Economics

‘เวิลด์แบงก์’ ชี้เศรษฐกิจแย่! ยอดคนจนในไทยพุ่ง 6.7 ล้านคน

“เวิลด์แบงก์” เปิดเผยรายงานความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ชี้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้นแตะ 6,700,000 คน พร้อมเปิด 5 จังหวัดยากจนสูงสุด

นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยรายงานความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยจากสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐพบว่า ระหว่างปี 2558 – 2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 9.85% หรือเพิ่มจาก 4,850,000 คน เป็นมากกว่า 6,700,000 คน โดยภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประชากรยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 500,000 คนในช่วงปี 2558-2561 ซึ่งจังหวัดที่มีอัตราความยากจนสูงสุดได้แก่ แม่ฮ่องสอน, ปัตตานี, กาฬสินธุ์, นราธิวาส และตาก ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้พรมแดน หรืออยู่ในพื้นที่ขัดแย้งในภาคใต้

เบอร์กิท ฮานสล์ ภาพ World Bank1

โดยปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขความยากจนเพิ่มขึ้น เกิดจากภาวะเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง ซึ่งไทยมีอัตราการเติบโตของจีดีพีต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนา โดยปี 2562 จีดีพีไทยอยู่ที่ 2.7% ต่ำสุดในภูมิภาค การเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในระดับปานกลางทั่วภูมิภาค เนื่องจากการค้าโลกอ่อนตัวลงส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย ภาวะภัยแล้งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่ในภาวะหดตัว อีกทั้งยังพบว่ารายได้ที่แท้จริงจากภาคเกษตรและภาคธุรกิจลดลงทั้งในกลุ่มที่อาศัยอยู่เขตชนบทและเขตเมือง

ทั้งนี้แม้ประเทศไทยมีตัวชี้วัดระดับสากลด้านความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระดับดีเช่น การเรียนของเด็กปฐมวัย การมีน้ำใช้ มีสุขาภิบาลและมีไฟฟ้าใช้ที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน แต่ความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นสำคัญของไทย ที่ความมั่งคั่งยังไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชาชนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งมีสัดส่วน 40% โดยปี 2558-2560 พบว่าประชากรกลุ่มนี้มีการบริโภคและรายได้ที่ติดลบ จากรายได้แรงงานทุกประเภทที่ลดลง การหยุดนิ่งของการขึ้นค่าแรงและรายได้จากภารเกษตรและธุรกิจลดลง

โดยในรายการฉบับนี้ยังได้เรียกร้องให้ไทยมีมาตรการและการลงทุน เพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนในคนรุ่นใหม่อย่างเท่าเทียม เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของแต่ละคนได้อย่างเต็มที่

ขอบคุณ World Bank Thailand

Avatar photo