COLUMNISTS

ทุจริตคลองด่าน‘เศรษฐี-นักการเมือง’พาเหรดติดคุกเตือนสติ‘อย่าโกง’

Avatar photo
593
IMG 0523
Cr ภาพ MCOT HD

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีคดีใหญ่ที่ศาลฎีกาตัดสินคือ คดีทุจริตที่ดินคลองด่าน เศรษฐีนักธุรกิจ ข้าราชการ และนักการเมืองถูกตัดสินจำคุกกันหลายคน แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ จึงอยากย้อนข้อมูล มหากาพย์โกงบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มาเป็นอนุสรณ์เตือนสติว่ากฎแห่งกรรมมีจริง เงินและทรัพย์สินของหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้

โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นอภิมหาโกงที่ชงเรื่องตั้งโครงการวงเงินงบประมาณ 13,612 ล้านบาท โดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ในรัฐบาล ชวน หลีกภัย เสนอเข้าครม.เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2538 แต่ยังไม่มีการอนุมัติ เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล มาถึงยุคของ นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นรมว.วิทยาศาสตร์ฯ ยุค นายบรรหาร ศิลปอาชา สานต่อเดินหน้าโครงการโดยครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 และต่อมายังเพิ่มวงเงินเป็น 22,955 ล้านบาทด้วย เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ไม่มีสะดุดแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลก็ตาม

จากคำพิพากษาทำให้ประมวลได้ว่า ตัวเอกชนที่ได้ลงนามในสัญญาคือ บริษัทกิจการร่วมค้า NVPSKG มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองที่มีอำนาจในขณะนั้น

เมื่อมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากภาคประชาชน ก็พบปัญหามากมาย โดยเฉพาะการทุจริตที่ดิน จนนำไปสู่การยกเลิกสัญญาในปี 2546 ต่อมามีการร้องไปที่ป.ป.ช. และมีมติชี้มูลความผิด กระทั่งส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลฯพิพากษาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2551 จำคุก นายวัฒนา อัศวเหม รมช.มหาดไทยในขณะนั้น

คดีนี้ไม่ได้มีแต่เรื่องที่ ป.ป.ช.ส่งไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีการฟ้องกันทั้งคดีอาญาและคดีทางปกครอง ระหว่างกรมควบคุมมลพิษกับบริษัทกิจการร่วมค้า เกี่ยวกับการทุจริต-ละเมิดสัญญา ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2547 กระทั่งทำท่าว่ารัฐต้องเสียค่าโง่จากการที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ จ่ายค่าชดเชยกว่า 9 พันล้านบาท ให้บริษัทกิจการร่วมค้า เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2557

โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทยอยชำระไปแล้ว 1 งวด เป็นเงิน กว่าสามพันล้านบาท และกำลังจะชำระงวดสองและสาม แต่ถูกท้วงติงจากหลายฝ่าย จนสุดท้ายรัฐบาลไม่กล้าสวนกระแส ชะลอการจ่ายเงิน พร้อมกับรื้อคดีให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาใหม่

อ้างเหตุผลถึงคดีอาญาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุกนายวัฒนา และคดีที่ค้างอยู่ในศาลฎีกา ซึ่งในศาลชั้นต้นมีการดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้อง โดยชี้ให้เห็นว่าการดำเนินโครงการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการร่วมกันวางแผน เอื้อประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้แทนฝ่ายว่าจ้างกับผู้รับจ้าง ทำให้คดีพลิก มีคำพิพากษาใหม่จากศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 6 มีนาคม 2561 ให้รัฐไม่ต้องเสียค่าโง่ในส่วนนี้

กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 ปี 11 ราย ประกอบด้วย 1. นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง 2. นายรอยอิศราพร ชุตาภา 3. นายชาลี ชุตาภา 4. นายประพาส ตีระสงกรานต์ 5. นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กรรมการบริษัทเกตเวย์ดีเวลลอปเมนท์ บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ฟิเชเชอรี่

6. นางบุญศรี ปิ่นขยัน 7. นายกว๊อกวา โอเยง กรรมการบริษัทปาล์ม บีช 8. นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ  กรรมการบริษัทประยูรวิศว์การช่าง 9. นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล 10. นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล และ 11. นายวัฒนา อัศวเหม

