Economics

เปิดโครงสร้างใหม่กฟผ.ยุบ-รวมปรับลดทุกระดับ 

thumbnail AUU 4426

หลังจากที่ฝ่ายบริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่ากฟผ. ได้ว่าจ้างให้ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส จำกัด ทำการศึกษารูปแบบการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน และอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ล่าสุดฝ่ายบริหารกฟผ. กล่าวว่าการปรับโครงสร้างของกฟผ. จะนำมาใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นโครงสร้างตั้งแต่ระดับรองผู้ว่าการกฟผ.ลงไปจนถึงผู้อำนวยการฝ่าย ส่วนนี้คณะกรรมการกฟผ.ให้ความเห็นชอบไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ส่วนที่2 เป็นโครงสร้างระดับต่ำกว่าฝ่ายลงมาคือ ระดับกองกับแผนก อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าภายในเดือนนี้จะมีความชัดเจน

ภายใต้โครงสร้างใหม่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือจำนวนฝ่ายต่างๆจะลดลงทุกระดับ โดยระดับรองผู้ว่าการจะลดลงจากเดิมมี 12 เหลือ 8  ส่วนระดับฝ่าย เดิมมีเป็น 100 ฝ่ายก็จะลดลง ตามโครงสร้างใหม่จะลดลงโดยเฉลี่ยกว่า 10%

ยุบ-รวมฝ่ายเป้าหมายปรับโครงสร้างรอบนี้

ผู้บริหารกฟผ.อธิบายด้วยว่าระดับต่ำกว่าฝ่ายที่กำลังดำเนินการอยู่เป็นเรื่องของการจัดกลุ่มคนเข้าด้วยกัน อย่างฝ่ายที่ 1 กับฝ่ายที่ 2 เคยทำงานแยกจากกัน ตามโครงสร้างใหม่จะมีการจับมารวมกันแล้วก็เปบี่ยนชื่อใหม่ ขณะที่ฝ่ายที่ 3 ก็จะมีการโยกไปอยู่กับสายงานใหม่ เป็นการจับกลุ่มคน หรือกรุ๊ปคนอยู่รวมกัน

“ตรงนี้ภายในเดือนนี้น่าจะจบ เพื่อที่ว่าก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2561 พนักงานแต่ละคนจะต้องรู้ว่าตัวเองไปอยู่ฝ่ายไหน รวมกับใคร รวมถึงจะได้ทราบถึงจะได้รู้วิธีการทำงานที่แน่ชัด” ผู้บริหาร กล่าวและว่าที่ชัดเจนมากคือจำนวนฝ่ายจะลดลงแน่นอน

 ลดทุกระดับตั้งแต่ฝ่ายบริหาร-ระดับกอง

ทั้งนี้เชื่อว่าโครงสร้างใหม่จะไม่มีปัญหาเรื่องตำแหน่งบุคคล อย่างกรณีของผู้บริหารระดับรองผู้ว่าการกฟผ.เดิมมี 12 คน ของใหม่เหลือ 8 คน เท่ากับว่าหายไป 4 ตำแหน่ง แต่ปีนี้ในตำแหน่งรองผู้ว่าการกฟผ.จะเกษียณไปถึง 5 คน 1 คนขยับขึ้นไปเป็นผู้ว่ากฟผ. เท่ากับตำแหน่งรองผู้ว่าการกฟผ.หายไปถึง 8 คน แต่ตามโครงสร้างใหม่มีได้แค่ 8 คน ฉะนั้นเท่ากับว่าระดับผู้ช่วยสามารถขยับขึ้นมาได้ถึง 2 คน  เช่นเดียวกับฝ่ายต่างๆก็คล้ายๆกัน ยังมีช่องว่างให้ขยับขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างใหม่ในระดับหัวหน้ากองและหัวหน้าแผนก เมื่อดำเนินการเสร็จก็จะทราบว่าอยู่ส่วนไหน ส่วนภารกิจงานบางฝ่ายก็เหมือนเดิมแต่เท่าที่ดูฝ่ายที่เหมือนเดิมจะมีไม่มาก มีประมาณ 1 ใน 3 ส่วน2ใน3 ต้องเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนจ็อบงาน เปลี่ยนรูปแบบให้ชัดเจนมากขึ้น อะไรที่เหลื่อมกันที่ซ้อนกันก็จะมาควบรวมกัน ส่วนงานก็จะโฟกัสมากขึ้น

