World News

‘นิวยอร์กไทมส์’ ตีข่าว ‘ผู้ใหญ่ข่มเหง-ผู้น้อยไร้ทางออก’ ปมจ่าคลั่ง ‘กราดยิงโคราช’

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The New York Times ของสหรัฐ  เสนอรายงานพิเศษ “Thai Soldier in Mass Shooting Had Business Clash With His Commander”  เรื่องของ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา  ก่อเหตุกราดยิง จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากใน จังหวัดนครราชสีมา โดยอ้างถึงคำบอกเล่าจากคนใกล้ชิดของผู้ก่อเหตุ เช่น ทหารที่เป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกันเล่าว่า จ.ส.อ.จักรพันธ์ เป็นคนเงียบๆ ดูสุภาพ เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธปืน และชอบกีฬาฟุตบอล

koooo

อย่างไรก็ตาม บางคนเล่าว่าผู้ก่อเหตุมีความขัดแย้งต่อนายทหารยศพันเอกที่เป็นผู้บังคับบัญชา รวมถึงแม่ยายของนายทหารผู้นี้ เนื่องจากผู้ก่อเหตุเชื่อว่าทั้ง 2 โกงเงินของผู้ก่อเหตุไป ซึ่งดูจะสอดคล้องกับที่ จ.ส.อ.จักรพันธ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างลงมือสังหารผู้คนว่า “ไม่มีใครหนีความตายพ้น” และ “ร่ำรวยจากการคดโกงและฉกฉวยโอกาสจากผู้คน พวกเขาจะนำเงินไปใช้จ่ายในนรกได้หรือ” สะท้อนถึงการที่ทหารเข้าไปมีบทบาทในสังคมไทยไม่ว่าการเมืองหรือธุรกิจ

บทความกล่าวต่อไปว่า ผู้ก่อเหตุเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ของกองทัพ หนึ่งในสถาบันที่ทรงอำนาจที่สุดในประเทศไทย สำหรับบางคนการเข้าร่วมกองทัพอาจหมายถึงช่องทางไปสู่อำนาจและความมั่งคั่ง และนายทหารระดับสูงหลายคนมีธุรกิจของตนเองนอกจากงานในหน้าที่ราชการ

แม้ครอบครัวของพันเอกจะปฏิเสธว่าไม่ได้โกงเงิน จ.ส.อ.จักรพันธ์ แต่ในความเป็นจริงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ลำดับชั้นในกองทัพไทยเป็นระบบที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ใช้หาประโยชน์จากทหารยศต่ำกว่า รวมถึงทหารเกณฑ์ที่รู้กันดีว่าเป็นคนรับใช้ของนายทหารเหล่านี้

แอนโธนี เดวิส  นักเคราะห์ด้านความมั่นคง ที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ กล่าวว่า มีเรื่องเล่ามากมายที่พูดถึงทหารยศจ่า ผู้ก่อเหตุกราดยิง จะพัวพันกับธุรกิจที่ดินของครอบครัวผู้บังคับบัญชา ซึ่งแม้เรื่องนี้จะไม่ใช่การทำงานของทหารอาชีพอย่างแท้จริง แต่สำหรับสังคมไทย ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ที่ผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์สูงกว่าจะปฏิบัติกับผู้ที่มีฐานะต่ำกว่าอย่างไม่ให้เกียรติและไม่เป็นธรรม เมื่อบวกกับอาชีพทหาร ซึ่งสามารถเข้าถึงอาวุธได้ง่าย ผู้ใต้บังคับบัญชาที่รู้สึกว่าตนเองมีปัญหาก็อาจก่อเรื่องร้ายแรงขึ้นได้

ar1

รายงานยังกล่าวถึงเรื่องที่กองทัพไทยได้ก่อรัฐประหารถึง 18 ครั้ง นับแต่ที่ไทยเปลี่ยนมาใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเหตุรัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากนั้นในปี 2560 รัฐธรรมนูญที่ร่างในยุครัฐบาลทหาร ก็ผ่านความเห็นชอบ นำมาสู่รัฐบาลที่มีลักษณะกึ่งประชาธิปไตยในปัจจุบันที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ปัญหาขัดแย้งเรื่องที่ดินที่คาดว่าเป็นแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุ สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง

บทความจากสื่อสหรัฐยังเล่าถึงพื้นเพของ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ว่า เติบโตมาจากหนึ่งในภาคที่ยากจนของไทย หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมได้ไปเรียนต่อในโรงเรียนนายสิบทหารบก และมีความก้าวหน้าในกองทัพตามลำดับจนถึงชั้นยศจ่าสิบเอก ซึ่งเป็นยศสูงสุดในฐานะนายทหารชั้นประทวน

