General

เช็คให้ดี! สปสช.แจงสิทธิบัตรทอง ยาแอนติบอดี้ รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ต้องเข้าเกณฑ์

สปสช. แจงเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาของบัตรทอง เป็นไปตามหลักทางการแพทย์ ระบุยาแอนติบอดี้  Rituximab เข้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ 6 ธ.ค. 60 รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง เฉพาะชนิด DLBCL และต้องเข้าหลักเกณฑ์  

nhso30 e1581592373867

สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) แจ้งมายัง สำนักข่าว The Bangkok Insight กรณีมีผู้โพสต์ข้อความว่า รัฐบาลนี้มีนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลใช้ยาแอนตี้บอดี้กับผู้ป่วยมะเร็งคู่กับการให้คีโม โดยไม่ต้องเสียค่าใชัจ่าย เพราะต้องการให้ผู้ป่วยหลายโรคร้ายแรง อาทิ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และวัณโรค เข้าถึงยาที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ ซึ่งโพสต์ดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเข้าใจไม่ครบถ้วน และคลาดเคลื่อน

โดยสปสช. ระบุว่า กรณีการบรรจุสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จะมีกระบวนการพิจารณาเป็นขั้นตอน โดยใช้หลักทางการแพทย์พิจารณา  ในส่วนของยารักษา จะบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ตามรายการยาบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงยา Rituximab (ริทูซิแมบ) ซึ่งเป็นยาโมโนโคลนัล แอนติบอดี้ (Monoclonal antibody) ที่ใช้รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด DLBCL (Diffuse Large B-Cell lymphoma) ที่เจาะจงเฉพาะเซลล์มะเร็ง และเป็นยาในบัญชียา จ.(2) หรือรายการยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะ

ทั้งนี้การบรรจุเป็นยาบัญชียาหลักแห่งชาตินั้น จะมีคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการรักษา โดย สปสช.จะนำมาประกอบการพิจารณา ร่วมกับผลการต่อรองราคายากับบริษัทยาที่ต้องไม่กระทบต่องบประมาณระบบในภาพรวม โดยขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้เวลาดำเนินการ

สำหรับ ยา Rituximab คณะกรรมการสปสช. ได้อนุมัติเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาชนิดนี้ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 โดยใช้ควบคู่กับยาเดิม เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการให้ยา Rituximab ในผู้ป่วยรายใด จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย

ส่วนยารักษาวัณโรค FDC (Fix Dose Combination) ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นยารวม ที่ช่วยให้ผู้ป่วยกินยาได้ง่ายขึ้น ทำให้กินยาได้ครบตามการรักษา ช่วยลดอัตราการดื้อยา

และในปี 2562 สปสช. ได้ปรับปรุงรายการสิทธิประโยชน์การบริการผู้ป่วยวัณโรค ตามแนวทางการควบคุมวัณโรคประเทศไทยปี 2561 (National Tuberculosis control Program Guideline, Thailand 2018: NTP 2018) เพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมวัณโรคในประเทศไทย

ทั้งบริการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง บริการตรวจหาเชื้อวัณโรคระยะแฝง เพิ่มการตรวจวินิจฉัยวัณโรคดื้อยา First line drugs และบริการรักษาวัณโรคดื้อยา ครอบคลุมบริการรักษาด้วยยารักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน และวัณโรคหลายขนาดชนิดรุนแรง

สำหรับข้อมูลมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในปี 2562 จากชมรมมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย พบคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั่วโลก ประมาณ 600,000 รายต่อปี ส่วนประเทศไทย มีผู้ป่วยใหม่ปีละกว่า 3,000 ราย หรือ 8 รายต่อวัน ผู้ป่วยอายุสูงสุดอยู่ที่ 60-70 ปี

โดยชมรมฯ ระบุว่า ถือเป็นโรคมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ โดยยาเคมีบำบัด ร่วมกับยา Monoclonal antibody การฉายแสง และการปลูกถ่ายไขกระดูก (สเต็มเซลล์)

มะเร็งชนิดนี้ แบ่งเป็น 4 ระยะเช่นกัน หากผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะที่ 1 มีโอกาสหายขาด 70-90% ส่วนผู้ป่วยที่รับการรักษาในระยะที่ 2-4 มีโอกาสหายขาด 60 %  โดย 60% ตอบสนองกับการรักษามาตรฐาน อีกกว่า 40 % ไม่ตอบสนองกับการรักษา ซึ่งแบ่งเป็น 15% ที่ดื้อต่อการรักษา และ 25 % ที่กลับมาเป็นซ้ำภายในระยะเวลา 2-3 ปี และจะมีอาการของโรคมากขึ้น เกิดภาวะดื้อยาไม่ตอบสนองกับการรักษา

 

Avatar photo