COLUMNISTS

สปิริตถ้ำหลวง : บทเรียนที่โลกคารวะ

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
107

ปรากฎการณ์ ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์เมื่อ 12 หมูป่า อะคาเดมี กับโค้ชเอก ได้กลับคืนสู่อ้อมอกพ่อแม่เป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่คืนวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา

000 17R7G2

แต่เบื้องหลังปฏิบัติการ 3 วันอันตรายในถ้ำ ของ 13 นักดำน้ำกู้ภัยในถ้ำ และ 5 ซีล ซึ่งถือเป็นแนวหน้า และทีมสนับสนุนรวมกว่า 110 คนที่ร่วมภารกิจในถ้ำ ที่สื่อต่างประเทศโดยเฉพาะ อังกฤษกับ ออสเตรเลีย ให้ความสนใจนำเสนอแง่มุมต่างๆ ทั้งผ่านบทสัมภาษณ์หรือสารคดี ซึ่งพลเมืองโซเชียลผู้รู้ ได้ถอดความมาให้คนไทยได้อ่านรับรู้ข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนที่สื่อหลักจะนำมาเสนอซ้ำ ช่วยขยายภาพปฏิบัติบันลือโลกครั้งนี้ให้ชัดขึ้น

หลายเรื่องจากปากนักดำน้ำที่ออกสื่อ ชวนตะลึง บางเรื่อง ต่างจาก ที่สื่อทั้งไทย และต่างประเทศรายงานกันก่อนหน้านี้ รวมทั้งที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้บัญชาเหตุการณ์ ขณะนั้นแถลงในวันดีเดย์ และ อีกครั้งเมื่อแผนกู้ภัยบรรลุเป้าหมาย 12 หมูป่า กับ โค้ชเอก ปลอดภัย

จอหน์ โวเลนเธน นักดำน้ำในถ้ำทักษะสูงมากเกียรติภูมิ ชาวอังกฤษ ที่สื่อจับตามากที่สุด ในฐานะผู้พบ 13 หมูป่าพร้อมคู่หูคนแรก ประโยค How many of you? ของเขาดังก้องไปทั่วโลก

ช่วงปฏิบัติการที่ถ้ำหลวง เขาไม่พูดกับสื่อเลย กระทั่งเดินทางกลับบ้านหลังภารกิจลุล่วง จึงยอมนั่งให้สัมภาษณ์บีบีซี อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเพียงครั้งเดียว

โวเลนเธน บอกกับบีบีซี ว่าการพบเด็กๆ ไม่ใช่เพราะเชือกนำทาง (เบสไลน์) ที่เตรียมไว้หมด แบบที่สื่อรายงานกันแต่แรก แต่วิธีหาผู้ประสบภัยในถ้ำจะต้องโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเมื่อมีที่ว่าง เพื่อตะโกน และดมกลิ่น

เขาบอกว่าได้กลิ่น หมูป่า ก่อนเจอตัว ด้วยซ้ำ และวิธีช่วยเด็กออกมาเป็นการอุ้มแบบหนึ่งต่อหนึ่ง พร้อมยังแสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของ จ่าแซม “สมาน กุนัน”

โวเลนเธน ย้ำด้วยว่าปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จในภารกิจครั้งนี้ คือ การวางแผน และปฏิบัติอย่างรอบครอบ ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ ในคำสัมภาษณ์เขายังขอบคุณผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ที่กันสื่อไปให้ไกลจากพื้นที่ทำงานของเขาด้วย

หมูป่า ถ้ำหลวง

แต่คำสัมภาษณ์อีกชุดฮือฮากว่า คือ เจสัน มิลลินสัน กับ คู่หู คริส เจเวลล์ ทั้งสองคนอยู่ในชุดปฏิบัติการแนวหน้าเช่นกัน เขาบอกกับ เว็บ เดลีเมล แบบลงรายละเอียดยิบ และเร้าอารมณ์กว่าคำสัมภาษณ์ของโวแลนเธน เช่น ระบุว่าก่อนปฏิบัติการเชื่อว่ามีโอกาสที่จะเกิดการเสียชีวิต พร้อมยืนยันว่าทางการไทยมีแผนจะให้เด็กอยู่ในถ้ำ 4 เดือนจนน้ำลด ก่อนเปลี่ยนการตัดสินใจเมื่อจ่าแซม เสียชีวิต

ทั้งคู่ให้สัมภาษณ์ด้วยว่าก่อนเริ่มปฏิบัติการมีการซ้อมกับเด็กในสระของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ส่วนช่วงอันตรายที่สุดคือจาก บีชพัทยาถึงโถงสามที่ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง

พวกเขาบอกด้วยว่า โค้ชเอกไม่ใช่คนสุดท้าย(ของสมาชิกหมูป่า)ที่ถูกนำตัวออกจากถ้ำ ตามมีรายงานข่าว แต่ออกมาเป็นคนที่ 9 และที่สำคัญคือหมูป่าไม่มีโอกาสได้ซ้อมใช้หน้ากาก

คำสัมภาษณ์ของทีมนักดำน้ำต่างชาติที่ให้ภาพเบื้องหลังปฏิบัติการครั้งนี้สมบูรณ์ขึ้นอีก คือคู่ของ ริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์ และ เดรก แชลเลน สัตว์แพทย์ กลุ่มนักดำน้ำจาก Wet Mules ออสเตรเลียที่เปิดใจกับเดอะซันเดย์ไทม์

