Politics

โพลชี้‘ประเพณีรับน้อง’มีผลเสียมากกว่าดี

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ประเพณีการรับน้อง” ควรมีต่อไป? สำรวจระหว่างวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2561  จำนวน 1,264 ตัวอย่าง เกี่ยวกับประเพณีการรับน้องในปัจจุบัน

จากการสำรวจเมื่อถามถึงผลดีหรือผลเสียของ “ประเพณีการรับน้อง” ต่อนิสิต/นักศึกษา/สถาบันการศึกษา พบว่าส่วนใหญ่  49.29% ระบุว่า มีผลเสียมากกว่าผลดี รองลงมา 45.17% ระบุว่า มีผลดีมากกว่าผลเสีย และ 5.54% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

นิด้าโพล ประเพณีรับน้อง

โดยผู้ที่ระบุว่า มีผลเสียมากกว่าผลดี ได้ให้เหตุผลส่วนใหญ่ หรือสัดส่วน 92.13% ระบุว่า การใช้ความรุนแรงก่อให้เกิดการสูญเสียและสร้างความเสื่อมเสียให้กับสถาบันรองลงมา 30.18% ระบุว่า การใช้อารมณ์ในการด่าทอ ก่อให้เกิดความก้าวร้าวขึ้นในหมู่คณะ และ 22.63% ระบุว่า ส่งผลกระทบต่อการเรียนของนิสิต/นักศึกษา

ส่วนผู้ที่ระบุว่า มีผลดีมากกว่าผลเสียได้ให้เหตุผลส่วนใหญ่ จำนวน 90.37% ระบุว่า เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องเพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ รองลงมา 30.12% ระบุว่า เป็นการฝึกให้มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองและการตรงต่อเวลากล้าแสดงออกมากขึ้นและ 27.15% ระบุว่า เป็นการฝึกการ มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ด้านความรุนแรงของ “ประเพณีการรับน้อง” ในปัจจุบันพบว่า

  • 18.91% ใช้ความรุนแรงมากที่สุด
  • 54.35% ใช้ความรุนแรงมาก
  • 21.52% ไม่ค่อยมีการใช้ความรุนแรง
  • 1.66% ไม่มีการใช้ความรุนแรงเลย
  • 3.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

โดยผู้ที่ระบุว่า มีการใช้ความรุนแรงมาก – มากที่สุด ได้ให้เหตุผลว่า มีข่าวออกมาให้เห็นบ่อยครั้ง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ขาดการควบคุมดูแลจากสถาบัน ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีการใช้ความรุนแรง – ไม่มีการใช้ความรุนแรงเลย ให้เหตุผลว่า ทางสถาบันมีการควบคุม ดูแล และป้องกันการรับน้องที่รุนแรง

ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับบทลงโทษสำหรับรุ่นพี่ที่กระทำความรุนแรงในการรับน้อง โดยการตัดคะแนนความประพฤติ/พักการเรียน พบว่าส่วนใหญ่  77.69% ระบุว่า เห็นด้วย เพราะบทลงโทษไม่รุนแรงเกินไป เหมาะสมกับความผิด รองลงมา 20.81% ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ บทลงโทษมีความรุนแรงน้อยเกินไป ควรมีการลงโทษตามกฎหมาย ขณะที่บางส่วนระบุว่า บทลงโทษรุนแรงไป ควรมีการตักเตือนก่อน แต่ก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป และ 1.50% ระบุว่า ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของสถาบันการศึกษา ในกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงในประเพณีการรับน้อง พบว่าส่วนใหญ่ 93.28% ระบุว่า ควรต้องรับผิดชอบ เพราะ สถาบันการศึกษาเป็นผู้ดูแล รับผิดชอบ นิสิต นักศึกษา ภายในสถาบันทั้งหมด รองลงมา 5.30% ระบุว่า ไม่ควรต้องรับผิดชอบ เพราะ เป็นเรื่องที่เกิดจากตัวบุคคลไม่เกี่ยวกับสถาบัน และ 1.42% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ “ประเพณีการรับน้อง” พบว่า

  • 61.31% จัดกิจกรรมรับน้องที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์ต่อตัวรุ่นน้องและสังคม
  • 33.78% ให้สถาบันการศึกษาออกมาตรการป้องกันการรับน้องที่ชัดเจน
  • 26.03% มีการรับน้องแบบโปร่งใสโดยให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม
  • 19.38% กำหนดรูปแบบการรับน้องให้เป็นรูปแบบเดียวกันทุกสถาบันการศึกษา
  • 12.97%  ออกบทลงโทษขั้นรุนแรงโดยใช้กฎหมายนอกสถาบันการศึกษา
  • 2.85% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ให้จัดกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์เป็นผู้ควบคุมการทำกิจกรรม ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ต้องการให้มีประเพณีการรับน้องอีกต่อไป
  • 3.24% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึง“ประเพณีการรับน้อง” ควรมีต่อไปหรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่  67.57% ระบุว่า ควรมี “ประเพณีการรับน้อง” ต่อไป เพราะ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความสามัคคี ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง บางส่วนระบุว่า ควรเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อสังคม และผู้ปกครองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมได้

รองลงมา 30.14% ระบุว่า ควรยกเลิก “ประเพณีการรับน้อง” เพราะ ไม่มีความสำคัญ ไม่มีประโยชน์ ต่อการศึกษา ยังมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์กว่าการรับน้องที่สามารถเข้าร่วมได้ และเพื่อลดการเกิดปัญหาความรุนแรง และ 2.29% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

นิด้าโพล ประเพณีรับน้อง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight