Politics

ครม.คลอด ‘ ข้อสั่งการ-มาตรการเร่งด่วน-หลักปฏิบัติ’ รับมือโควิด-19

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าการช่วยเหลือประชาชน ถึงโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งการท่องเที่ยวและการจัดประชุมสัมมนาต่างๆ วันนี้ที่ประชุมครม. มีมติเป็นข้อสั่งการและมาตรการระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 โดยแจกเป็นเอกสารให้ผู้สื่อข่าว  จะได้ลงข้อมูลให้ครบ

พร้อมกันนี้ ยังมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาตรการในการควบคุมโรคเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการในปฏิบัติตัวของผู้ที่ต้องสังเกตอาการอยู่ที่บ้าน เพราะหลายคนได้ไปร่วมในกิจกรรมต่างๆ ประจำวัน โอกาสมีความเสี่ยงพอสมควร ตรงนี้ต้องแก้ปัญหาให้ได้

ประยุทธ์33636

“การชุมนุมกัน เอ้ยไม่ใช่การชุมนุม การไปร่วมกิจกรรมคนเยอะๆ อะไรเลื่อนได้ก็เลื่อนเถอะ ขอความร่วมมือด้วยหากมีการจัดอยู่ สถานที่จัดงานต้องมีมาตรการของตัวเองในการดูแล เว้นแต่สิ่งที่เราห้ามตอนนี้ ซึ่งประกาศที่ออกมาจะเห็นว่าใครบ้างอะไรอย่างไร ปัญหาคือเรามีคนหลายกลุ่ม หลายฝ่าย หลายกิจกรรม ฉะนั้น ต้องดูว่าจะเกิดผลดีผลเสีย สิ่งสำคัญสุดคือสุขภาพประชาชนคนไทยเป็นหลักนะจ๊ะ” นายกฯ กล่าว

ทั้งนี้ มีการแจกเอกสารเรื่องคำแนะนำ สำหรับการแยกเพื่อสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัย กรณีเดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) ของกระทรวงสาธารณสุข

1.การปฏิบัติตัวระหว่างสังเกตอาการที่บ้าน ที่พัก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น โดยให้หยุดการไปเรียน ไปทำงาน เข้าร่วมกิจกรรมของสถานที่ที่มีการรวมคนจำนวนมาก ผู้เดินทางกลับควรนอนแยกห้อง ไม่ออกไปนอกบ้าน ไม่เดินทางไปที่ชุมชนหรือที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันเดินทางกลับจากพื้นที่ระบาด การรับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น อาจรับประทานอาหารร่วมกันได้แต่ต้องใช้ช้อนกลางทุกครั้ง ไม่ใช้ของส่วนตัว ร่วมกับผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 60%

สวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากคนอื่นในบ้านประมาณ 1-2 เมตร หรืออย่างน้อย 1 ช่วงแขน หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ การทิ้งหน้ากากอนามัยใช้วิธีใส่ถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด  ทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่ทันที ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอจาม ทิ้งทิชชู่ลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง หรือใช้แขนเสื้อปิดปากจมูกเมื่อไอหรือจาม และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำและสบู่ทันที

xxx1

2.วิธีการสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัย และแนวทางปฏิบัติเมื่อมีอาการป่วย กรณีที่มีหอพักและเจ้าหน้าที่ควรจัดให้มีจุดคัดกรองอุณหภูมิด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบมือถือที่หน้าหอพัก ในผู้ที่เดินทางเข้าออกหอพักทุกคน ให้ผู้เดินทางสังเกตอาการไข้และอาการระบบทางเดินหายใจ แนะนำให้วัดอุณหภูมิร่างกายทุกวันเช้าและเย็น อาการระบบทางเดินหายใจได้แก่ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก หากพบอาการป่วยข้อใดข้อหนึ่งให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง โดยขณะเดินทางมาโรงพยาบาลโดยรถยนต์ส่วนตัวให้เปิดหน้าต่างรถยนต์ไว้

 