เพื่อนทหารที่รู้จักกันเล่าว่า จ.ส.อ.จักรพันธ์ มีปัญหาขัดแย้งเล็กน้อยกับนายทหารระดับสูง และในวันเกิดเหตุ เขาได้ฆ่าผู้บังคับบัญชาและแม่ยาย แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเหตุใดต้องไล่ฆ่าคนอื่นๆ ตั้งแต่ในวัดไปจนถึงห้างสรรพสินค้า

จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ไม่มีใครรู้ว่าในใจผู้ก่อเหตุคิดอะไรอยู่ ทำได้เพียงคาดเดาเพราะผู้ก่อเหตุก็เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนบรรยากาศหลังเหตุการณ์คลี่คลาย ผู้คนพากันไปวางดอกไม้ที่หน้าห้างเทอร์มินัล 21 อันเป็นสถานที่เกิดเหตุ ขณะที่คนงานและจิตอาสาต่างเร่งทำความสะอาด โดยห้างจะกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563

สำหรับความขัดแย้งเรื่องที่ดินนั้น มีการกล่าวถึง 1 ในผู้ที่ถูก จ.ส.อ.จักรพันธ์ ยิงเสียชีวิต คือ พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ กระแส  ที่มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อกับทหารด้วยกัน บ่อยครั้งทหารจะกู้เงินที่สามารถทำเงินได้มากกว่าบ้านที่พวกเขาซื้อ บางครั้งอาจเท่ากับ 1 ใน 3 ของมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งธุรกิจนี้มีคนในครอบครัว อย่าง นางอนงค์ มิตรจันทร์ แม่ยายที่ถูกยิงเสียชีวิต เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย รวมถึงภรรยา และพ่อตา ที่เป็นทหารยศนายพันที่เกษียณอายุไปแล้ว

84708718 759906011166377 7441708182432382976 o

บทความบอกว่า เพื่อนของ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ที่ขอไม่เปิดเผยชื่อเพราะกลัวจะกระทบต่อความปลอดภัยของตน เล่าว่า จ.ส.อ.จักรพันธ์ จะต้องได้เงินคืน 13,000 ดอลลาร์หรือราว 400,000 บาท ที่ผ่านมาได้ติดตามทวงถามหลายครั้งแต่ก็ผิดหวังทุกครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนจะเกิดเหตุกราดยิง จ.ส.อ.จักรพันธ์ ได้นัดพบกับ พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ นางอนงค์ และนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ แต่จบลงที่ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ใช้อาวุธปืนยิงทั้ง 3 คน และมีเพียงนายหน้าอสังหาฯ คนเดียวที่ไม่เสียชีวิตแต่ก็บาดเจ็บสาหัส

ด้านความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ มีการบอกเล่าเรื่องราวของทหารหลายคนที่ถูกโกงเงินในลักษณะเดียวกัน บางความเห็นมีลักษณะเห็นใจผู้ก่อเหตุแม้จะลงมือสังหารหมู่ไปแล้วก็ตาม ทั้งยังมี ทหารรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับล่างระบายว่า ผู้บังคับบัญชาระดับสูงปฏิบัติราวกับลูกน้องเป็นทาส

อย่างไรก็ตาม สมาชิกในครอบครัวของ พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ ที่รอดชีวิตจากการถูกสังหาร ยืนยันว่าบ้านของตนไม่ได้โกงเงิน จ.ส.อ.จักรพันธ์ แต่ปัญหามาจากบุคคลที่ 3 ที่ไม่ยอมจ่ายหนี้ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ในทางกลับกันพวกตนต้องการช่วยเหลือด้วยซ้ำเพราะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา

ส่วนภรรยาของ พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ ก็กล่าวว่า ครอบครัวของตนรับสร้างบ้านพักขายให้ทหาร แต่ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับการโกงเงิน จนทำให้แม่ และสามีถูกยิงเสียชีวิต สำหรับ จ.ส.อ.จักรพันธ์ มีหนี้ค้างอยู่เพียง 1,700 ดอลลาร์  หรือราว 5 หมื่นบาท จากเงินกู้ยืมไปซื้อบ้านราคา 50,000 ดอลลาร์ หรือราว 1.5 ล้านบาท และย้ำว่าไม่เคยบีบบังคับ จ.ส.อ.จักรพันธ์ แต่อย่างใด

ที่มา : แนวหน้า

Avatar photo