CEO INSIGHT

‘โซเชียลคอมเมิร์ซ’ช่องทางตอบโจทย์‘มีเดีย-สื่อสาร-ค้าขาย’

ตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านสมาร์ทโฟน (Mobile First) ที่ขยายตัวสูงมากกว่ายุคเดสก์ท็อป ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในยุคอาจไม่รู้ว่าเว็บเบราเซอร์ คืออะไร  แต่รู้ว่า เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ คืออะไร  สะท้อนถึงปัจจุบันคนไทยไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์เป็นหลักอีกต่อไป สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาด “อีคอมเมิร์ซ” เปลี่ยนไป

ในประเทศที่ก้าวสู่ยุค Mobile First แบบไทย ผู้บริโภคอาจไม่เข้าใจตลาดอีคอมเมิร์ซระบบตระกร้าสินค้าผ่านเว็บไซต์ ขณะที่ “แอพ แชท” เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็เข้าใจได้ เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่คนใช้มากที่สุดในโลก มากกว่าแอพ โซเชียล เน็ตเวิร์ก เพราะการ “แชท” เป็นการสื่อสารที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด ส่งผลให้การค้าขายออนไลน์รูปแบบ “โซเชียล คอมเมิร์ซ” เป็นเทรนด์ที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง

เลอทัด ศุภดิลก sellsuki เซลสุกิ
เลอทัด ศุภดิลก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซลสุกิ จำกัด (Sellsuki)

นักช้อปออนไลน์พุ่ง20ล้านคน

เลอทัด ศุภดิลก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซลสุกิ จำกัด (Sellsuki) แพลตฟอร์มบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์  กล่าวว่าจุดเริ่มต้นของ  Sellsuki ในปี 2556 มาจากเห็นการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โซเชียล มีเดีย และร้านค้าออนไลน์

ประเมินกันว่าในปี 2558-2563  ประเทศไทยจะมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจาก 38 ล้านคน ขยับไปถึง 59 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 84% ของประชากรไทย โดยจะมี “นักช้อป ออนไลน์” กว่า 20 ล้านคน

ขณะที่การขายผ่านหน้าร้าน เปลี่ยนสู่ขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ในยุคที่ “โซเชียล มีเดีย” มีบทบาทสำคัญ  Sellsuki จึงวางตัวเป็น รีเทล แพลตฟอร์ม  ด้วยรูปแบบ โซเชียล คอมเมิร์ซ และออมนิ แชนแนล แพลตฟอร์ม ที่จะช่วยให้ร้านค้าออนไลน์ บริหารการขาย ด้วยระบบแชทอัจฉริยะ, บิลออนไลน์แจ้งช่องทางการชำระเงินให้กับลูกค้าโดยอัตโนมัติ และการส่งสินค้าที่เชื่อมต่อกับพันธมิตรโลจิสติก ที่ช่วยให้ร้านค้าออนไลน์ปิดการขายผ่านโซเชียลมีเดีย

โซเชียลคอมเมิร์ซช่องทางขายออนไลน์

การพัฒนาแพลตฟอร์ม Sellsuki  ที่มุ่งบริหารจัดการขายให้ร้านค้าออนไลน์  จึงเริ่มมาจากสิ่งที่ทุกคนมาพบเจอกันอยู่แล้วคือ “โซเชียล มีเดีย” แพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนไทยใช้งานสูงสุด

เอ็ตด้า (ETDA) รายงานว่าปี 2561 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตวันละ 10 ชั่วโมง 5 นาที จากการเปลี่ยนผ่านชีวิตไปสู่ดิจิทัล “ยูทูบ-ไลน์-เฟซบุ๊ก” เป็นช่องทางการใช้งานหลักของคนไทย

“ที่ใดที่มีคนอยู่ ที่นั่นย่อมมีคนขายของ แม้โซเชียล มีเดีย ไม่ใช่แพลตฟอร์มขายของ แต่การที่มีผู้ใช้จำนวนมากจึงทำให้เกิดร้านค้าออนไลน์”

