Marketing Trends

‘วิศวฯจุฬาฯ’ เดินเครื่องติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัด ‘PM 2.5’ ทั่วกรุง

คณะวิศวฯ จุฬาฯ เพิ่มพันธมิตรต่อยอดการพัฒนาโครงการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาวิจัย วิเคราะห์หาสาเหตุ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา PM2.5

ENG 4920

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย คณะวิศวฯ จุฬาฯ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 ที่เริ่มดำเนินการแล้วในปีที่ผ่านมา และมีประสิทธิภาพในการตรวจวัดสภาพอากาศและจัดเก็บข้อมูลเป็นที่น่าพอใจ

ทั้งนี้ ล่าสุดได้เริ่มโครงการในระยะที่ 2 ภายใต้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อขยายการจัดเก็บข้อมูลสภาพอากาศให้ขยายวงกว้างยิ่งขึ้น ตลอดจนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์คอยให้คำแนะนำ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่คนไทย เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงได้ง่าย แบบ ไร้ขีดจำกัด

ENG 4879

โครงการดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลสภาพอากาศ นำมาใช้ประโยชน์ด้านการวิจัย โดยในปีนี้ได้ผนึกพลังพันธมิตร เพื่อเพิ่มพื้นที่การติดตั้งเซนเซอร์เพิ่มศักยภาพโครงการ วิเคราะห์ถึงผลกระทบ เสนอแนะแนวทางแก้ไข และพร้อมที่จะส่งมอบองค์ความรู้ต่างๆ แก่ภาครัฐ เพื่อนำไปใช้พัฒนากลยุทธ์แก้ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก และประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

“ที่สำคัญ คือ ต้องการนำองค์ความรู้ที่ได้มามอบให้แก่คนไทยเพื่อนำประโยชน์ดังกล่าวไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ สอดคล้องกับปณิธานในการดำเนินงานของคณะฯ CHULA INNOVATION ENGINEERING”ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์กล่าว

ENG 5001

สำหรับเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 ที่พัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวฯ จุฬาฯ สามารถตรวจวัดได้ทั้งฝุ่น PM 2.5, PM 10, อุณหภูมิ และความชื้น พร้อมทั้งคำนวณค่า AQI และแสดงผลผ่านทั้งหน้าจอเซนเซอร์และเว็บไซต์ www.sensorforall.eng.chula.ac.th เพื่อบ่งบอกระดับผลกระทบต่อสุขภาพ

ความร่วมมือในโครงการนี้ จะมีการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลในระยะแรกจำนวน 30 จุด และพร้อมเปิดรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ต้องการร่วมเป็นเครือข่ายในการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อหาแนวทางจัดการมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ขณะที่ข้อมูลจากเซนเซอร์ทุกจุดจะถูกนำมาประมวลร่วมกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลจุดความร้อน (Hot Spot) ข้อมูลการจราจร รวมไปถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์แหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 และนำเสนอนโยบายสำหรับแก้ไขปัญหา PM 2.5 และร่วมสร้างสังคมสุขภาพดีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

Avatar photo