นี่เป็นคดีประวัติศาสตร์จากมหากาพย์ที่ถูกตัดสินพิพากษาว่าผิดกฎหมายในที่สุด เป็นโครงการที่ทำร่วมกันระหว่างข้าราชการ นักการเมืองและนักธุรกิจ ที่กงล้อแห่งกรรมเวียนมาบรรจบ ซึ่งไม่ใช่คดีแรกที่นักการเมืองและนักธุรกิจต้องพาเหรดเข้าคุก โดยก่อนหน้านี้มีคดีดังที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกนักการเมืองและนักธุรกิจมาแล้วหลายคดี ดังนี้

30 พฤศจิกายน 2546 ยึดทรัพย์ นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรมว.สาธารณสุข 233.88 ล้านบาท ถัดจากนั้น 1 เดือน พิพากษาจำคุกนายรักเกียรติเป็นเวลา 15 ปี กรณีรับสินบน 5 ล้านบาทจากบริษัทยา ทำให้กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อยาราคาแพง

18 สิงหาคม 2551 จำคุกนายวัฒนา อัศวเหม 10 ปี คดีทุจริตที่ดินคลองด่าน (หลบหนี)

21 ตุลาคม 2551 จำคุกนายทักษิณ ชินวัตร 2 ปี คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดา (หลบหนี)

27 กุมภาพันธ์ 2553 ยึดทรัพย์นายทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาท ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์บริษัทชินคอร์ป

10 กันยายน 2556 จำคุก นายประชา มาลีนนท์ อดีตรมช.มหาดไทย 10 ปี ทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง (หลบหนี)

27 สิงหาคม 2558 จำคุกนายวิโรจน์ นวลแข อดีตบอร์ดธนาคารกรุงไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 18 ปี และ นายวิชัย นายรัษฎา กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารบริษัทในเครือกฤษฎานคร 12 ปี คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทยให้บริษัทในเครือกฤษฎานคร ส่วนนายทักษิณ ชินวัตร จำหน่ายคดีชั่วคราวเนื่องจากหลบหนี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรื้อคดีพิจารณาลับหลังจำเลย

8 มิถุนายน 2559 จำคุกนายชูชีพ หาญสวัสดิ์ อดีตรมว.เกษตร และนายวิทยา เทียนทอง น้องชายนายเสนาะ เทียนทอง อดีตเลขานุการ รมว.เกษตร 6 ปี คดีฮั้วปุ๋ย

4 สิงหาคม 2559 จำคุกน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.คลัง 1 ปี คดีตั้งประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

25 สิงหาคม 2559 จำคุก น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.ไอซีที 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีแก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อบริษัทชินคอร์ป ต้องติดคุกอยู่ราว 10 เดือน ก่อนได้รับการปล่อยตัว เพราะเข้าเกณฑ์การพักโทษเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2560

25 สิงหาคม 2560 จำคุกนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ 42 ปี นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ 36 ปี นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 40 ปี นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 32 ปี นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ 24 ปี และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง 48 ปี คดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี

27 กันยายน 2560 จำคุกนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 5 ปี คดีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว (หลบหนี)

บทเรียนกรณีคลองด่านเป็นข้อพิสูจน์ว่า  จากการโกงที่มิอาจรอดพ้นการตัดสินของกระบวนการยุติธรรม “คนทำผิดต้องติดคุก” เพราะคนดีจริง หรือ เงินและของหลวงมีลักษณะที่เหมือนกันคือ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เห็นคนเคยดีหลายคนต้องเข้าคุกเพราะคบคนพาลเป็นมิตร เพราะยอมรับคนโกงเป็นนาย หรือไม่กล้าตัดสินใจบนความถูกต้องเพียงเพื่อประโยขน์เฉพาะหน้า จึงต้องรับโทษแทนเพราะละอายด้วยไม่กล้าหนี

นักการเมือง ข้าราชการ ต้องจดจำใส่ใจในหลักนิติธรรมนิติรัฐ ต้องมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่เพื่อมาบำบัดทุกข์ บำรุงสุขเพื่อประโยชน์ประชาชน นักธุรกิจต้องเลิกหาผลประโยชน์จากเงินและของหลวง ทำตามระเบียบระบบเพื่อประโยชน์ร่วมของชาติ ท่องไว้ในใจ กรรมคือการกระทำตอกย้ำเสมอว่า “อย่าโกง”