3.การปฏิบัติตัวของผู้อยู่อาศัยร่วมบ้าน และการทำลายเชื้อในสิ่งแวดล้อมในบ้าน ทุกคนในบ้านควรล้างมือบ่อยครั้งที่สุดเพื่อลดการรับและแพร่เชื้อ โดยใช้น้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ เฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือสมาชิกในบ้าน ภายในระยะเวลา 14 วันหลังสัมผัสผู้ป่วย ควรนอนแยกห้องกับผู้เดินทางกลับ อาจรับประทานอาหารรวมกันได้ แต่ต้องใช้ช้อนกลางทุกครั้ง ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้เดินทางกลับ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดในระยะ 1 เมตร ทำความสะอาดบริเวณที่ผู้เดินทางกลับพัก ด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรด์ ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิ 70-90 C° หากมีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดห้องพัก ของผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาด เช่น แม่บ้านควรใส่ชุดป้องกันร่างกาย ได้แก่ หน้ากากอนามัย หมวกคลุมผม แว่นตากันลม ถุงมือยาว รองเท้าบูท และผ้ากันเปื้อนพลาสติก

ขณะที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรการในการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด- 19 เพื่อใช้ดำเนินการกับผู้เดินทาง ซึ่งมาจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ. ศ. 2558 ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคที่อาจเข้ามาภายในราชอาณาจักรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงเห็นควรประกาศกำหนดมาตรการในการควบคุมโรคดังกล่าว เพื่อให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศไทยดำเนินการกับผู้เดินทาง มาจากท้องที่นอกราชอาณาจักร ที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด- 19 เมื่อพบผู้เดินทางที่เป็นหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโควิด-19 ให้ประสานกับสถานพยาบาลที่ กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อนำผู้ที่เป็นหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยเข้ารับการตรวจรักษา รับการชันสูตรจากทางการแพทย์ ตามสมควรแก่กรณี

เมื่อผู้เดินทางที่ไม่เป็น หรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่า เป็นให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พิจารณา ให้ผู้ที่มีที่พักอาศัยในประเทศไทยกักกันตัวเอง ณ ที่พักเป็นเวลา 14 วัน ให้ผู้ที่ไม่มีที่พักอาศัยประจำในประเทศไทยแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรณีผู้ที่เดินทางไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ประสานเพื่อดำเนินการ ส่วนการเฝ้าระวังอาการและการรายงานตัว แจ้งให้บุคคลดังกล่าวทำการบันทึกอาการในระบบรายงานตัวและติดตามอาการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดด้วยตนเองจนครบ 14 วัน หากบุคคลดังกล่าวไม่สามารถทำการบันทึกในระบบรายงานตัวได้ ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อติดตามอาการและบันทึกข้อมูลในระบบดังกล่าวแทน

หากบุคคลดังกล่าวมีอาการป่วย หรือสงสัยว่าตัวเองป่วย ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อภายใน 3 ชั่วโมง นับแต่พบว่าตัวเองมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าป่วย ทั้งนี้การนับระยะเวลา 14 วันให้เริ่มนับถัดจากวันที่ผู้เดินทางได้เดินทางมาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และให้แจ้งต่อผู้เดินทางให้ทราบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

จากนั้นนายกฯได้แจกเอกสาร 3 ชุด โดยชุดแรกระบุ ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี มาตรการระยะเร่งด่วน สำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19  โดยมาตรการระยะเร่งด่วน

1.ด้านการป้องกันโรค/สุขภาพ

1.1 ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด  หากมีความจำเป็นให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ กำหนดมาตรการเป็นการภายในต่อไป

1.2 ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ระงับหรือเลื่อนการเดินทางไปศึกษา ดูงาน อบรมหลักสูตร หรือประชุม ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVD0-19  และประเทศเฝ้าระวัง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยในส่วนของการดูงานหรืออบรมหลักสูตรขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงงบประมาณเป็นการดูงาน หรือจัดอบรมหลักสูตรภายในประเทศแทนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้องได้รับอนุญาตให้เดินทางออก นอกราชอาณาจักรจากหัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ทั้งนี้ให้กระทรวงการคลัง พิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีผลกระทบต่อเอกชนคู่สัญญาน้อยที่สุด

