Business

‘ธรรศพลฐ์’ วิพากษ์ทีวีดิจิทัลป่วนธุรกิจสื่อ

 

แมกกาซีนปิดตัว อิมเมจ แอตติจูด แมกซิม

หลังจากสร้างความแปลกใจให้กับวงการธุรกิจเมื่อ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย หันมาลงทุนมาธุรกิจสื่อด้วยการซื้อหัวนิตยสารหลายเล่ม ได้แก่ แม็กซิม แอตติจูด อินแมกกาซีน อิมเมจ มาดามฟิกาโร และเฮอร์เวิลด์ มาดำเนินการ แต่ผ่านไปเพียง 2 ปีเศษ เขาก็ได้ตัดสินใจทยอยปิดหัวแมกกาซีนที่ซื้อมาเหล่านี้  ล่าสุดก็ได้ปิดแม็กกาซีนไปอีก 2 เล่ม คือ แม็กซิม และแอตติจูด เปลี่ยนแพลตฟอร์มไปทำออนไลน์แทน พร้อมลดจำนวนทีมงานเดิมที่มีอยู่ 50-60 คนลงเหลือเพียงส่วนน้อยสำหรับทำออนไลน์

ธรรศพลฐ์ บอกว่าการปรับตัวนี้เป็นไปตามเทรนด์ของตลาด ที่สื่อออนไลน์เริ่มเข้ามาแทนที่สิ่งพิมพ์ และธุรกิจออนไลน์ใช้คนน้อยลงส่วนใหญ่ใช้งานจากฟรีแลนซ์ที่มีอยู่จำนวนมาก เป็นเด็กรุ่นใหม่ค่าจ้างไม่สูงเฉลี่ยชิ้นละ 1,000 บาท ได้ของสดใหม่ตลอดเวลา แต่การทำธุรกิจออนไลน์ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน จากแม็กกาซีนรายเดือน พอมาเป็นออนไลน์ก็ต้องอัพเดท 2 วันครั้ง หรืออาทิตย์ละครั้ง เพิ่มความถี่มากขึ้น แต่ก็ยังน้อยกว่าเว็บข่าวซึ่งต้องอัพเดททุกวัน

แมกกาซีนปิดตัว อิมเมจ แอตติจูด แมกซิม

แมกกาซีนปิดตัวหลายหัวต่อเนื่อง

“ตอนนี้ปิดหลายหัวไปทำออนไลน์ เอาทุกหัวมาทำไว้ในเว็บเดียว ที่อิมเมจ ออนไลน์ เราปรับตัวออนไลน์มาสักพักตอนนี้มีสมาชิก 1.2 ล้านราย” ธรรศพลฐ์ กล่าวและว่า การทำออนไลน์ก็เหนื่อย สื่อออนไลน์ไม่มีรอบ สามารถอ่านได้ทุกวินาที จึงต้องหมั่นอัพเดทอยู่เสมอ ก็ถือว่าเหนื่อยไปอีกแบบ เพราะต้องอัพเดทข้อมูลตลอด แต่ก็เป็นไปตามภาวะตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค

แมกกาซีนปิดตัว อิมเมจ แอตติจูด แมกซิม

 ธุรกิจสื่ออยู่ในช่วงปรับตัว ออนไลน์กำลังมาแทนกระดาษ ธุรกิจสื่อส่อล้มมาตั้งแต่มีทีวี 24 ช่องพร้อมกันแล้ว ไม่ต้องมองอื่นไกลทีวีทั้ง 24 ช่องแค่ซื้อคอนเทนท์เมืองนอกก็ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ไปไม่น้อย ส่วนจะคิดรายการใหม่ใครจะคิดใหม่ได้ทุกวัน ทำรายการสมมุติผลิตได้ 10 ชั่วโมงก็ต้องทำอีก 14 ชั่วโมง 10 ชั่วโมงรีรัน ตอนเช้าเหลืออีก 4 ชั่วโมงต้องหารายการมาเสียบอีก ทุกวันนี้จึงเต็มไปด้วยรายการท่องเที่ยว รายการอาหาร ซึ่งใครๆ ก็มาเป็นไกด์ ชิมอาหารอร่อยไปหมด รายการริวิวอาหารเป็นดารา, ตลกชิมอาหาร เกิดขึ้นเกลื่อนจอ

