Business

GC เดินหน้าลงทุนแผน 5 ปี 2 แสนล้าน มั่นใจไวรัส COVID-19 เป็นปัจจัยลบระยะสั้น

GC เดินหน้าลงทุนแผน 5 ปี วงเงิน 2 แสนล้านบาท  มั่นใจไวรัส COVID-19 จบไตรมาส 2 เน้นบริหารความเสี่ยง-ลดต้นทุน กระจายตลาด มุ่งเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ และเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม 30% ปี 2573   

S 7798948

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) GC กล่าวว่าสถานการณ์โรคไวรัส COVID-19 ที่กำลังระบาดในขณะนี้ เชื่อว่าเป็นเรื่องระยะสั้น และผลิตภัณฑ์ของเราเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่กำไรลดลง จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดต่ำลง

มาตรการหลักๆของ GC คือการทำให้บริษัท LEAN มากขึ้น ด้วยการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และบริหารความเสี่ยง โดยปัจจุบันตลาดหลักของเรา อยู่ในประเทศไทย 50% ที่เหลือส่งออกไป จีน 20% โดยปัจจุบันปรับลดลง 1-2% และส่งออกไปประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก 20% ขณะเดียวกันก็ปรับให้ยืดหยุ่นพอสมควร โดยมองตลาดใหม่ๆ ทั้งเวียดนาม และอินโดนิเซีย ทั้งนี้มีความเชื่อว่าการระบาดของไวรัสจะจบลงไม่เกินไตรมาส 2

“เราประเมินไว้ว่าราคาผลิตภัณฑ์น่าจะลดลงต่ำสุดเมื่อปลายปี 2562 แต่มีปัจจัยไวรัส COVID-19 เข้ามา เป็นปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้ ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมเป็นปัญหา หากปัญหานี้จบได้ ทุกอย่างก็จะกลับมาดี ซึ่งคาดว่าจะเป็นครึ่งหลังของปี ดังนั้นปีนี้ทั้งปี คาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 10% ส่วนค่าการกลั่นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4-5 ดอลลาร์ จากปี 2562 อยู่ที่ 3.8 ดอลลาร์  “

สำหรับการลงทุนของ GC ซึ่งเป็นภาพที่ต้องมองระยะยาว ยังเดินหน้าต่อ โดยวางงบลงทุนระยะ 5 ปี ( 2563-2567) ไว้รวม 2 แสนล้านบาท หรือลงทุนปีละ 30,000-40,000 ล้านบาท ในส่วนของปี 2563 มีโครงการหลักๆ ประกอบด้วย

  • โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration Project (ORP) เพื่อขยายกำลังการผลิต ผ่านการลงทุนใน Naphtha Cracker เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบของบริษัท และต่อยอดธุรกิจปลายน้ำ ด้วยกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตันและโพรพลีน 250,000 ตัน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คืบหน้าแล้ว 85 % เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 มูลค่าโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท
  • โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide :PO) และ โครงการโพลีออลส์ (Polyols) เพื่อผลิตโพรพิลีน ออกไซด์ (PO) 200,000 ตันต่อปี และผลิตภัณฑ์โพลีออลส์ (Polyols) 130,000 ตันต่อปี มีมูลค่าโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท

โดยทั้ง 2 โครงการ เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์โพรพิลีน ไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายทางสายโพลียูรีเทน (Polyurethane) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์ High Value Business (HVB) ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คืบหน้าไปแล้ว 85 % คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563

  • โครงการร่วมลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงใน 2 โครงการ ได้แก่ PA9T 13,000 ตัน/ปี และ HSBC 16,000 ตัน/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการขยายธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายเกรดพิเศษ เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) และ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด (KGC) มูลค่าโครงการประมาณ 15,000 ล้านบาท
  • โครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเทเรฟเทเลท (Polyethylene Terephtalate: PET) ขยายการผลิต PET จาก 147,000 ตันต่อปี เป็น 200,000 ตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564
  • โครงการ HMC PP Line Expansion กำลังการผลิต เม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีน 250,000 ตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565

สำหรับโครงการพลาสติกรีไซเคิล เป็นส่วนหนึ่งของแนวทาง GC Circular Living มีวัตถุประสงค์ ในการนำบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว มาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการรีไซเคิล ได้เม็ดพลาสติกคุณภาพสูงระดับ Food-Grade และ Packaging-Grade

