Properties

‘สถานีกลางบางซื่อ’ ทำเลทองศูนย์คมนาคมใหม่

บางซื่อ

พื้นที่ 2,325 ไร่ ของศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และสถานีกลางบางซื่อ คือทำเลทองของการพัฒนา ทั้งด้านพาณิชยกรรม การค้า การบริการ สำนักงานและศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย ซึ่งเตรียมจะเปิดประมูลพื้นที่โซน A สถานีกลางบางซื่อในช่วงปลายปี 2561 หลังจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) ให้ความเห็นชอบ

ข้อมูลจากฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า ในอนาคตสถานีกลางบางซื่อ จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางของประเทศ เชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงการการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เช่น ลาว จีน และมาเลเซีย

โดยภายในพื้นที่ 2,325 ไร่ ของศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และสถานีกลางบางซื่อ จะแบ่งการพัฒนาออกเป็น 8 โซน รวมมูลค่าการพัฒนาทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 1.5 แสนล้านบาท (ไม่รวมการพัฒนาระบบรถไฟ) ใช้ระยะเวลาในการพัฒนา 15 ปี

บางซื่อ2

เตรียมเปิดประมูลพื้นที่โซน A ปลายปี 2561

สำหรับความความคืบหน้า การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ขณะนี้ทางคณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในพื้นที่โซน A เนื้อที่ 35 ไร่แล้ว โดยขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมการตามมาตรา 35 จะทำการร่างเงื่อนไขการประกวดราคา หรือ (Term of Reference : TOR ) และคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562

ทั้งนี้การดำเนินการต่างๆ ในทุกขั้นตอน ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ รวมถึงเป้าหมายการเปิดให้บริการในปี 2563 โดยทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA : Japan International Cooperation Agency) เข้ามาช่วยดูผลการศึกษาโครงการ

โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เป็นผู้ศึกษาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษาตัวรถไฟและระบบราง และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ศึกษาเรื่องสมาร์ทซิตี้ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีความเห็นว่าให้คงตลาดนัดจตุจักรไว้ดังเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ รวมถึงสวนสาธารณะ เนื่องจากเป็นเอกลักษณ์ที่ดีของไทย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการดำเนินงานเร่งรัดการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้ทันเปิดใช้บริการได้ภายในปี 2563 โดยเบื้องต้นพื้นที่โซน A ทางคณะกรรมการ PPP ได้ให้ความเห็นชอบให้เป็นพื้นที่เชื่อมต่อการเดินทาง ไปยังระบบรถโดยสารสาธารณะ และระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง คาดต้นปี 2562 จะเริ่มประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้

รวมทั้งจะเร่งรัดให้บริษัทประกอบชิ้นส่วนรถไฟสายสีแดงของประเทศญี่ปุ่น ออกแบบตกแต่งขบวนรถให้เร็วขึ้น เพื่อให้ทันเปิดใช้งานสถานีกลางบางซื่อ โดยหลังจากเปิดให้บริการในปี 2563 แล้ว จะทยอยก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพิ่มเติม และจะสามารถเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบภายในปี 2575

rea01220261p1

เปิดแผน 3 ระยะศูนย์คมนาคมพหลโยธิน-บางซื่อ

ศูนย์คมนาคมพหลโยธินและสถานีกลางบางซื่อ พื้นที่รวม 2,325 ไร่แห่งนี้ ได้แบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ภายในเวลา 15 ปี ประกอบด้วย

  • ระยะสั้นหรือระยะที่ 1 ดำเนินการภายในปี 2567 ช่วงที่สถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการ โดยในช่วงนี้จะเน้นพัฒนาย่านการค้าและสำนักงานเป็นหลัก
  • ระยะกลางหรือระยะที่ 2 ดำเนินการภายในปี 2572 เน้นการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวกับการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติ หรือ MICE ย่านศูนย์การค้าและทางเดินเท้า
  • ระยะยาวหรือระยะที่ 3 ดำเนินการภายในปี 2577 พัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมและพื้นที่อยู่อาศัยที่เหลือ

ส่วนกรอบการพัฒนาได้แบ่งพื้นที่การพัฒนารอบสถานีกลางบางซื่อ แบ่งออกเป็น 8 โซน

  • 1.พื้นที่โซน A พื้นที่รวม 35 ไร่ มีศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมเชิงพาณิชย์ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับระบบขนส่ง
  • 2.พื้นที่โซน B ต่อเนื่องถึงโซน D ในเขตรถไฟฟ้าสายสีแดง มีศักยภาพสูงในเชิงที่ตั้ง เนื่องจากอยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อ และเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ จึงมีศักยภาพในการพัฒนาผสมผสานหลากหลายรูปแบบ ตามแผน Transit Oriented Development (TOD) แต่ด้วยข้อจำกัดทางกายภาพ และการใช้พื้นที่ ซึ่งวางแผนเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงของรถไฟระยะไกล จึงอาจต้องพิจารณาพัฒนาพื้นที่โซน B และพื้นที่ต่อเนื่องดังกล่าวนี้ในระยะยาว
  • 3.พื้นที่โซน D พื้นที่รวม 83 ไร่ อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีเขียว อยู่ใกล้ย่านพาณิชยกรรมริมถนนพหลโยธิน และตลาดนัดจตุจักร สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่อยอดการพัฒนา ผสมผสานที่เกี่ยวเนื่องมายังพื้นที่แปลง D ได้ง่าย
  • 4.พื้นที่ต่อเนื่องทางด้านเหนือโซน D มีศักยภาพการพัฒนาปานกลาง เนื่องจากอยู่ถัดออกจากรัศมีการเดิน 500 เมตร จากสถานีกลางบางซื่อ จึงมีศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัย
  • 5.พื้นที่พัฒนาเดิมต่อเนื่องด้านใต้ของโซน D บริเวณตลาดนัดจตุจักรและตลาดอตก. จะยังคงเอกลักษณ์และรูปแบบย่านพาณิชยกรรมเดิมไว้
  • 6.พื้นที่โซน C พื้นที่สำหรับการจัดประชุมนานาชาติ การจัดนิทรรศการ ศูนย์กีฬาขนาดใหญ่
  • 7.พื้นที่ย่านตึกแดง พื้นที่รวม 119 ไร่ มีศักยภาพสูงในเชิงที่ตั้ง แบ่งโวนการพัฒนาออกเป็น 2 พื้นที่ย่อย ได้แก่ พื้นที่โซน E พื้นที่ตั้งสำนักงานของหน่วยงานราชการ โดยออกแบบให้มีตึกระฟ้า เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ และพื้นที่โซน F เป็นย่านศูนย์การค้าและแหล่งบันเทิงต่างๆ
  • 8.พื้นที่ย่านกม.11 พื้นที่รวม 360 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ จึงมีศักยภาพในการพัฒนาแบบผสมผสาน ในระดับที่แตกต่างกันนแต่ละบริเวณ กล่าวคือ ด้านตะวันตกและตะวันออก ในระยะเดินเท้า 500 เมตร จากสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สีน้ำเงินและสีเขียวส่วนต่อขยาย มีศักยภาพในการพัฒนาสง เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีเขียวส่วนต่อขยายเปิดให้บริการในนาคต

 

Avatar photo