“ทีวีดิจิทัล คือที่มาความล่มสลายของธุรกิจสื่อ คนที่ซื้อโฆษณาเม็ดเงินมีจำกัด แต่ทีวีมีเพิ่มมา 24 ช่อง ถามว่าสินค้ามีเพิ่ม 24 ตัวไหม คนที่ซื้อโฆษณาหลักๆ ยังมีเท่าเดิมไม่ได้เพิ่มขึ้น”

นั่นคือมุมมองของ ธรรศพลฐ์ ที่ย้ำว่ากี่ปีผ่านไปลูกค้าผู้ใช้งบโฆษณาก็ยังเป็นรายเดิม เช่น 10 รายหลักที่ใช้งบสูงสุด คือ โตโยต้า พีแอนด์จี ยูนิลีเวอร์ สหพัฒน์ฯ ไทยเบฟ เป็ปซี่ ฯลฯ กลุ่มนี้ก็มีจำนวนเท่าเดิมไม่ได้เพิ่มขึ้น แล้วจะมาเฉลี่ยโฆษณากันได้แค่ไหน

มาถึงจุดนี้ก็ต้องมาดูที่ช่องรายการ หากช่องไหนไม่มีอะไรดีเลยย่อมตายแน่นอน ช่องที่มีรายการดีก็ได้โฆษณาไป สื่อแข่งกันมากขึ้นเงินหว่านไปลูกค้าใช้เงินเท่าเดิม แต่ช่่องทีวีต่างๆ จะได้เงินน้อยลงเพราะกระจายสื่อออกไปมากไม่มีทางรอดอยู่แล้ว แต่ถ้าทีวีใหม่มีเพียง 6 ช่องอันนี้อาจทำได้พอฟัดพอเหวี่ยงกันไป แต่นี่มี 24 ช่องก็ต้องตายอย่างเดียว รอดูผู้ประกอบการตายแน่นอน เพราะคนใช้สื่อมีทางเลือกมากขึ้น

ช่องไหนรายการดีก็ได้เม็ดเงินโฆษณาไป เมื่อก่อนเคยซื้อเหมาผัง วันนี้ไม่เหมาแล้ว คนซื้อสื่อมีทางเลือก การใช้เงินสามารถหว่านกระจายได้มากขึ้น เม็ดเงินเท่าเดิมหว่านกระจายก็ทำให้แต่ละช่องรายได้ลดลง จากรายที่เคยได้แบบเหมาก็ไม่มี ต้องเป็นการเลือกเฉพาะรายการเฉพาะช่องมากขึ้น

“ผมแปลกใจ ทีวีดิจิทัล ทำไมไม่มีช่องอินเตอร์สักช่อง หรือช่องจีนสักช่อง นักท่องเที่ยวจีนมาไทยก็เยอะ แต่ช่องไม่แบ่งชัดเจน ทำเหมือนกันหมด ทำไมไม่มีช่องผู้ใหญ่ผู้สูงวัยนำเสนอเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่เรื่องการเดินทาง ช่องผู้พิการให้ชัดไปเลย หรือเป็นช่องภาษาอังกฤษหมดเลย ช่องภาษาจีนหมดเลย แต่ตอนนี้เหมือนกันหมดทุกคนมีรายการข่าว ท่องเที่ยว อาหาร มีมวย เหมือนกันไปหมด เป็นเพราะคอนเทนท์ไม่พอ คอนเทนท์ราคาถูก รายการท่องเที่ยว รายการอาหารจบแล้ว ข่าวเอาข่าวที่อยู่ในโซเชี่ยล ออนไลน์มาอ่าน ต้นทุนถูกๆ”

ธรรศพลฐ์ กล่าวด้วยว่า นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในวงการสื่อไทย เป็นปัญหาของการขยายตัวแบบก้าวกระโดด

ถ้าเป็นรายการเกมโชว์ก็ต้องเซ็ตเวที ทำสคริปต์ มีรูปแบบ ทำเยอะก็ไม่ไหว ถ้าไปเอารูปแบบรายการต่างประเทศมาก็ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แพงๆ ให้ต่างประเทศ ก็มีต้นทุน การพัฒนารายการใหม่จึงมีน้อย กลายเป็นรายการทีวีที่ซ้ำซ้อนรูปแบบเดิมๆ ไม่หลากหลายเหมือนจำนวนช่องทีเพิ่มขึ้น

 

 

Avatar photo