โดยร่วมมือกับพันธมิตร แอลพลา (ALPLA) ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับโลก ตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO Limited) ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย มาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูง ชนิด rPET ขนาด 30,000 ตันต่อปี และ rHDPE ขนาด 15,000 ตันต่อปี เริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 2563 คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2564 มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท

ส่วนโครงการศึกษาการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ ( US Petrochemical Complex ) ดร.คงกระพัน กล่าวว่า ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ตามเป้าหมายให้สหรัฐเป็นบ้านหลังที่ 2 ( Second Home Base)ของบริษัทฯ ซึ่งโครงการดังกล่าว มีความได้เปรียบด้านความสามารถในการแข่งขันทางด้านวัตถุดิบ โดยมีแหล่งวัตถุดิบอีเทน (Ethane) ทำให้มีต้นทุนต่ำ คาดว่าจะสรุปได้ในช่วงกลางปี 2563 เพื่อตัดสินใจในการดำเนินโครงการดังกล่าว จากปัจจุบันที่มีการลงทุนในสหรัฐอยู่แล้วกว่า 500-600 ล้านดอลลาร์

ปัจจุบันอยู่ในระหว่างพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ของโครงการ ซึ่งจะมีกำลังการผลิต เอทิลีน 1.5 ล้านตันต่อปี HDPE/LLDPE/mLLDPE 1.6 ล้านตันต่อปี ส่วนเม็ดเงินลงทุนอยู่ระหว่างการประเมิน โดยเราจะให้สหรัฐเป็นฐานในการทำงานของเรา และมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการ( M&A)ในหลายประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะในสหรัฐเท่านั้น

IMG 20200226 154904

สำหรับการลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ( Single-use plastics) ดร.คงกระพัน ย้ำว่า เรากำลังเดินหน้าลดกำลังผลิตให้เหลือศูนย์ภายในปี 2565 ทำให้เราไม่ได้รับผลกระทบจากการที่จีนจะแบนพลาสติกประเภทดังกล่าว โดยตลาดจีนนั้น ในปี 2562 GC มียอดขายเม็ดพลาสติก โพลิเอทิลีน (PE) ประมาณ 620,000 ตันต่อปีจำนวนนี้เป็น HDPE ประมาณ 186,000 ตันต่อปี โดยเป็น HDPE Film ประมาณ 76,000 ตันต่อปี

ทั้งนี้ GC มีเป้าหมายจะยกเลิกการผลิต HDPE Film for Single-use plastics ให้หมดภายในปี 2565 โดยเราลดมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 จากผลิตอยู่ 1.5 ล้านตัน ปัจจุบันเหลือ 90,000 ตันต่อปี ขณะเดียวกันก็ช่วยลูกค้าของเราพัฒนาและวิจัยอย่างต่อเนื่อง

และวางแผนขยายตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Product: HVP) ในช่วงปี 2565-2568 เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาค CLMV ที่มียอดขายมากกว่า 250,000 ตันต่อปี

รวมถึงหันมาผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพมากขึ้น ทั้ง PLA และ PBS แต่ยอมรับว่าเดินเครื่องได้จำกัด เพราะกรดซัคซินิค สารตั้งต้นในการผลิตไม่เพียงพอ เนื่องจากในโลกมีผู้ผลิตเพียง 2-3 บริษัทเท่านั้น ขณะที่ความต้องการพลาสติกชีวภาพมีมากขึ้น

ทางด้านของโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2 ซึ่งเป็นการต่อยอดเอทานอล สู่อุตสาหกรรมไบโอเคมิคอลและไบโอพลาสติก GC การเจรจาต่อรองกับ บริษัท เนเจอร์เวิร์ค จากสหรัฐ เพื่อเข้ามาตั้งโรงงาน PLA แห่งที่ 2 ในประเทศไทยยังไม่จบ โดยเราพยายามทำให้ประเทศไทยน่าสนใจลงทุนมากที่สุด เพราะต้องการให้ต่างประเทศมาลงทุนในไทย

ทั้งนี้ GC มีเป้าหมายที่จะมีผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ และผลิตภัณฑ์เคมี เพื่อสิ่งแวดล้อม (Performance & Green Chemical) เพิ่มเป็น 30% ภายในปี 2573 

 

Avatar photo