163834 150250578361862 2242979 n

โครงสร้างใหม่ 5 ปีเหลือ1.5หมื่นคน

ทั้งนี้ตามโครงสร้างใหม่ของกฟผ. ในส่วนของจำนวนบุคคลากรที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 21,000 คน แต่อีก 5 ปีข้างหน้า จะเหลือประมาณ 15,000 คน จำนวนที่เหลือมาจากคนที่เกษียณอายุ และเปิดรับคนใหม่ทดแทนให้น้อยลง อย่างเช่น ถ้ามีคนเกษียณสัก 10 คน  อาจรับทดแทนเพียง1หรือ 2 คน ก็พอ

ผู้บริหารกฟผ.มั่นใจว่าโครงสร้างใหม่ตอนนี้พนักงานและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) มีความเข้าใจและเห็นด้วย เพียงแต่ยังมีผู้ปฎิบัติงานจะต้องรู้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ตัวเองจะต้องไปอยู่สังกัดฝ่ายไหน ตรงไหนมากกว่า ซึ่งเชื่อว่าส่วนนี้ภายในสิ้นเดือนนี้จะรู้ผลแน่นอน

ปรับยุทธศาสตร์การทำงานรับโลกเปลี่ยน

ผู้บริหารกฟผ. บอกด้วยว่าฝ่ายที่มีการปรับเปลี่ยนอย่าง เช่น ฝ่ายวางแผน หรือฝ่ายแผนรัฐวิสาหกิจ ตอ่ไปก็เปลี่ยนเป็นฝ่ายกลยุทธ์ หรือฝ่ายยุทธศาสตร์ แทนที่จะดูเรื่องโรงไฟฟ้า ฝ่ายผลิตอย่างเดียว ก็ต้องมุ่งไปในเรื่องยุทธศาสตร์ด้วย เท่ากับว่างานก็จะกว้างขึ้น การวางแผนระบบไฟฟ้าก็เป็นยุทธศาสตร์ ในเรื่องการผลิตและระบบส่งอยู่แล้ว พอใช้คำว่ายุทธศาสตร์ก็ต้องดูไปด้วยว่า โลกจะเปลี่ยนเป็นอย่างไร เทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร ต้องดูในเรื่องเชิงกลยุทธในเชิงยุทศาสตร์มากขึ้น

ยึดหลักประสิทธิภาพทำงานเกณฑ์ประเมิน

ทั้งนี้เพื่อให้การปรับโครงสร้างองค์กรมีประสิทธิภาพ ต่อไปการประเมินผลก็ต้องทำให้มีความแตกต่างชัดเจน อย่างคนที่ประสิทธิภาพน้อยเทียบกับคนที่ประสิทธิภาพสูง เปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนจะต้องมีความแตกต่างกันชัดเจน

“ที่ผ่านมาบอกตรงๆมันมีความแตกต่างกันไม่มาก ระหว่างคนที่ทำงานเต็มที่กับคนที่ทำงานไม่เต็มที่ จะได้เปอร์เซ็นต์เงินเดือนที่ไม่ค่อยแตกต่างกัน ตรงนี้ต่อไปคนที่เป็นผู้บริหารตั้งแต่หัวหน้าแผนกจนถึงระดับบนต้องให้ความสำคัญ”

34038796 1409595072473864 1939992682713579520 o

ปรับกระบวนการทำงานความท้าทายใหม่

ผู้บริหารกฟผ.ยำ้ด้วยว่าหลังจากปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว ความท้าทายขั้นต่อไปต้องปรับกระบวนการทำงานใหม่  วันนี้ได้ปรับโครงสร้างแล้ว มีบ้านใหม่แล้ว กระบวนการทำงานต้องให้กระชับ ในส่วนของขั้นตอนเดิมเราอาจทำอยู่ 10 ขั้นตอน เราต้องลดให้เหลือ 8 หรือ7ได้ไหม อันไหนไม่จำเป็นก็ต้องยุบหรือควบรวม เพื่อให้การทำงานสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น

สิ่งที่สำคัญกว่านี้ในความทายนั่นคือเรื่องความคิดของคนของพนักงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจ “เราจะทำงานเหมือนในอดีตไม่ได้แล้ว ต้องตื่นตัวต้องเผชิญกับการแข่งขัน ต้องเจอเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ การขายไฟจากโรงไฟฟ้าต่างๆ อาจจะขายได้น้อยลงอันนี้ต้อง แสวงหาหนทางทำอย่างไรให้เราอยู่รอดได้ สิ่งสำคัญคือการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้า”

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight