COLUMNISTS

‘โค้ช’ ให้คิด

Avatar photo
Consulting Partner สลิงชอท กรุ๊ป
457

จริงไหม คนส่วนใหญ่ชอบฟังคำตอบมากกว่าต้องตอบคำถาม เพราะการฟังใช้พลังงานน้อยกว่าการตอบ

ลองมาฟังตัวอย่าง 2 ประโยคนี้ซิครับ แบบไหนต้องใช้พลังงานเยอะกว่ากัน

“ปัญหาที่ยอดขายตกเป็นเพราะตลาดเก่าไม่เวิร์คต้องเพิ่มตลาดใหม่” หรือ “ปัญหาอะไรที่ทำให้ยอดขายตกและจะแก้ไขอย่างไร”

ประโยคแรกมีคำตอบชัดเจนว่า สาเหตุที่ยอดขายตกคืออะไรและจะแก้ไขอย่างไร เราแทบไม่ต้องคิด แต่ประโยคที่สองต้องใช้ความคิดมากกว่า

japanese 1206509 640

แม้ว่าการตอบคำถามต้องใช้ทั้งพลังงานสมอง และเวลาในการคิด แต่ถ้าเรา ฝึกใช้ความคิดอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้คิดเร็วขึ้น และ คนที่คิดเร็วกว่า ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่คิดช้าหรือไม่เคยคิด

ดังนั้นถ้าคุณอยู่ในฐานะลูกน้อง ต้องดีใจที่มีเจ้านายชอบถามให้เราคิด แต่ถ้าคุณเป็นหัวหน้า ต้องหัดตั้งคำถามให้เขาคิดมากกว่าบอกให้เขาฟัง

สำหรับเครื่องมือในการถามให้คิดที่มีประสิทธิภาพ ก็คือ โค้ชชิ่ง (Coaching) นั่นเอง และอาจพูดได้ว่า โค้ชชิ่ง คือ เครื่องมือในการโค้ชให้คิด

แน่นอนครับ! โค้ชชิ่งจะเป็นประโยชน์แก่ลูกน้องโดยตรง หากหัวหน้าใช้เป็นประจำ

คราวนี้มาดูกันว่า โค้ชให้คิด ช่วยอะไรลูกน้องบ้าง

  • ช่วยให้ผู้ถูกโค้ช มีมุมมองที่กว้างขึ้น (Expand Awareness) เพราะคนส่วนใหญ่มักจะรู้ลึกในงานที่ตนเองทำ ซึ่งจะทำให้รู้แคบ เนื่องจากคุ้นเคยและเชี่ยวชาญเฉพาะงานที่ทำ ดังนั้นการมีโค้ชจะช่วยให้เขาเห็นมุมมองอื่นๆ ซึ่งโค้ชชิ่งจะทำให้คนบางคน มองเห็น Strength และ Weakness ของตัวเองด้วย
  • ช่วยให้ผู้ถูกโค้ชสามารถ ค้นหาทางออกของปัญหาได้ดีกว่าเดิม (Discover Superior Solutions) เพราะมีคนมาชวนคิด ถ้าคิดคนเดียวอาจคิดไม่ออก เนื่องจากคิดจาก pattern เดิมๆที่ตัวเองเคยชิน หรือคิดจากประสบการณ์เดิมที่เคยเจอ แต่พอมีคนมาตั้งคำถามใหม่ ๆ ให้คิด ผู้ถูกโค้ชจะเริ่มฉุกคิด เพราะต้องคิดหาคำตอบจากคำถามที่ตัวเองไม่เคยคิดจะถามตัวเองมาก่อน
  • ช่วยให้ผู้ถูกโค้ช มีการตัดสินใจได้ดีขึ้น (Make and Implement Better Decisions) และช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะมีโค้ชมาคอยติดตามดูแลอย่างสม่ำเสมอ

เอาล่ะครับ เมื่อเห็นประโยชน์ของการโค้ชให้คิดแล้ว ลองใช้กับลูกน้องที่นั่งอยู่ข้างๆ ได้เลยครับ