Economics

‘ทางหลวง’ รับเทคโนโลยี ‘เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา’ เล็งนำร่องโปรเจ็คแรก จ.ชัยภูมิ

“กรมทางหลวง (ทล.)” เป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับว่า มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านถนนเป็นอย่างดี เห็นได้จากผลงานการพัฒนาทางหลวงและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สารพัดโปรเจ็ค ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงยังไม่คุ้นเคยกับการก่อสร้างถนนด้วยวิธี เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับสูงมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องร่วมมือกับมิตรประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับหน่วยงานและประเทศไทย

page
อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย (ซ้าย)     ปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล (ขวา)

อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย” รองอธิบดีกรมทางหลวง และ “ปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล” ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ร่วมกันให้ข้อมูลว่า กรมทางหลวงเตรียมขอให้ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA)” เข้ามาช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีการขุด เจาะอุโมงค์ เป็นระยะเวลา 3 ปี เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เรายังไม่เชี่ยวชาญ โดยทางญี่ปุ่นจะเริ่มส่งบุคลากรเข้ามาสอนกรมทางหลวง ในด้านการออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทะลุภูเขาในปลายปีนี้

ขณะเดียวกันกรมทางหลวงก็ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เพราะเทคโนโลยีการระบายอากาศในอุโมงค์มีหลายรูปแบบ เช่น เจาะปล่อง หรือ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในอุโมงค์ ซึ่ง JICA ก็ต้องสอนเราออกแบบและก่อสร้างเช่นกัน โดยกรมทางหลวงจะนำองค์ความรู้ที่ได้รับ ไปทดลองโปรเจ็คนำร่อง 1 แห่งก่อน แล้วจึงพัฒนาโปรเจ็คที่มีขนาดใหญ่ขึ้นต่อไป

“เรากำลังเลือก Pilot Project กันอยู่และจะสรุปกันปลายปี ตอนนี้เล็งไว้ที่ทางหลวงหมายเลข 225 เขาพังเหย จังหวัดชัยภูมิ เพราะเส้นทางมันเล็กกำลังดี อุโมงค์สั้นประมาณ 1 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนแพงกว่าทางยกระดับนิดหน่อย เป็นประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ส่วนจะทดลองจริงเมื่อไหร่ ยังเป็นเรื่องของอนาคต”

เจาะอุโมงค์

ที่ผ่านมา กรมทางหลวงเคยสร้างอุโมงค์บริเวณ ทางหลวงหมายเลข 304 เส้นทางกบินทร์บุรี-ปักธงชัย (ทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลก) แต่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขุด เจาะอุโมงค์ ทะลุภูเขา โดยครั้งนั้นใช้วิธีก่อสร้างโครงสร้างเหนือพื้นดิน แล้วนำดินไปถมทับโครงสร้างและจำลองสภาพแวดล้อมให้เหมือนป่า เพื่อให้สัตว์ป่าสามารถเดินข้ามไปมาระหว่างผืนป่า 2 ฝั่งถนนได้ หรือเรียกว่าเป็น อุโมงค์เทียม

แต่ในอนาคต กรมทางหลวงมีโปรเจ็คจะขุด เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา ขนาดใหญ่ ระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร ในโครงการ มอเตอร์เวย์ แหลมฉบัง – ปราจีนบุรี – นครราชสีมา เนื่องจากโครงการมอเตอร์เวย์ไม่มีรถขนาดเล็กใช้บริการ จึงสามารถก่อสร้างเป็นอุโมงค์ขนาดยาวได้

โดยโครงการมอเตอร์เวย์ เส้นทางแหลมฉบัง – ปราจีนบุรี – นครราชสีมา นับเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ด้านทิศใต้ และเป็นเส้นทางออกทะเลที่ใกล้ที่สุดของอีสาน

fig 24 02 2020 06 49 26

เบื้องต้น โครงการดังกลาวจะแบ่งออกเป็น 2 เฟส คือ เฟสที่ 1 ช่วงแหลมฉบัง – ปราจีนบุรีะยะทางประมาณ 130-140 กิโลเมตร งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการออกแบบ มีความคืบหน้าไปแล้วราว 50% หรือประมาณ 60-70 กิโลเมตร และจะเสนอของบประมาณประจำปี 2564 เพื่อออกแบบเพิ่มเติมอีก 60-70 กิโลเมตรให้แล้วเสร็จ

ส่วนเฟสที่ 2 ช่วงปราจีนบุรี – นครราชสีมา เป็นโครงการในอนาคตที่ยังไม่เริ่มออกแบบ โดยแนวเส้นทางจะพาดผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จำเป็นต้อง เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา ระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร เพราะเส้นทางขึ้นภูเขาในปัจจุบันชันมาก มีรถบรรทุกเยอะและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแต่ละครั้ง ก็จะทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องไปอ้อมเส้นทางอื่น ที่มีระยะไกล แต่ถ้าพัฒนาอุโมงค์ขึ้นมา ก็จะทำให้ถนนมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างละเอียดด้วย

“หากโครงการสามารถพัฒนาได้ครบทั้ง 2 ระยะ กรมทางหลวงมั่นใจว่า จะเป็นมอเตอร์เวย์เส้นสำคัญของประเทศ สนับสนุนการขนส่งสินค้า เป็นประตูสู่อีสาน และทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างอีสานและภาคตะวันออก ใช้เวลาลดลงจาก 5.30 ชั่วโมง เหลือ 3.30 ชั่วโมง”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo