Business

PEA ลุยเปลี่ยนมิเตอร์บ้าน รับ ‘Smart Grid’ พร้อมเล็งธุรกิจใหม่ยุคไฟฟ้าอัจฉริยะ

PEA ลุยเปลี่ยนมิเตอร์บ้าน รับ “Smart Grid” นำร่องเมืองพัทยา  1.4 แสนครัวเรือน ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ทดสอบระบบ เล็งขยายเฟส 2 จังหวัดอื่นในปี 64 ลงทุนอีกกว่า 8,000 ล้านบาท ก่อนกระจายทั่วประเทศ พร้อมมองธุรกิจใหม่ตามยุค 5G ใช้เสาไฟฟ้า 10 ล้านต้น สร้างโอกาสหารายได้ใหม่  

“Smart Grid” หรือโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ กำลังก่อรูปขึ้นในประเทศไทยแล้ว เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน ที่เข้ามาในระบบมากขึ้น รองรับการผลิตไฟฟ้าใช้เองของบ้านเรือน อาคาร และโรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงรองรับการเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าอาเซียนของไทย หน่วยงานหลักที่ต้องทำงานครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดคงหนีไม่พ้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)

IMG 20191224 191527
สมพงษ์ ปรีเปรม

นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ PEA  เล่าว่า การใช้ไฟฟ้าในอนาคตมีแต่ขยายตัว เพราะอุปกรณ์หลายอย่างล้วนใช้ไฟฟ้า และกลุ่มใหญ่ที่จะใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ก็คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แถมการผลิตไฟฟ้าใช้เองก็จะมากขึ้นด้วย สิ่งที่เราห่วง คือ การดูแลระบบ

” จากเดิมผลิตโดยโรงไฟฟ้าใหญ่ ผ่านสถานีจ่ายไฟฟ้า ไประบบจำหน่ายไฟฟ้า และมาที่ผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ตอนนี้ ผลิตไฟฟ้าได้บนหลังคา แถมมี EV เท่ากับจะมีทั้ง จุดผลิตจุดใช้ไฟฟ้าเล็กๆเต็มไปหมด ไฟฟ้ามีทั้งไหลเข้า และไหลออก ดังนั้นระบบจะซ้ำซ้อนขึ้น การดูแลก็จะยากขึ้น จะทำอย่างไร ? “

นี่คือโจทย์ใหญ่สำหรับ PEA เพราะโครงข่ายของระบบส่งไฟฟ้า ต้องแข็งแรงมาก “Smart Grid” จึงเป็นคำตอบ เพื่อมาจัดการ การไหลเข้าออกของไฟฟ้า ที่เป็นจุดเล็กๆกระจายเต็มไปหมด และต้องทำให้มีประสิทธิภาพด้วย นายสมพงษ์ บอกว่า ต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อยเลย เพราะเป็นโครงข่ายที่ต้องเสริมด้วยระบบสื่อสาร

หน้าที่ของ PEA คือ เปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าตามบ้านเรือน เป็น Smart Meter อธิบายง่ายๆ ก็เหมือนมีคอมพิวเตอร์ติดไว้ตามบ้าน สามารถมองเห็นการใช้ไฟวิ่งเข้าออก และสามารถส่งข้อมูลได้ ผ่านระบบสื่อสาร ราคา Smart Meter ตัวละ 7,000 บาท เทียบ มิเตอร์ธรรมดา ราคา 1,000 บาท ซึ่งตามแผนของ PEA บ้านทุกหลังต้องเปลี่ยน แต่ต้องทำเป็นเฟส ซึ่งเรามีโรดแมพ 20 ปี เป้าหมายต้องเปลี่ยนให้หมดทุกหลัง เมื่อถึงเวลาจริงๆอาจต้องเร็วกว่านั้น

socket 304983 640

ตอนนี้เฟส 1 ของเรา ทำเพื่อทดสอบระบบที่เมืองพัทยาทั้งเมือง โดยเปลี่ยนเป็น Smart Meter 140,000 เครื่อง เพื่อเรียนรู้ ว่าทำงานอย่างไร และเราจะควบคุมมันอย่างไร ส่วนระบบสื่อสาร ก็ต้องดูด้วยว่า ระบบที่ดีที่สุด คืออะไร ต่อจากเมืองพัทยา เราจะทำในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงที่เชียงใหม่ นครราชสีมา พัทยาส่วนเพิ่ม ภูเก็ต และขยายต่อไปในพื้นที่อื่นๆ

ในส่วนของเมืองพัทยา PEA ลงทุนไปกว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับการเปลี่ยนเป็น Smart Meter 140,000 เครื่อง ไม่รวมเสาไฟฟ้า ที่มีอยู่แล้ว ส่วนเฟส 2 จะลงทุนอีกราว 8,000 ล้านบาท เริ่มในปี 2564 แต่นายสมพงษ์ บอกว่า จะประเมินผลจากเมืองพัทยาก่อนในปีนี้ เพราะเป็นโครงการนำร่อง

สิ่งที่จะต้องโฟกัสในกระบวนการประเมิน ก็คือ ระบบสื่อสารไหนดีที่สุด ที่จะมาทำให้ Smart Meter สมบูรณ์ ซึ่งในโลก มี 3 ระบบ คือ RF (Radio-Frequency) ,Cellular แต่ต้องเสียค่าแอร์ไทม์รายเดืนเหมือนมือถือ และระบบ PLC (Power Line Communications) ซึ่งจะมัดสัญญาณไปกับสายไฟฟ้า โดยแต่ละระบบมีจุดอ่อนจุดแข็งแตกต่างกันไป จึงต้องทดสอบ ที่เมืองพัทยา เราจึงใช้ทั้ง 3 ระบบเลย

” Smart Grid ลงทุนก่อนก็ไม่ดี เพราะแพง แต่ถ้าทำช้าไป ก็ไม่ดีเช่นกัน เพราะไม่ทันการณ์ จึงต้องทำไปทีละเฟส ขณะเดียวกัน เราก็พัฒนา Smart Meter ไปด้วย ให้เป็นต้นแบบ เพื่อหามาตรฐานที่ดีที่สุด เหมาะกับประเทศไทย เพราะมิเตอร์ของเราต้องติดตั้งอยู่นอกบ้าน ไม่เหมือนกับหลายประเทศที่ติดในบ้าน จึงต้องสอดคล้องกับสภาพอากาศในประเทศไทย โดยเราจะให้ภาคเอกชนนำเทคโนโลยีที่เราคิดค้นขึ้นไปทำ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน “

solar panels 943999 640

นายสมพงษ์ วิเคราะห์ถึง การขยายตัวของการติดตั้งไฟฟ้าบนหลังคา (Solar Rooftop) ว่า ไม่ใช่ทุกหลังจะทำได้ หลังคาบ้านต้องหันทิศเหนือทิศใต้ให้แดดส่อง ถึงจะมีประสิทธิภาพมากพอ สำหรับ 100 หลัง สามารถติด และผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 50 หลัง ที่เหลือทำไม่ได้ และไม่คุ้ม ขณะเดียวกันก็ต้องดูความแข็งแรง และพื้นที่ ของหลังคาด้วย ดังนั้นบ้านเรือนในพื้นที่ของ PEA ทำได้ไม่ถึง 10% ของ 20 ล้านราย ที่เป็นผู้ใช้ไฟในพื้นที่ที่ PEA รับผิดชอบดูแล

” เงินลงทุนเฉลี่ย 3 แสนบาท ต่อการติดตั้งบนหลังคาบ้าน 1 หลัง ถือว่าราคานี้ ปรับลดลงลงมาเกือบสุดทางล่ะ แต่ถือว่าแพงสำหรับประชาชนทั่วไป และการติดตั้ง ก็ต้องดูพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าด้วย จะคุ้มต่อเมื่ออยู่บ้านตอนกลางวัน ถ้าไม่มีใครอยู่บ้านตอนกลางวัน การติตตั้งไป คงไม่คุ้ม ส่วนแบตเตอร์รี่เก็บไฟฟ้า ก็ต้องใช้เวลาพัฒนาอีกนาน เบ็ดเสร็จแล้ว มีบ้านเรือน สามารถติดตั้งได้มีประสิทธิภาพจริงไม่ถึง 5% แต่จะไปได้เร็ว ต่อเมื่อระบบการจัดเก็บพลังงานพัฒนาจนมีราคาลดลง “

ในฐานะดูแลการใช้ไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ น่าจะมองเห็นแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าอย่างดี นายสมพงษ์ ประเมินว่า การใช้ไฟฟ้าเติบโตลดลง แต่ยังเติบโต เฉลี่ย 3% ต่อปี ก็ถือว่าลดลงไม่เยอะ แต่ก็โยงกับภาวะเศรษฐกิจด้วย แต่สำหรับบทบาทไฟฟ้าของไทยจะเติบโตขึ้นแน่นอน ตามระบบสื่อสารไร้สาย 5G ความถี่สูง จากปัจจุบันเรามี 4G ซึ่งทุกระยะ 2 กม.ของสายไฟฟ้าต้องติดตั้ง ทิศทางนี้จะสร้างธุรกิจให้กิจการไฟฟ้าได้มหาศาล ในส่วนของ PEA ก็มีหลายบริษัทสื่อสารมาคุยแล้ว เพื่อพัฒนาร่วมกัน แต่เราก็ต้องปรับมาตรฐานเสาไฟฟ้าให้แข็งแรงด้วย

” PEA มีเสาไฟฟ้า 10 ล้านต้น ถือเป็นทรัพย์สิน ตรงไหนมีไฟ ตรงนั้นมีเสา ระบบจำหน่ายเรามีรวม 8 แสนวงจรกิโลเมตร รอบโลกได้ 20 โลกเลยทีเดียว ดังนั้นอุปกรณ์รับส่งสัญญาณระบบ 5G ที่จะมาติดห้อยกับเสาไฟฟ้า PEA ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งเรามีแนวทางจะให้บริษัทลูกมาบริหารจัดการระบบ ยกตัวอย่าง PEA ติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณให้ และให้ค่ายต่างๆมาเช่าใช้ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ “

IMG 20191223 151734

นอกจากโมเดลธุรกิจต่อเนื่องจากเสาไฟฟ้าแล้ว นายสมพงษ์ ยังกำลังเร่งขยายสถานีชาร์จรถ EV เขา บอกว่า ถ้าเชื่องานวิจัยต่างประเทศ มีการประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2568 กราฟการใช้รถ EV จะพุ่งขึ้นแบบทยาน เราก็ส่งเสริมให้เกิดด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ดี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เทียบรถใช้น้ำมัน 1 กม.เสียค่าใช้จ่าย 2.50 บาท ขณะที่ รถ EV เสียค่าใช้จ่าย 0.50 บาท

PEA จึงจับมือกับ ปั๊มบางจาก โดยเข้าไปลงทุนทำสถานีชาร์จไฟฟ้าในปั๊ม โดยทุกๆ 100 กม.จะมี 1 จุด ลงทุน 2 ล้านบาทต่อจุด ซึ่งPEA มีเป้าหมายจะมีบริการชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศ รองรับประชาชนใช้ EV ที่วิ่งระหว่างจังหวัด และต้องเป็น Quick Charge หรือระบบชาร์จแบบเร็ว 15 นาทีเต็ม เป็นต้น  ส่วนการวิ่งในเมือง สามารถกลับไปชาร์จที่บ้านได้ นอกจากนี้ยังมี Application จองคิวชาร์จไฟฟ้าล่วงหน้า เราถือว่า จุดชาร์จไฟฟ้า ต้องกระจายให้มากที่สุดมารองรับก่อน จึงจะทำให้คนมั่นใจที่จะใช้รถ EV

เทคโนโลยีมาพร้อมโอกาส อยู่ที่มองโอกาส หรือมองเป็นภาระ และปัญหา แต่สำหรับ PEA นี่คือโอกาสทอง ที่จะปรับบทบาทขององค์กร ให้ก้าวคู่การเปลี่ยนแปลง ผ่านยุคสมัยได้อย่างมั่นคง 

Avatar photo