เลอทัด บอกว่าแม้ทั่วโลกไม่ได้ใช้โซเชียล มีเดีย ขายสินค้า แต่คนไทยสามารถพัฒนาช่องทางนี้ ให้เป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าได้อย่างดี โดยปิดการขายที่โซเชียล มีเดีย ไม่จำเป็นต้องไปที่เว็บไซต์  ดังนั้นปัญหาของร้านค้าที่ขายสินค้าได้จำนวนมาก จากระบบที่ไม่ได้พัฒนามาให้ขายสินค้า  จึงไม่มีฟังก์ชั่นบริหารจัดการออเดอร์  การบริหารสต็อก การชำระเงิน  Sellsuki จึงเห็นช่องว่างดังกล่าว และเป็นผู้จัดการระบบดังกล่าวให้ร้านค้า ด้วยแนวคิด “คุยง่าย ขายไว ส่งเร็ว”

sellsuki เซลสุกิ
รูปเว็บไซต์ www.sellsuki.co.th

จุดแตกต่างของ Sellsuki ที่ไม่เหมือนสตาร์ทอัพแห่งไหนในโลก คือ เป็นแพลตฟอร์มที่ปิดการขายที่แอพแชท โซเชียล มีเดีย โดยมีฟังก์ชั่น รายงานลูกค้าใหม่,ลูกค้าเก่าที่อยู่ระหว่างการส่งสินค้า ,คำค้นหาบ่อย

ฟังก์ชั่น บิลออนไลน์ โดยไม่ต้องมีระบบตระกร้าสินค้า  โดยสรุปรายการซื้อสินค้าทุกรายการและช่องทางการชำระสินค้า  ร้านค้าสามารถสรุปออร์เดอร์ได้ภายในคลิกเดียว!

ตลาดอีคอมเมิร์ซ 3 ล้านล้าน

จากจุดเริ่มต้น Sellsuki ด้วยระบบโซเชียลคอมเมิร์ซ เมื่อ 5 ปีก่อน ท่ามกลางตลาดอีคอมเมิร์ซผ่านเว็บไซต์ของต่างชาติ  จากตัวเลขของ เอ็ตด้า (ETDA) ในปีที่ผ่านมาพบว่า ช่องทางโซเชียล คอมเมิร์ซ  สร้างยอดขายมาเป็นอันดับหนึ่งในทุกกลุ่มอีคอมเมิร์ซ มาถึงวันนี้ โซเชียล มีเดียยังคงเติบโต

ขณะที่ต่างประเทศมองว่าอีคอมเมิร์ซต้องทำผ่านช่องทางเว็บไซต์นั้น แต่วันนี้กลับมีการใช้แชทบอท อย่างหลากหลาย มองว่าอนาคค อินเทอร์เน็ต คือ Conversational Commerce  หรือการค้าขายผ่านแชท

การเติบโตของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 40 ล้านคนในปัจจุบัน ทำให้ตลาด “มาร์เก็ตเพลส” เติบโตต่อเนื่อง เห็นได้จากการเข้ามารุกตลาดไทยของต่างชาติ เช่น ช้อปปี้, อาลีบาบา-ลาซาด้า, เจดีดอทคอม แม้ อเมซอน ยังไม่เข้ามาในตลาดไทย แต่เชื่อว่าจะเข้ามาในอีกไม่นาน

เอ็ตด้า ประเมินว่าปี 2561 มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยจะอยู่ที่ 3.05 ล้านล้านบาท เติบโตจากในปี 2560 มีมูลค่า 2.81 ล้านล้านบาท การเติบโตหลักมาจากอีคอมเมิร์ซประเภท บีทูซี หรือมาจากการซื้อขายของผู้บริโภคทที่เติบโต 28.89% โดยโซเชียล คอมเมิร์ซยังเป็นแนวโน้มเติบโตมาเป็นอันดับแรก

3 บทบาทหลักแพลตฟอร์มโซเชียล

เลอทัด  บอกว่าการทำ “โซเชียล คอมเมิร์ซ” ต้องแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ Media  การทำหน้าที่เป็นสื่อ, Communication  ช่องทางการสื่อสาร พูดคุย และ Commerce การค้าขาย  โดยทุกการค้าขาย สามารถใช้งานได้ทั้ง 3 ส่วน ไม่ว่าจะเป็นค้าขายผ่านเว็บ, อี-มาร์เก็ตเพลส, โซเชียล คอมเมิร์ซ

sellsuki เซลสุกิ
เลอทัด ศุภดิลก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซลสุกิ จำกัด (Sellsuki)

