Business

‘เอ็กโก’ จัดงบลงทุน 30,000 ล้าน ปี 63 พร้อมปรับวิสัยทัศน์ รับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจพลังงาน

เอ็กโก กรุ๊ป ลงทุน 30,000 ล้านปี 63 พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ รองรับการเปลี่ยนแปลง ในธุรกิจพลังงาน ต่อยอดการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง สร้างการเติบโต 

  • ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ปี 2563 รับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจพลังงาน
  • กำไรสุทธิปี 2562 แตะ 13,059 ล้านบาท

Photo Gumpanart EGCO 4x6 1

ดร. กัมปนาท บำรุงกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า ปี 2563 เอ็กโก กรุ๊ป ได้ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ โดยมุ่งเป็น ” บริษัทไทยชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยความใส่ใจที่จะธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม “ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยมุ่งเน้นการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะขยายการลงทุนในประเทศ ที่มีฐานอยู่แล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และเจาะตลาดในประเทศใหม่ๆ เช่น ไต้หวัน เป็นต้น และต่อยอดไปสู่ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ การจัดหาเชื้อเพลิงและการให้บริการด้านพลังงาน รวมทั้งยังแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น Smart Energy Solution

SBPL COD
ถ่านหิน “ซานบัวนาเวนทูรา” ฟิลิปปินส์

ในขณะเดียวกัน เอ็กโก กรุ๊ป ยังเน้นบริหารจัดการโรงไฟฟ้า ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และการบริหารจัดการโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างให้ แล้วเสร็จตามกำหนด และภายใต้งบประมาณที่วางไว้ โดยในปีนี้บริษัทเตรียมงบลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง รวมถึงการลงทุนในโครงการใหม่

ปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป มีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง “กังดง” ประเทศเกาหลีใต้ ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 82.45% คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปี 2563 และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ “น้ำเทิน 1” สปป.ลาว ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 66 % คาดว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2565

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เป็นธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 22.15 %  คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 4 ปี 2564

สำหรับผลประกอบการปี 2562 เป็นไปตามเป้าหมาย มีกำไรสุทธิ 13,059 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 8,014 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมกำไรจากการขายเงินลงทุน จํานวน 14,177 ล้านบาท บริษัทมีกำไรจากการดําเนินงานปกติ จำนวน 10,368 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จํานวน 1,173 ล้านบาท และจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังของปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 3.25 บาท ซึ่งหากได้รับการอนุมัติ เท่ากับบริษัท จ่ายเงินปันผลตลอดปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 6.50 บาท

XCPL5
พลังน้ำ “ไซยะบุรี” สปป.ลาว

การดำเนินงานที่โดดเด่นในปี 2562 ประกอบด้วย การบริหารโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างให้แล้วเสร็จและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ตามกำหนด รวมทั้งการขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง มีโครงการที่เพิ่งเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว  2 โครงการ

ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน “ซานบัวนาเวนทูรา” ประเทศฟิลิปปินส์ เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ “ไซยะบุรี” สปป.ลาว เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562

และในปีที่ผ่านมายัง ขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า 2 โครงการ ได้แก่ การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง “กังดง” ประเทศเกาหลีใต้ กำลังผลิต 19.80 เมกะวัตต์ ผ่านบริษัท พาจู เอ็นเนอร์ยี่ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เอ็กโกถือหุ้น 49% และการลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น 25% เพื่อขยายการลงทุน ในโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล “หยุนหลิน” ในไต้หวัน กำลังผลิต 640 เมกะวัตต์

Photo Example of Completed Project1
พลังลม “หยุนหลิน” ไต้หวัน

การขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง 1 โครงการ ได้แก่ การลงทุนด้วยการซื้อหุ้น 44.6 % ในบริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด เพื่อดำเนินโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ณ 31 ธันวาคม 2562 เอ็กโก กรุ๊ป มีโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 28 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายและตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 5,475 เมกะวัตต์ ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ มีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 2 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายและตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 171 เมกะวัตต์

โดยโรงไฟฟ้าและโครงการต่างๆ ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลายประเภท ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และเซลล์เชื้อเพลิง

Avatar photo