มีสองสามประเด็นที่คุณหมอทั้งสองบอกกับนักข่าวซึ่งต่างจากที่ได้รับรู้กันก่อนหน้า เข้าใจว่าสองคุณหมอชาวออสซี่คู่นี้ เข้าร่วมปฏิบัติการจากการเสนอของ แสตนตัน(คู่หูโวแลนเธน) ให้ทางการไทย เชิญตัวมา หน้าที่ตามข่าวคือ ทำหน้าที่ตรวจสุขภาพหมูป่าก่อนนำตัวออกจากถ้ำ

คำสัมภาษณ์ชุดนี้ได้ยืนยันว่า มีการใช้ยาเพื่อให้เด็กผ่อนคลาย เพื่อความปลอดภัยของตัวเด็กและคนกู้ภัย มีนักข่าวถามเรื่องนี้ตอนแถลงหลังจบภารกิจวันสุดท้ายแต่ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ เลี่ยงตอบว่าต้องให้เกียรติผู้ปฎิบัติงาน

แต่ที่พลิกประเด็นไปเลยก็กรณีมีข่าวว่าหมอแฮร์ริสเป็นผู้พิจารณาว่าใครออกก่อนหลัง แต่ในคำสัมภาษณ์หมอยืนยันว่าว่าทีมหมูป่าเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าใครจะไปก่อนไปหลัง (ทีมหมูป่ามาย้ำประเด็นนี้อีกครั้งตอนแถลงก่อนกลับบ้านว่าเป็นการร่วมกันตัดสินใจของทีม)

หลังบทสัมภาษณ์จากฝั่งอังกฤษเผยแพร่แล้ว สถานีโทรทัศน์ เอบีซี (ออสเตรเลีย) นำเสนอสารคดีเรื่อง Out of the dark ในรายการ Four Corners ที่เผยแพร่ในบ้านเขาเมื่อคืนวันจันทร์ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

เดินเรื่องด้วยการย้อนรอยเหตุการณ์และเปิดเบื้องหลังด้วยการการสัมภาษณ์ บุคคลหลัก ที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการ 3 วันอันตรายในถ้ำแบบ เจาะลึก เช่น เดรก แชลเลน คู่หูหมอแฮร์ริส นาวาอากาศตรี ชาร์ลส ฮอดจ์ หัวหน้าชุด กองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโดแฟซิฟิก(USPACOM) และ เจสัน มิลลินสัน นักดำน้ำจากอังกฤษ ข้อมูลบางช่วงฟังแล้วน่าตกใจ โดยเฉพาะที่ทุกคนยอมรับว่าก่อนปฏิบัติการพวกเขาเชื่อว่าจะต้องมีเด็กเสียชีวิต

นาวาอากาศตรี ฮอดจ์ ยังเล่าด้วยว่า ตัวเองเป็นหนึ่งในผู้นำเสนอแผนต่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย การดำน้ำออกจากถ้ำเป็นหนทางเดียวที่เป็นไปได้มากที่สุด ในตอนนั้น เขาประเมินตอนแรกว่าจะต้องมีเด็กเสียชีวิต 3-5 คน ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เป็นต้น

น่าเสียดายที่สื่อไทยไม่มีโอกาสได้สัมภาษณ์ทีมกู้ภัยชุดแนวหน้า ไม่งั้นเราคงได้ทราบมุมข่าวจากสื่อไทยบ้าง !!!

เบื้องหลังปฏิบัติการเหลือเชื่อในช่วง 18 วัน ที่เริ่มต้นจากฝันร้าย ตึงเครียด ผ่านความเสียใจ ก่อนจบด้วยความสุข ในครั้งนี้ นอกจากปฏิบัติการในถ้ำแล้ว ยังมีเบื้องหลังอื่นๆอีกหลายฉาก เช่น กระบวนการบริหารจัดการ และตัดสินใจ ที่ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ในฐานะผู้บัญชาการฯ ใช้ขับเคลื่อน  เชื่อมโยงหน่วยงาน ทั้งใน และต่างประเทศ จนเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ สามารถทะลวงระบบราชการ และนำภารกิจลุล่วงได้ในที่สุด

นอกเหนือจากนี้ เบื้องหลังของจิตอาสาที่พากันมาโดยไม่ได้นัดหมาย หลายกลุ่ม หลายคน ได้ออกสื่อมากบ้างน้อยบ้าง บางคนไม่เคย (แต่ไม่บ่น) บางคนออกสื่อแต่ไม่ประสงค์ออกนาม อีกหลายคนหลายกลุ่ม สื่อยังไม่รู้เลยว่าพวกเขาก็มา

เบื้องหลังความนึกคิดของกลุ่มคนเหล่านี้ ที่มาช่วยโดยไม่ต้องขอ ถือเป็นพลังบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยที่ล้ำๆชาวบ้านอยู่ มาจากรากฐานใด ควรได้รับการศึกษาอย่างละเอียดเช่นกัน

ความสำเร็จในการกู้ภัยครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ได้เปิดให้เห็นพลังด้านบวกของมนุษยชาติ ที่ร่วมกันแสดงสปิริตที่ถ้ำหลวงจนเป็นบทเรียนที่โลกต้องคารวะ