ส่วนที่มีประสิทธิภาพของ โซเชียล มีเดีย ก็คือ Media  เพราะเฟซบุ๊ก ไลน์  คือ แมส มีเดีย  ที่ทรงพลัง มีผู้ใช้งาน 30-40 ล้านคน  ขณะที่เป้าหมายของการค้าขาย ก็เพื่อต้องการให้คนสนใจ

“ปัจจุบันคนเราสนใจแอพบนมือถือของตัวเองมากกว่าสื่ออื่น ๆ จึงเป็นแหล่งกำเนิดสื่อใหม่ อย่าง อินฟลูเอ็นเซอร์  ผ่านโซเชียล มีเดีย จากเดิมที่แบรนด์ต้องจ้างดาราดังคนเดียว ก็หันมาจ้างอินฟลูเอ็นเซอร์จำนวนมาก ที่มีประสิทธิภาพเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม”

นอกจากนี้โซเชียล มีเดียเอง ก็สามารถเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก  เช่น ร้านค้าออนไลน์ สามารถทำ Facebook Live โดยไม่จำเป็นต้องใช่ช่องทางสื่อหลักอีกต่อไป  เพราะสามารถสร้างช่องทางของตัวเองได้

ตามทฤษฎีการซื้อสินค้า คือ ลูกค้าต้องเห็นสินค้าก่อน  จากนั้นพิจารณาว่าสนใจหรือไม่  และตัดสินใจซื้อ  ปัจจุบันคนใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตและแอพจำนวนมาก โซเชียล มีเดีย จึงกลายเป็นช่องทางสำคัญ ที่จะเข้าถึงผู้คน เห็นได้ว่าการรุกทำตลาดของ อี-มาร์เก็ตเพลส อย่างลาซาด้า ก็ยังใช้วิธีโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก

อีกสิ่งที่ทรงอานุภาพไม่แพ้ “มีเดีย” คือ Communication หรือ การสื่อสาร  ในยุคสมาร์ทโฟนบูม  แบรนด์และธุรกิจต่างๆ ต้องการพัฒนาแอพพลิเคชั่น  อยากมีพื้นที่เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง  เพื่อทำให้แอพไปอยู่บนหน้าจอมือถือผู้บริโภค

จากสถิติล่าสุดจากสหรัฐ พบว่าแต่ละเดือนคนโหลดแอพใหม่ไม่ถึง 1 แอพ (ไม่รวมเกม) ปัจจุบันคนไม่โหลดแอพ หรือโหลดมาแล้วไม่ใช้ หรือไม่เปิด จึงหมดยุคที่แบรนด์หรือธุรกิจต้องการมีแอพของตัวเอง  เพราะมีแอพจำนวนมา แอพใหม่จึงเข้าไปแย่งชิงพื้นที่ได้ลำบาก

sellsuki เซลสุกิ
รูปเว็บไซต์ www.sellsuki.co.th

ปัจจุบันสิ่งที่ดึงความสนใจผู้ใช้สมาร์ทโฟน คือ Notifications  ซึ่งเป็นเหตุผลที่แบรนด์และธุรกิจหลายใหญ่ต้องการทำแอพ คือ ต้องการส่ง Notifications ไปหาลูกค้า  จึงเป็นสาเหตุที่ เฟซบุ๊ก ไลน์ ต้องพัฒนาแชทบอท  ปัจจุบัท “แอพ แชท” สามารถเข้าถึงคนได้ทุกแพลตฟอร์ม

ขณะที่บทบาทของ Commerce  สะท้อนได้จาก เฟซบุ๊ก กำลังก้าวสู่ อี-มาร์เก็ตเพลส โดยเปิดตัวไปแล้วในสหรัฐ  รวมทั้งไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับประเทศไทยอย่างมาก  หลายฟีเจอร์ที่เฟซบุ๊กพัฒนาเปิดใช้ในประเทศไทยก่อนเป็นลำดับแรกๆ

เฟซบุ๊ก ใช้ AI มาวิเคราะห์พฤติกรรมและความสนใจของผู้ใช้งาน  โดยแสดงฟีด ตามความสนใจ  เทคโนโลยีอันดับ1 ของเฟซบุ๊ค คือ โฆษณา ซึ่งเป็นรายได้อันดับ1 ของเฟซบุ๊ก

เฟซบุ๊ก มาร์เก็ตเพลส ในไทยเป็นการพูดคุยระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค (B2C) ส่วนในสหรัฐ ขายสินค้ามือสองเป็นหลัก  ดังนั้นในปีนี้ จะมีการปรับ User Interface (UI) ในประเทศไทยให้เหมาะกับการใช้งาน

 โซเชียลคอมเมิร์ซยังแรง!

