Digital Economy

‘5 ค่าย’ ตบเท้าประมูล ‘5 จี’ คาด 3 ปีเงินลงทุนเฉียดล้านล้าน

เอไอเอส ทรูมูฟ ดีแทค กสท ทีโอที เคาะราคาประมูล 5G กสทช. คาด 3 ปี สร้างเงินลงทุน 9.6 แสนล้าน

วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2563 ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เริ่มเปิดการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม 700 เมกะเฮิรตซ์(MHz) 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ (GHz)

146319

ทั้งนี้ 5 ค่ายโอเปอเรเตอร์ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือเอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ใน ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ในเครือดีแทค, บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) และ บมจ.ทีโอที ต่างเข้าร่วมประมูลกันพร้อมหน้า

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร. ประธาน กสทช.เป็นผู้จับสลากรายชื่อผู้เข้าร่วมประมูลว่ารายใดจะได้ทำการจับสลากเลือกเลขห้องประมูล และเลือกซองบรรจุ Username และรหัสผ่านตามลำดับ ก่อนเข้าห้องประมูล โดยการประมูลเริ่มเคาะราคาเมื่อเวลา 9.30 น. เริ่มจากการเริ่มประมูลคลื่น 700 MHz ตามด้วย คลื่น 2600MHz และ คลื่น 26GHz

ดีแทค

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขา กสทช. กล่าวว่า การประมูล 5G วันนี้ จะมีการประมูล 3 คลื่นความถี่ รวม 49 ใบอนุญาต รวมราคาขั้นต่ำ 7.3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2563 คาดว่าจะมีเงินลงทุน 1.7 แสนล้านบาท ปี 2564 คาดเงินลงทุน 3.2 แสนล้านบาท และในปี 2565 คาดมีเม็ดเงินลงทุน 4.7 แสนล้านบาท หรือรวม 3 ปี คาดมีเม็ดเงินลงทุนรวม 9.6 แสนล้านบาท

บรรยากาศการเข้าร่วมประมูลวันนี้เป็นไปอย่างคึกคัก โดยแต่ละบริษัทมีพนักงานเดินทางมาร่วมเชียร์ให้กำลังใจ โดยผู้บริหารแต่ละค่ายต่างเข้านำทีมมาลงทะเบียนกันพร้อมหน้า เริ่มจาก กสท. ที่รายงานตัว ณ จุดลงทะเบียนเป็นรายแรก นำโดย พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ตามด้วย นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นำทีมผู้บริหารดีแทค ต่อมาเป็นค่ายทรู ที่นำโดย วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์  รองประธานคณะกรรมการบริหาร

เอไอเอส

สำหรับผู้ลงทะเบียนรายที่ 4 ได้แก่ บมจ.ทีโอที นำโดย นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการบริษัท และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปิดท้ายด้วย เอไอเอส โดย นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

การประมูลในครั้งนี้ ประกอบด้วยคลื่น 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาท มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 3 ราย คือ ทรู, เอไอเอส และ กสท โทรคมนาคม การชำระเงินแบ่งเป็น 10 งวดงวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.6 ล้านบาทและหากไม่ชำระค่าประมูลจะต้องชำระค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

ทรู

คลื่น 1800 MHz จำนวน 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท ไม่มีผู้สนใจประมูล

 

คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท มีผู้ยื่นซองประมูล 3 ราย คือ ทรู, เอไอเอส และ กสท โทรคมนาคม การชำระเงินแบ่งเป็น 7 งวดงวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาที่ชนะการประมูลงวดที่ 2-7 (ปีที่5-10) งวดละ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 1, 862 ล้านบาทและหากไม่ชำระค่าประมูลจะต้องชำระค่าปรับ 280 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

ทีโอที

คลื่น 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 22 ล้านบาท มี 4 ค่ายร่วมชิงประมูล ได้แก่ ทรู, เอไอเอส, ดีแทค และทีโอที การชำระเงินงวดเดียวภายใน 1 ปีหลังจากการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูลจะต้องชำระค่าปรับ 64 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

Avatar photo