General

มอบองค์การเภสัช นำเข้ายา ‘ฟาวิลาเวียร์’ จากจีน รักษาผู้ป่วยหนัก COVID-19

สาธารณสุข ประสานองค์การเภสัช นำเข้ายา “ฟาวิลาเวียร์”  รักษา COVID-19 จากจีนเพิ่ม สำรองรักษาผู้ป่วยอาการหนัก  เผยข่าวดี ผู้ป่วยคนไทย หายกลับบ้านได้แล้วอีก 1 รายวันนี้ แนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงเดินทางไปประเทศที่มีรายงานระบาด  ย้ำหากจำเป็นเดินทาง ต้องป้องกันตนเอง ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก 

DSC 8246

ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ และสาธารณสุข รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563

1. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 15 ราย กลับบ้านแล้ว 20 ราย รวมสะสม 35 ราย

2. ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 21 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,252 ราย คัดกรองจากสนามบิน 60 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 1,192 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,006 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 246 ราย

3. สถานการณ์ทั่วโลกใน 30 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 22 กุมภาพันธ์ 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 77,286 ราย เสียชีวิต 2,252 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 75,903 ราย เสียชีวิต 2,237 ราย

2. มีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้อีก 1 รายวันนี้

DSC 8227

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.ณรงค์ อภิกุลวณิชย์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประจำวันนี้

นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข มีข่าวดี วันนี้มีผู้ป่วยยืนยันกลับบ้านได้เพิ่มอีก 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 24 ปี รักษาที่โรงพยาบาลชลบุรี ซึ่งเป็น 1 ในกลุ่มไทยกลับบ้าน 138 คน

ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันรักษาหายกลับบ้านแล้ว 20 ราย เหลือนอนในโรงพยาบาล 15 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 35 รายเท่าเดิม ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม ส่วนใหญ่อาการดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่ใช้เครื่องเอคโม (ECMO) หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด และรายที่เป็นวัณโรคร่วมด้วย อาการคงที่ ยังอยู่ในห้องไอซียู ทีมแพทย์ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด

สำหรับขณะนี้ประเทศไทย ได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครบ 50 วัน เริ่มคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563  ซึ่งในขณะนั้น ยังไม่มีรายงานการระบาดจากคนสู่คน

จึงขอให้ประชาชนมั่นใจระบบเฝ้าระวังควบคุมโรคของไทย ซึ่งยังเข้มมาตรการต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน และเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่เริ่มการคัดกรองทุกสนามบิน ที่มีเที่ยวบินตรง มาจากเมืองที่มีการระบาด ทำให้ตรวจพบผู้ป่วยยืนยันนอกประเทศจีนรายแรกของโลก

โดยรัฐบาลได้ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการระดับประเทศ และคณะกรรมการอำนวยการโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนบูรณาการความร่วมมือพหุภาคี เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เตรียมความพร้อมรับมือหากเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการระบาดในวงกว้างในประเทศ  แม้ว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังอยู่ในระยะที่ 2 ก็ตาม

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงาน เข้มมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทาง ทั้งที่ท่าอากาศยาน ท่าเรือ ด่านพรมแดนทางบก รวมทั้งการเฝ้าระวังในประเทศ เน้นใน 8 จังหวัดท่องเที่ยว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ภาพรวมความเสี่ยงในประเทศขณะนี้ยังต่ำมาก อย่างไรก็ตามยังคงต้องเฝ้าระวังควบคุมสถานการณ์อย่างเต็มที่ เพื่อให้ยืดระยะเวลา ที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากออกไปให้นานที่สุด

สิ่งสำคัญ คือความร่วมมือ และความเข้าใจของคนไทย จะต้องไม่ตื่นตระหนก ไม่เชื่อข่าวลวง งดแชร์ข้อมูลที่เป็นเท็จที่แชร์ต่อกันมา ให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์ ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหรือไม่ ก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้

โดยหากมีไข้ร่วมกับอาการไอ จาม มีน้ำมูก ต้องพักอยู่ที่บ้าน สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปพบแพทย์ ผู้ที่ไม่ป่วย ขอให้หลีกเลี่ยง การอยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ล้างมือบ่อย ๆ หลังสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ ไม่นำมือมาสัมผัสใบหน้า จมูก ปาก

สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่นคนทำงานใกล้ชิดนักท่องเที่ยว ให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง หากมีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ จาม มีน้ำมูก ให้รีบไปพบแพทย์

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดอย่างต่อเนื่องตามประกาศขององค์การอนามัยโลก ควรปฏิบัติตน ดังนี้

1. ก่อนการเดินทาง ขอให้หาข้อมูลสถานการณ์การระบาดของประเทศปลายทาง โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค หรือองค์การอนามัยโลก หากไม่จำเป็น ขอให้พิจารณาหลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการเดินทางไปยังประเทศ ที่มีการระบาดต่อเนื่อง ตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศ แต่หากจำเป็นต้องไปขอให้เตรียมความพร้อม เรื่องการป้องกันตนเอง เช่น เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากอนามัย และศึกษาคำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อ

2.ระหว่างการเดินทาง ขอให้ระมัดระวังตนเองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเข้าไปในพื้นที่ ที่มีคนรวมกันอยู่จำนวนมาก หรือที่สาธารณะ ขอให้หมั่นล้างมือ อย่าขยี้ตา แคะจมูก ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน หากเจ็บป่วยให้ประสานขอความช่วยเหลือกับสถานทูต

6 มาตรการผู้เดินทาง แก้ไขค่ะ2

3. เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ไม่มีนโยบายการกักตัวผู้เดินทางที่สนามบิน แต่มีมาตรการการตรวจคัดกรอง และการเฝ้าระวังต่อเนื่องจนครบ 14 วัน หากมีอาการป่วยระหว่างเข้าประเทศ จะถูกแยกตัวไว้ เพื่อตรวจวินิจฉัย และส่งไปที่โรงพยาบาลที่กำหนด

แต่หากไม่มีอาการป่วย จะได้รับบัตรคำเตือนสุขภาพพกติดตัวไว้ เมื่อกลับบ้านแล้ว มีอาการสงสัยป่วย ขอให้สวมหน้ากากอนามัย วัดไข้ทุกวัน ไม่ใช่ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้ขนส่งสาธารณะ หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ แจ้งประวัติการเดินทาง หรือโทรสายด่วน กรมควบคุมโรค 1422

กรณีที่หลายหน่วยงาน มีการออกคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานตนเดินทางไปประเทศที่พบการระบาดของโรคนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เป็นความห่วงใยแต่ละหน่วยงาน โดยกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ไม่ได้ห้ามเจ้าหน้าที่ในสังกัดเดินทางไปต่างประเทศ แต่ขอให้พิจารณาชะลอ หรือเลื่อนการเดินทางในช่วงนี้ไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากร

3.ข้อแนะนำประจำวัน ในการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ทั้งนี้ขอความร่วมมือประชาชน ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น สวมหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่สะอาดเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ผู้ป่วยและผู้ที่มีอาการ ไอ จาม ควรใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ สำหรับหน้ากากอนามัยประเภท N95 จะใช้ในเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาใกล้ชิดกับผู้ป่วย

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่ายินดี ที่จีนได้ผลิตยาต้านไวรัส “ฟาวิลาเวียร์” ได้ ซึ่งเราก็นำยาเข้ามาแล้ว ก่อนรู้ว่าจะได้ผล โดยได้คุยกับอาจารย์หลายฝ่าย และตัดสินใจนำเข้ามา ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรม ติดต่อประสานนำเข้ายาชนิดนี้ เข้ามาในจำนวนมากขึ้น ให้เพียงพอดูแลคนไทยต่อไป แต่ไม่ได้ใช้กับผู้ป่วยทุกราย เพราะส่วนใหญ่หายได้ แต่จะใช้กับคนไข้ที่มีอาการมาก รวมถึงคนไข้อาการหนัก รวม 3 คน ซึ่ง 1 คนตอบสนองดี แต่คนไข้อีก 2 คนที่เป็นคนไข้หนัก เราเริ่มให้ยาตอนเขามีอาการหนักมากแล้ว

22 กพ 63

Avatar photo