Marketing Trends

คุยผ่าน ‘โซเชียล’ พุ่งปีละ 7.2 พันล้านข้อความ ‘ไวซ์ไซท์’ จับ 6 กระแสแรง

ไวซ์ไซท์ เปิดสถิติคนไทยคุยกันบนโซเชียลมีเดีย 7.2 พันล้านข้อความ และ 84% ของแบรนด์ใช้โซเชียลมีเดีย 2 แพลตฟอร์มขึ้นไปสื่อสารกับผู้บริโภค พร้อมเผย 6 กระแสมาแรงบนโลกโซเชียลที่นักการตลาดต้องรู้

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลอันดับ 1 ในประเทศไทย จัดงาน Thailand Zocial Awards 2020 ครั้งที่ 8 อย่างยิ่งใหญ่ภายใต้คอนเซ็ปต์ SHIFT: Make it SHIFT เพื่อพานักการตลาดยกระดับการทำงานกับโซเชียลมีเดีย โดยแบ่งงานออกเป็น 2 วัน คือ Forum Day วันที่ 27 กุมภาพันธ์ จัดงานสัมมนาที่รวบรวมแพลตฟอร์มชั้นนำมาขึ้นเวทีมากที่สุดถึง 15 แพลตฟอร์ม และ Awards Day วันที่ 28 กุมภาพันธ์ งานประกาศรางวัลสำหรับคนโซเชียลเพื่อเชิดชูแบรนด์ อินฟลูเอนเซอร์ และบุคคลในวงการบันเทิง

line 23027844439715 1 1024x681 1

นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลอันดับ 1 ในประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้เกิด 6 กระแสหลักที่มาแรงในปีนี้ที่นักการตลาดและแบรนด์ควรเกาะติดเพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อแบรนด์

เริ่มจาก 1. คนไทยมีการใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกันเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาพบว่า จำนวนผู้ใช้งานในโซเชียลมีเดียอยู่ที่ 74% เท่ากับปีที่แล้ว แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือ มีจำนวนข้อความบนโลกโซเชียลสูงถึง 7,200 ล้านข้อความ สูงขึ้นจากปีก่อน 36%

1 15

ในส่วนของแบรนด์ที่ไวซ์ไซท์เก็บข้อมูลจาก 1,399 แบรนด์ พบว่า 84% ของแบรนด์ใช้โซเชียลมีเดียตั้งแต่ 2 แพลตฟอร์มขึ้นไปในการสื่อสารกับผู้บริโภคเพื่อให้สามารถสื่อสารได้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น จาก 4 แพลตฟอร์มหลักได้แก่ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และยูทูป ดังนั้นหากแบรนด์ใช้แพลตฟอร์มเดียวต้องปรับใช้แพลตฟอร์มอื่นๆ ในการสื่อสารบ้าง

ในขณะเดียวกัน เวลาเริ่มใช้มากกว่าหนึ่งแพลตฟอร์ม ต้องใช้คอนเทนต์ที่แตกต่างกัน วิธีการโพสต์ ขนาดรูป เวลาการโพสต์ไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงต้องเน้นการวัดผลที่ดี โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่า มีข้อความถึง 8.5 แสนข้อความที่แบรนด์ส่งออกไปบนโซเชียลมีเดีย เมื่อดูเอนเกจเมนต์หรือกระแสตอบรับของผู้บริโภค จะเห็นชัดเจนว่า คอนเทนต์ใดที่ได้รับเอนเกจเมนต์สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไวรัล หรือโฆษณา

2 11

2.เมื่อจำนวนข้อความเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ในแต่ละแพลตฟอร์มจะมีค่ากลางเพื่อใช้วัดผลการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียว่า มีประสิทธิภาพหรือทำได้ดีพอหรือไม่ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น ในแพลตฟอร์ม YouTube มีค่ากลาง คือ ถ้าได้รับค่าวิว 630,480 วิว จะถือว่าคลิปนั้นมีประสิทธิภาพ และถ้าเจาะลึกลงในกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้านมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมรวมถึงโยเกิร์ต ไอศกรีม ต้องมีค่าวิวถึง 9,074,842 วิว ถึงจะเรียกว่ามีประสิทธิภาพ เป็นต้น

