General

กรมวิทย์ ต่อยอด ‘ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม’ เพิ่มสมรรถนะ ตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสโคโรนา

กรมวิทย์ พัฒนาต่อยอด “ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม” สู่ชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพิ่มสมรรถนะ ความแม่นยำ รวดเร็ว ผลตรวจถูกต้อง พร้อมขยายขีดความสามารถ สู่ห้องปฏิบัติการเครือข่ายทั่วประเทศ  ป้องกันโรคภายในประเทศ  จับมือ WHO แบ่งปันข้อมูล กับประเทศเพื่อนบ้าน

IMG 15285

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์แพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในขณะนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบาย และสั่งการให้ตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน (EOC)” ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขขึ้น เพื่อรับมือควบคุมการระบาดของเชื้อโรค

และมอบให้กรมฯพัฒนาห้องปฏิบัติการ ให้สามารถตรวจวินิจฉัยโรคนี้ให้มีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว ตอบสนองต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย และการป้องกันควบคุมโรค

โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005 ) กำหนดให้ประเทศสมาชิก พัฒนาสมรรถนะ ของประเทศ ให้พร้อมรองรับโรคระบาด และสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในการป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองต่อการระบาด ลดความเสี่ยง และความเสียหายจากการระบาดของโรคอุบัติใหม่ต่างๆ

หนึ่งในสมรรถนะหลักที่สำคัญ ก็คือ สมรรถนะด้านระบบห้องปฏิบัติการสาธารณสุข ซึ่งส่งผลให้สามารถตรวจจับโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว สามารถควบคุม และจัดการปัญหาได้ทันการณ์ เมื่อมีโรคอุบัติใหม่ระบาด ห้องปฏิบัติการ มีหน้าที่สำคัญ ในการพยายามตรวจพิสูจน์ให้ได้ว่าเชื้อโรคนั้น คือเชื้ออะไร

จากนั้นจะต้องพัฒนาวิธีการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ มาใช้ในการตรวจชันสูตรผู้ป่วยจำนวนมากให้ได้อย่างรวดเร็ว และถ่ายทอดให้ห้องปฏิบัติการเครือข่ายนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อรองรับสถานการณ์หากพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

อีกทั้งต้องเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีน และยารักษาโรคขึ้นมาใช้ ภารกิจเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในระดับนานาชาติ โดย WHO ได้เชิญชวน ให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกัน แบ่งปันข้อมูลสำคัญ เช่น ข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อโรค วิธีการตรวจ ตลอดจนทรัพยากรชีวภาพ เช่น เชื้อโรค เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมที่สำคัญ และเร่งด่วนเหล่านี้ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือ ตรวจทางห้องปฏิบัติการ แก่ประเทศ ที่ยังไม่พร้อม เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ทันการณ์

6PR 5991

นพ.โอภาส กล่าวต่ออีกว่า กรมฯซึ่งมีหน้าที่ เป็นห้องปฏิบัติการแห่งชาติด้านสาธารณสุข และเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงไข้หวัดใหญ่ของภูมิภาค คณะกรรมการบริหารภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ WHO ( South-East Asia Region :SEAR) ได้ตรวจยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยวิธีการตรวจรหัสพันธุกรรมตลอดทั้งจีโนม (whole genome sequencing) ภายใน 2 วัน

หลังได้รับตัวอย่างผู้ป่วยรายแรก และได้แบ่งปันข้อมูลรหัสพันธุกรรมนี้ กับเครือข่ายห้องปฏิบัติการอ้างอิงไข้หวัดใหญ่ผ่านศูนย์ข้อมูล GISAID (Global Initiative on Sharing Avian Influenza Data) เพื่อให้นานาชาติใช้ประโยชน์ในการพัฒนาวิธีตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการวิจัยพัฒนาวัคซีน และยารักษาโรคขึ้นมาใช้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ควบคุมการระบาดได้อย่างทันการณ์

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ WHO ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ความพร้อม โดยให้ความช่วยเหลือในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการสนับสนุนน้ำยาตรวจวิเคราะห์

“โรคติดต่อนั้นไร้พรมแดน การให้ความช่วยเหลือ มิตรประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยเสริมภูมิให้แก่ภูมิภาค ในการจัดการการระบาดครั้งนี้”

และขณะนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับตัวชี้วัดความมั่นคงด้านสุขภาพ ให้มีความพร้อมในลำดับ 6 ของโลก โดยมีคะแนน สมรรถนะด้านระบบห้องปฏิบัติการเต็ม 100 สมรรถนะระบบห้องปฏิบัติการของประเทศ หมายความรวมตั้งแต่ เครือข่ายห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ เครือข่ายห้องปฏิบัติการอ้างอิง ขีดความสามารถ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ระบบการส่งต่อตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสอบสวนโรค และการยืนยันทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ

Avatar photo