1.3 ให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เดินทางกลับมาจาก หรือเดินทางผ่าน หรือมีเส้นทางแวะผ่าน (Tansit/Tiansfer) ประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVD-19  หรือ มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19  และจำเป็นต้องสังเกตอาการ ปฏิบัติงานภายในที่พัก 14 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จัดทำหลักเกณฑ์สำหรับให้ข้าราชการปฏิบัติงานภายในที่พัก โดยให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่เดินทางกลับมาจาก หรือ เดินทางผ่าน หรือมีเส้นทางแวะผ่าน (Transit Transfer) ประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการคัดกรองประชาชนกลุ่มดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด ในกรณีที่มีความจำเป็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการขนส่งประชาชนกลุ่มดังกล่าวกลับภูมิลำเนาหรือไปยังสถานพยาบาลอย่างเหมาะสม รวมถึงการกำกับดูแล การกักกันตนเอง ณ ที่พักอาศัย โดยให้มีการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างชุมชน จิตอาสาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) และสถานพยาบาลในพื้นที่ ในการติดตาม ฝ้าระวังตรวจสอบ และป้องกันอย่างใกล้ชิด

1.4 จัดให้มีศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19  ขึ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทุกส่วนราชการ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้กับสาธารณชน โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัส COVD-19 ในทุกมิติ รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงทุกกลุ่ม เพื่อสร้างการรับรู้ ตระหนัก และขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยเฉพาะขั้นตอนการฝาระวังและการป้องกัน

1.5ให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันพิจารณาปริมาณความต้องการของสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสCOVID-19 เช่น หน้ากากอนามัย และน้ำยาฆ่าเชื้อหรือเจลฆ่าเชื้อ และจัดหาให้เพียงพอกับความต้องการดังกล่าวในแต่ละช่วงเวลา โดยควรจัดลำดับความสำคัญในการกระจายสินค้าที่จำเป็นดังกล่าวตามระดับความเสี่ยงของบุคคล หน่วยงาน และสถานที่ เช่น สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19และประชาชนทั่วไป

1.6 ให้ กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการป้องกันการกักตุน และควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัส COVD-19  เช่น หน้ากากอนามัย และน้ำยาฆ่าเชื้อหรือเจลฆ่าเชื้อ อย่างเคร่งครัด โดยครอบคลุมถึงช่องทางการขายสินค้าออนไลน์

1.7 ให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินมาตรการคัดกรองผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่งผู้โดยสารและท่ารถ อย่างเคร่งครัด

1.8 ให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน ติดตามและดูแลคนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสCOVID-19 และ ประเทศเฝ้าระวังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อย่างใกล้ชิด

1.9 ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม จัดเตรียมสถานที่พื้นที่สำหรับสังเกตอาการในกรณีที่พบว่าผู้เดินทางเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายโรคระบาด หรือพาหะนำโรคตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

resize 5e36355972675

1.10 ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดหาเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติมให้ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้มีเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับดำเนินการอย่างเพียงพอ

1.11 ให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์และข้อมูลต่างๆ รวมถึงร่วมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา

1.12 ให้กระทรวงสาธารณสุข ดูแลบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม  จัดให้มีสวัสดิการพิเศษเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง และครอบครัว

1.13 ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสCOVID-19 เพื่อรองรับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 หากมีความจำเป็น

1.14 ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชนให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่จำเป็น เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต และการจัดมหรสพเว้นแต่เป็นกิจกรรมที่เป็นการดำเนินการของสถานประกอบการตามปกติ ให้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่เป็นกิจกรรมที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตพิจารณาความเหมาะสมของกิจกรรมอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสาธารณชนโดยรวมต่อการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ

2. ด้านการบรรเทาผลกระทบที่เกี่ยวข้อง  ให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19  เพื่อเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาโดยเร็ว ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา  รวมทั้งให้ข้อมูลและสื่อสารกับสาธารณชน เพื่อให้เกิดเอกภาพและสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชน ผ่านศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่จะตั้งขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล  โดยครอบคลุมด้านต่างๆ ดังนี้ มาตรการทางภาษี มาตรการด้านสินเชื่อและพักชำระหนี้

มาตรการด้านงบประมาณ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน มาตรการการจ้างงานและพัฒนาทักษะ และมาตรการด้านสินค้าเกษตรและสินค้าอื่นในชุมชน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight