Opinions

อย่าปล่อยผู้ประกอบการโขกดอกเบี้ยโหดลอยนวล!!

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK
13

กรณีการยกร่างพ.ร.บ.การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน และให้มีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่มากำกับดูแลโดยเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป

เพื่อดูแลการให้บริการทางการเงินมีคุณภาพ และเป็นธรรมแก่ประชาชนนั้น

แนวคิดดังกล่าวได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการทุกราย

ที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนจากทางการให้ผู้ประกอบการสินเชื่อห้องแถว ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 500 ราย ทั่วประเทศ มีสาขารวมกันไม่น้อยกว่า 5,000 สาขา และมีฐานลูกค้าที่มาใช้บริการไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน ครอบคลุมวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท

แต่ยังมี “ช่องโหว่” ทางกฎหมาย ทำให้มีบางแห่งคิดอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมสูงเกินไป สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับชาวบ้าน และเป็นที่มาของการเข้ามาดูแลของหน่วยงานราชการ

ผ่านการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งจากระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่น สินเชื่อ พิโกไฟแนนซ์ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขในการกู้ยืม ตั้งแต่ 28-36 %

แม้จะมีความพยายามจากทั้งกระทรวงการคลัง และธปท. ในการเข้ามาดูแลสินเชื่อในระดับ “รากหญ้า” เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

แต่ต้องเข้าใจถึงข้อจำกัด และเงื่อนไขต่างๆ ที่ทางการเป็นผู้กำหนด ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการอีกจำนวนมาก

อีกทั้งยังไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ต้องการใช้เงิน เช่น

-ห้ามผู้ประกอบการทำธุรกิจข้ามจังหวัด

-ห้ามเรียกหลักประกันกันจากลูกค้า

-ห้ามระดมทุนจากมหาชน

-ห้ามใช้รถจักรยานยนต์ , รถยนต์ , รถเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกัน

รวมไปถึงวงเงินที่กำหนดให้ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน การเรียกดอกเบี้ย และค่าบริการไม่ได้แยกระหว่างลูกค้าที่มีประวัติการชำระดี และลูกค้าค้างชำระ แต่คิดแบบเหมารวม

ทำให้เห็นว่า..มาตรการหรือเครื่องมือต่างๆที่ทางราชการประกาศออกมา "ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชน"

ดังนั้นจึงมีสินเชื่อห้องแถวอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ยังคงประกอบธุรกิจให้กู้ยืมแก่ประชาชน โดยผู้ที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าว มีทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและบริษัทที่เป็นลูกของธนาคารพาณิชย์โดยคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมน้อยกว่า หรือเท่ากับที่ทางราชการกำหนด คือ ระหว่าง 23-36 %

เมื่อความต้องการของชาวบ้านที่อยากได้สินเชื่อ กลับไม่ได้รับการตอบสนองจากนโยบาย และเครื่องมือของรัฐบาลที่ได้มา จึงทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้น ทำธุรกิจได้โดยไม่มีใบอนุญาต

ดังนั้น การที่รัฐบาลมีความคิดที่จะเข้ามากำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อนอนแบงก์ทั้งที่มีใบอนุญาตอยู่แล้ว และที่ยังไม่มีใบอนุญาตเหล่านี้ให้เข้าสู่ระบบ โดยการให้บริการที่ไม่เอาเปรียบลูกค้า จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งผู้ประกอบการเองก็อยากให้มีใครมากำกับดูแล จะได้ปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ

สิ่งที่ทางการสามารถทำได้ นอกจากกำกับดูแล แล้วควรจะเพิ่มบทบาทอย่างน้อย 4 เรื่อง คือ

กำกับ ทางการควรเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์กติกาให้ชัดเจน ดูแล เมื่อกำหนดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขทั้งดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม วงเงินสินเชื่อ หลักประกันที่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภคแล้ว ทางการควรมีหน้าที่ดูแลให้ผู้ประกอบการทุกรายปฏิบัติอยู่ภายใต้กรอบเดียวกัน

แก้ไข เงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ที่ทางการกำกับ อาจจะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทางการก็ควรจะเข้ามาแก้ไข

ปรับปรุง ให้เป็นไปตามสภาพที่เป็นจริง เช่น การกำกับว่าได้คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15 %โดยไม่มีค่าธรรมเนียมหรือค่าติดตาม ในทางปฏิบัติ ทำได้หรือไม่ และถ้าทำไม่ได้ก็ควรจะมากำหนดอัตราที่เหมาะสมและให้ทุกคนถือปฏิบัติเหมือนกัน

ควบคุม หลังจากได้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆแล้ว ก็ควรจะได้เข้ามาควบคุมดูแลให้ทุกฝ่ายปฏิบัติเหมือนกัน เพื่อประโยชน์กับผู้บริโภค

ไหนๆ ก็จะยกเครื่องการกำกับดูแลสินเชื่อห้องแถวทั้งที ผ่านการออก พ.ร.บ.เข้ามากำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน และคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ก็ควรจะทำให้ครอบคลุมและครบถ้วน ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านอยู่ตามยถากรรม ถูกเจ้าหนี้นอกระบบ เอารัดเอาเปรียบ โขกดอกเบี้ยมหาโหด เช่น ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต