Business

อีคอมเมิร์ซอาเซียนโตแรง! แนะกระจายช่องทางขายชิงตลาด

ปัจจุบันคนทั่วโลกซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดเป็นประวัติการณ์  จากปัจจัยประชากรโลก 50% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือ 3,600 ล้านคน  จากการใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟน ที่มีราคาหลักพันบาท ซึ่งมีแนวโน้มถูกลงและดีขึ้นเรื่อย ๆ  ทำให้คนทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือได้ในวงกว้าง นับเป็นอุปกรณ์เปลี่ยนโลก!!

ไพรซ์ซ่า
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมไทย อี-คอมเมิร์ซ (Thai e-Commerce)  ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น Priceza  กล่าวว่า “อาเซียน” เป็นภูมิภาคที่ประชากรออนไลน์และตลาดอีคอมเมิร์ซขยายตัวสูง  ประเมินว่าปี 2020 สัดส่วน 80-90% ของประชากรจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

จากผลสำรวจ KPMG ระบุว่าปี 2025 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีมูลค่าแตะ 8.81 หมื่นล้านดอลลาร์ เติบโตปีละ 32% 

สำหรับประเทศไทยคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ประชากรไทย 84% จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือประมาณ 59 ล้านคน นั่นเท่ากับเป็น “โอกาส” ของคนค้าขายออนไลน์ ที่สามารถขายสินค้าให้กับผู้คนจำนวนมาก โดยตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 30%

ปี61 อีคอมเมิร์ซไทยพุ่ง 3 ล้านล้าน

ล่าสุดสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็ตด้า (ETDA) คาดการณ์ปี 2561 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่า  3 ล้านล้านบาท เติบโตจากปี 2560 มีมูลค่า  2.8 ล้านล้านบาท  กลุ่มที่ขยายตัวสูงมาจากอีคอมเมิร์ซประเภทบีทูซี  เติบโต 28.89%

จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยปี 2561 พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน  จากการเปลี่ยนผ่านชีวิตไปสู่ดิจิทัล  พบว่า “เจน วาย” ครองแชมป์ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุด  โดยใช้เฟวบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ พันทิป เฉลี่ยนวันละ  3 ชั่วโมง  30 นาที

รูปเฟซบุ๊ก Priceza
รูปเฟซบุ๊ก Priceza

ตลาดอีคอมเมิร์ซโอกาสโตสูง

ธนาวัฒน์ กล่าวว่าจากผลสำรวจพฤติกรรมคนไทยใช้เวลาอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ทำกิจกรรมหลักๆ  คือ โซเชียล มีเดีย,ค้นหาข้อมูล, อีเมล, ดูหนัง ฟังเพลง และช้อปปิ้ง ออนไลน์ ซึ่งขึ้นมาติดท็อปไฟว์ กิจกรรมที่คนไทยใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตมือถือสูงสุด

แนวโน้มการเติบโตตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชีย ที่ขยายตัวสูง ต้องยกให้ประเทศจีน  ในปี 2546  สัดส่วนคนจีนซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ยังเป็น 0%  แต่ในปี 2560  ขยับมาอยู่ที่ 20% มาจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ  เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์มโฟนเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 50 ล้านคน  ขณะที่การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของคนไทยอยู่ที่ 1-2%  นั่นเท่ากับมีโอกาสเติบโตสูง ระดับ 10 เท่าหลังจากนี้  ดังนั้นสินค้าและแบรนด์จะต้องตื่นตัวนำเครื่องมืออีคอมเมิร์ซ มาใช้กระตุ้นธุรกิจ

จากข้อมการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยปี 2559 พบว่าผ่านมาร์เก็ตเพลส 29%, รีเทลเลอร์/แบรนด์ช็อป 27% และช่องทางใหญ่ที่สุด คือ โซเชียล คอมเมิร์ซ  ที่ครองส่วนแบ่ง 40%  แพลตฟอร์มต่างประเทศ 4%

การที่ตลาดโซเชียล คอมเมิร์ซ เติบโตเป็นเพราะคนไทยชอบพูดคุยกับร้านค้าออนไลน์  เป็นพฤติกรรมแตกต่างจากต่างประเทศที่ซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ของค้าปลีกและแบรนด์   นอกจากนี้ร้านค้าออนไลน์ไทยยังใช้เครื่องมือโซเชียลได้เก่ง  สามารถนำ “เฟซบุ๊ก ไลฟ์” ที่พัฒนาขึ้นเพื่อถ่ายทอดสด  มาเป็นเครื่องมือไลฟ์ขายสินค้า  “คนไทยมองการช้อปปิ้ง เป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เป็นความสุขทางใจที่ได้จับจ่ายเงิน”

อีคอมเมิร์ซ ช้อปปิ้ง ออนไลน์

กระจายช่องทางขายออนไลน์

จากการขยายตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ทำให้ “มาร์เก็ตเพลส” รายใหญ่จากต่างประเทศ รุกเข้ามาทำตลาดอย่างหนัก  ปัจจุบันมาร์เก็ตเพลส ต่างประเทศ เป็นช่องทางขนาดใหญ่ ที่มีผู้บริโภคใช้งานจำนวนมากและเป็นโอกาสทำตลาดของสินค้า

การขายสินค้าบนมาร์เก็ตเพลส ถือเป็นช่องทางที่ดี เพราะเป็นช่องทางที่ช่วยทำการตลาดเข้าถึงผู้ซื้อจำนวนมาก  แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือร้านค้าได้ช่วยให้มาร์เก็ตเพลส มีข้อมูลผู้บริโภค สินค้าที่คนไทยชอบซื้อ สินค้าขายดี ทำให้มาร์เก็ตเพลสสามารถดึงร้านคู่แข่งเข้ามาขายสินค้าแทน

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการขายสินค้าออนไลน์  คือการกระจายทำตลาดและขายสินค้าในหลากหลายช่องทาง ทั้งมาร์เก็ตเพลส เว็บไซต์ของแบรนด์และร้านค้า เพื่อเป็นเจ้าของข้อมูล Customer Relationship เพราะฐานลูกค้าออนไลน์ถือเป็นทรัพย์สินของผู้ขายสินค้าออนไลน์  เพื่อใช้ต่อยอดธุรกิจ

“การพึ่งพาช่องทางใด ช่องทางหนึ่งในการขายออนไลน์ถือเป็นความเสี่ยง  ขณะที่การมีฐานข้อมูลลูกค้าในมือทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้ดี”

Avatar photo