ตลาดอีคอมเมิร์ซในโลกที่มีทั้ง มาร์เก็ตเพลส, เว็บไซต์ และโซเชียล มีเดีย   การขยายตัวของมาร์เก็ตเพลสในประเทศไทยในขณะนี้ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมาร์เก็ตเพลส ก็คือ ห้างสรรพสินค้าประเภทหนึ่ง มีหน้าที่รวบรวมคน เพื่อดึงสินค้าและแบรนด์มาขายสินค้า  ข้อดี คือมีผู้ใช้งาน ข้อเสีย คือ ข้อมูลผู้ใช้อยู่ในมือมาร์เก็ตเพลส

“สิ่งที่เกิดขึ้นในมาร์เก็ตเพลส ต่างประเทศทำ คือ เมื่อสินค้าใดที่ขายดี ผู้ประกอบการมาร์เก็ตเพลส จะทำตลาดสินค้านั้นเอง ทำให้เกิดการแข่งขันตัดราคากับแบรนด์”

ขณะที่โซเชียล คอมเมิร์ซ  ข้อดี คือ สามารถเข้าถึงลูกค้าหรือผู้ใช้งานได้โดยตรง  ดังนั้นโซเชียล จึงไม่เหมือนกับช่องทาง มาร์เก็ตเพลส ต่างๆ  เพราะเป็น Own Channels ของธุรกิจและแบรนด์  ขณะที่ธุรกิจหลักของโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่คอมมิชชั่น  เช่น ธุรกิจหลักของเฟซบุ๊ก คือ โฆษณา  ดังนั้น โซเชียล คอมเมิร์ซ จึงใช้องค์ประกอบ Media, Communication และ Commerce มาตอบโจทย์ตลาดอีคอมเมิร์ซ

sellsuki เซลสุกิ
รูปเว็บไซต์ www.sellsuki.co.th

ท่ามกลางการแข่งขันของมาร์เก็ตเพลสระดับโลกในไทย  เลอทัด  เชื่อว่า โซเชียล คอมเมิร์ซจะไม่หายไปไหน เพราะมีทั้งช่องทางโซเชียล ,ระบบ POS ,ขายผ่านตัวแทน ,เว็บไซต์สำเร็จรูป โดยทุกช่องทางจะไปจบที่ช่องทางการขายของธุรกิจและแบรนด์เอง  เมื่อทุกช่องทางขายถูกรวมเป็นออเดอร์เดียวจะทำให้สินค้าไม่มีสต็อก

นอกจากนี้ยังให้บริการคลังสินค้า เป็นการนำระบบการค้าขายทั้งหมดไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลรวบรวมแชท เป็นช่องทางเดียว การจัดการบิลออนไลน์ รับชำระเงินผ่านบัตรเครดิต โอนผ่านธนาคารเมื่อมีข้อมูลทุกด้าน สามารถนำสร้างแคมเปญเจาะรายกลุ่มลูกค้า  รายงานสถิติพื้นที่ขายดี ลูกค้าประจำ ลูกค้าวีไอพี

ปัจจุบันแพตลฟอร์ม Sellsuki มีร้านค้าใช้บริการกว่า 1,200 ร้านค้า มียอดขายเดือนละ  320 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 340 ออเดอร์ต่อร้าน จากปีก่อนอยู่ที่ เดือนละ 200 ออเดอร์ต่อร้าน จะเห็นได้ว่ายอดขายโซเชียล คอมเมิร์ซไม่ได้ลดลงจากการเข้ามาของมาร์เก็ตเพลส แต่ละร้านค้ายังมีขายได้เพิ่มขึ้น!!

Avatar photo