Sme

แนะเอสเอ็มอี ‘ตีตลาดใหม่-ขายออนไลน์’ รับมือสหรัฐตัดสิทธิ ‘จีเอสพี’

ดีไอทีพี ดีเอฟที และ EXIM โชว์ 4 มาตรการเพิ่มความอุ่นใจ รับมือสหรัฐตัดสิทธิ “จีเอสพี” แนะผู้ประกอบการเร่งขยายตลาดใหม่ ควบคู่บุกออนไลน์เจาะต่างประเทศ

ดร. สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเสวนา “ตัดสิทธิ GSP : SMEs รับมืออย่างไร?” ว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2562 มีมูลค่า 482,884 ล้านดอลลาร์  โดยสหรัฐ ถือว่าเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย โดยเป็นคู่ค้าลําดับที่ 3 ด้วยมูลค่าการค้ารวม 48,649 ล้านดอลลาร์  หรือคิดเป็น 10% ของการส่งออกไทย

สินค้าเครื่องจักรยนต์

จากการที่สหรัฐประกาศตัดสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP : Generalized System of Preferences) กับประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายน 2563 จำนวน 573 รายการ จากสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ทั้งหมด 3,500 รายการ คาดว่า จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ ลดลงประมาณ 28-32 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ การที่ไทยถูกตัดสิทธิ์ GSP ดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ต้นทุนส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 50 ล้านดอลลาร์  เนื่องจากถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นเฉลี่ย 4.5% โดยสินค้าสำคัญที่ถูกระงับสิทธิ GSP อาทิ มอเตอร์ไซค์ แว่นสายตา เครื่องจักรกลและ อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้หารือเพื่อจัดตั้งคณะทำงานภายในกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ และร่วมกับหน่วยงานภายนอก คือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM Bank of Thailand) รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
สมเด็จ สุสมบูรณ์

ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกไทยให้สามารถรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปของกรณีที่สหรัฐประกาศเตรียมยกเลิกสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี ภายใต้ระบบ GSP กับประเทศไทยให้เข้าใจอย่างละเอียด

ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังได้วางมาตรการรับมือ 4 รูปแบบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

  • เร่งกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าไทย รวมถึงสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิจีเอสพี ในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยมีตลาดเป้าหมายในปีนี้ ได้แก่ ตลาดจีน, อินเดีย, กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี, กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง, กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ซึ่งยังมีศักยภาพและพร้อมต้อนรับสินค้าไทย

สินค้าอิเล็คทรอนิกส์

  • ผลักดันผู้ประกอบการไทย ให้สามารถใช้ประโยชน์จากการค้าออนไลน์เป็นช่องทางลัด ในการขยาดตลาดสู่ต่างประเทศ ผ่าน Thaitrade.com รวมถึงเร่งเปิด Top Thai Flagship Store ร้านขายสินค้าไทยบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของจีน อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความนิยมของสินค้าไทยในตลาดซื้อขายออนไลน์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนสินค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้สามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วขึ้น
  • ให้ความรู้กับผู้ประกอบการผ่านการเสวนา อบรม ด้วยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงแนะนำข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและต้องการหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐ รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยทราบถึงมาตรการภาครัฐ รวมถึงมาตรการด้านสินเชื่อต่างๆ จากธนาคารภาครัฐ

สินค้ามอเตอร์ไซค์

  • พัฒนาและเพิ่มมูลค้าสินค้า ด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการตลาดอย่างต่อเนื่อง เน้นการตอบสนองต่อความต้องการของพฤติกรรมของผู้ซื้อในแต่ละประเทศ ตอบสนองต่อกระแสตลาดโลก อาทิ สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าเพื่อสุขภาพ และสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าเฉพาะ(Niche Market)

นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เปิดเผยว่า การจัดเสวนา “ตัดสิทธิ GSP : SMEs รับมืออย่างไร?” เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐได้มีการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ หรือธุรกิจที่ได้รับและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ได้มีโอกาสรับฟังถึงปัญหาสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขและรับมือร่วมกันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้กระทบกับภาคธุรกิจและภาคเศรษฐกิจของประเทศ

นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผอ.สถาบัน NEA
นันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์

“ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างไทย- สหรัฐ และสถานการณ์การค้าโลกเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ทันกับบริบทต่าง ๆ พร้อมนำมาปรับใช้ในทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง” นายนันทพงษ์ กล่าว

Avatar photo