กระแสที่ 3. คือ อินฟลูเอนเซอร์ ที่ก็มีการเปลี่ยนแปลงการนำเสนอเนื้อหา โดยจะเห็นว่าหลายๆ คนมีเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่หมวดหมู่ที่ถูกกำหนดไว้ โดยมากกว่า 97% ของอินฟลูเอนเซอร์มีการนำเสนอเนื้อหาข้ามหมวดหมู่ตั้งแต่ 2 หมวดขึ้นไป เช่น อินฟลูเอนเซอร์หมวดความสวยงามเริ่มหันมานำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือออกกำลังกายมากขึ้น และยังคงได้รับความนิยมสูงจากผู้ติดตาม รวมถึงกระจายเนื้อหาไปได้ในวงกว้างมากขึ้น ทำให้การวัดผลที่ผ่านมาอาจจะไม่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของอินฟลูเอนเซอร์อีกต่อไป

152527

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้แบรนด์อาจพลาดโอกาสในการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมกับแผนการตลาดอย่างแท้จริง ไวซ์ไซท์จึงได้พัฒนามาตรฐานการ วัดประสิทธิภาพของอินฟลูเอนเซอร์ที่พลิกโฉมวงการที่เรียกว่า Influencer Report ซึ่งเป็นการจัดอันดับผลงานของ อินฟลูเอนเซอร์ทั้งตลาดในทุกด้าน เพื่อให้แบรนด์สามารถเลือกอินฟลูเอนเซอร์ได้ตรงกับแผนการตลาดมากขึ้น

4. เพลงลูกทุ่ง มีการเติบโตอย่างรุนแรงและรวดเร็วมากในโซเชียลมีเดียตลอดปีที่ผ่านมา โดยสถิติพบว่า ถ้านำเพลงที่มีวิวเยอะที่สุด 20 เพลงบนยูทูปมาจัดอันดับ จะพบว่า ในจำนวนนี้ 12 เพลง เป็นเพลงลูกทุ่ง และหากนำท็อป 10 ของเพลงลูกทุ่งมาคำนวณประสิทธิภาพ เทียบกับท็อป 10 ของเพลงประเภทอื่นทั้งหมดในยูทูปรวมกัน จะพบว่า เพอร์ฟอร์มานซ์ของเพลงลูกทุ่งยังสูงกว่าเพลงทั้งหมดบนยูทูป 12%

 

นอกจากนี้ยังพบว่า ศิลปินเพลงลูกทุ่ง เพิ่มขึ้นถึง 480% ดังนั้น นักการตลาดหรือแบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงลูกค้าที่เป็นแมสหรือวงกว้างมากๆ ทั่วประเทศ และมีการใช้งานสูง เพลงลูกทุ่งน่าจะเป็นโอกาสของนักการตลาดและแบรนด์

152516

5. ด้านมืดของโซเชียลมีเดีย ท่ามกลางการใช้งานโซเชียลมีเดีย ที่มีทั้งเรื่องไม่ดี ซึ่งจากการเก็บสถิติข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า มี 3 สถิติที่น่าเป็นห่วงบนโลกโซเชียลมีเดีย ได้แก่

  • มีถึง 1.2 แสนข้อความที่พูดถึงการพนัน และการซื้อบริการที่เกี่ยวกับการพนันบนโซเชียลมีเดีย
  • มีถึง 7.75 แสนข้อความ ที่พูดถึงการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หรือ บูลลี่ คนส่วนใหญ่ที๋โดนบลูลี่ คือเด็กและเยาวชน
  • มีถึง 1.3 ล้านข้อความที่พูดถึงการขายบริการทางเพศอย่างเปิดเผย และเป็นสาธารณะ พร้อมราคา

152529

กระแสที่ 6.การวัดผลที่ดีขึ้นจากโซเชียล ลิสเทนนิ่ง (Social Listening) เป็นสิ่งที่ไวซ์ไซท์ ให้ความสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลให้ลึกขึ้นเพื่อค้นหาความต้องการที่ซ่อนอยู่บนโลกโซเชียลของผู้บริโภคผ่านการทำงานและเครื่องมือต่างๆ ที่มีให้บริการอยู่

ในปีนี้ สิ่งที่แบรนด์ควรจะต้องให้ความสำคัญคือ การฟังเสียงของลูกค้าเพื่อรู้ให้ทันโลก และสามารถปรับตัวได้ทันกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น รวมถึงต้องมองภาพรวมให้รอบด้าน เพื่อประเมินสถานการณ์และคู่แข่ง สุดท้ายคือควรเลือกใช้เครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประหยัดเวลาในการทำงาน และวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที

Avatar photo