้อมกันก็คือการฟื้นประตูระบายน้ำ ซึ่งวันนี้หลายประตูพัง ไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้น้ำไหลขึ้นลงไม่สะดวก แนวทางแก้ระยะยาวต้องฟื้นประตูระบายน้ำแบบ “หับเผย”  ซึ่งไม่ต้องใช้คนควบคุม แต่ใช้การเปิดปิดประตูธรรมชาติตามแรงดันน้ำ  ซึ่งได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

นอกจากนี้ 32 คลองที่จะฟื้นขึ้นมานั้น นายรอยล  ย้ำว่า ต้องทำให้มีชีวิต  โดยฟื้นการเดินทาง    ทางเรือ โดยมุ่งไปที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวที่กำลังบูมในพื้นที่ ซึ่งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ก็เห็นด้วย เพราะตำบลบางน้ำผึ้ง ซึ่งทำไปแล้ว พบว่าช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาจำนวนมาก

 

โรดแมพคุ้งบางกะเจ้า

“น้ำดี”พื้นที่สีเขียวเพิ่ม

“หากทุกฝ่ายช่วยกันทำให้การจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำจืด และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทำได้สำเร็จ จะช่วยทำให้เป้าหมายการขยายพื้นที่สีเขียวให้กับคุ้งบางกะเจ้าบรรลุผลตามไปด้วย”

เขาขยายความว่า  การแก้ปัญหาเรื่องน้ำเป็นเรื่องแรกที่จะทำก่อนอย่างจริงจัง เพราะผลดีอื่นๆจะตามมา โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คุ้งบางกะเจ้าที่ 35 องค์กรรัฐและเอกชน ซึ่งให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้มีเป้าหมายร่วมกันให้คุ้งบางกะเจ้า 12,000 ไร่เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อคืน “ปอดของกรุงเทพ” จากที่เคยถูกขนานนามจากนิตยสาร Time Asia เป็น “ The Best Urban Oasis Of Asia”  ในปี 2549

เมื่อ “น้ำดี” คาดการณ์กันว่า ความเขียวขจีของบางกะเจ้าจะกลับมาให้เห็นเป็นรูปธรรม 6,000 ไร่ภายใน 5 ปี จากการปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ดูแลของกรมป่าไม้ 400 ไร่ อีก 5,600 ไร่ ส่งเสริมประชาชนปลูกต้นไม้ในบ้านตนเอง รวมถึงสีเขียวของสวนผลไม้นานาชนิดที่จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ณ ผืนดินนี้

Avatar photo