Technology

‘วิถีไอที’ ปี 2563 สู่โลก ‘ยุคอัตโนมัติ’

ดูเหมือนว่า บริษัทผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษาด้านไอที อาทิ การ์ทเนอร์ ฟอเรสเตอร์ ต่างคาดการณ์ทิศทางของโลกนับจากปี 2563 เป็นต้นไป กำลังเดินหน้าสู่ยุคของระบบอัตโนมัติ (The Age of Automation) อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น

ไฮบริดคลาวด์ เอดจ์ คอมพิวติ้ง ไอโอที เออาร์ แมชชีนเลิร์นนิ่ง ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หุ่นยนต์ ดิจิทัล ทวิน บล็อกเชน ระบบจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล ระบบความปลอดภัยด้านไอทีและข้อมูล ยังคงทรงอิทธิพลต่อการพัฒนาระบบไอทีอย่างต่อเนื่อง

businessman 3105871 960 720

ทั้งนี้ หากองค์กรสามารถบูรณาการการใช้งานเทคโนโลยีข้างต้น ในการเข้าถึงความต้องการของมนุษย์ (เช่น ลูกค้า และ พนักงาน) และครอบคลุมพื้นที่ในการดำรงชีวิต ( เช่น บ้าน สถานที่ทำงาน) ซึ่งการ์ทเนอร์เรียกกลยุทธ์นี้ว่า People-centric Smart Space จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้อีกมากมาย โดยเฉพาะการพัฒนาระบบงานที่มีความป็นอัตโนมัติ (Autonomous) ที่ทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้มากขึ้น และง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญสูงมากนัก โดยทิศทางการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เราจะได้เห็นมากขึ้นในปีนี้ ได้แก่

การบูรณาการเทางเทคโนโลยีหลายรูปแบบเพื่อมุ่งสู่ความเป็น ไฮบริด อินเทลลิเจนท์ (Hybrid Intelligence-HI) มากขึ้น เช่น คลาวด์แบบไฮบริด ที่เปิดกว้างให้องค์กรสามารถผสมผสานการใช้งานหลายรูปแบบ ทั้งคลาวด์ส่วนตัว และคลาวด์สาธารณะ จากหลากหลายผู้ให้บริการไอทีให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะด้าน ผสมกับพลังของ เอดจ์ คอมพิวติ้ง (Empowered Edge) ที่จะทำให้อุปกรณ์ใช้งานปลายทางมีความฉลาดในการประมวลผลด้วยตัวเอง ช่วยลดปริมาณงานของคลาวด์ส่วนกลาง ทั้งสนับสนุนให้แนวคิดการสร้างคลาวด์กระจายออกไปตามจุดต่าง ๆ( มีความเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ระบบไอทีโดยภาพรวมทำงานได้รวดเร็วขึ้น

ประกอบกับองค์กรธุรกิจหรือผู้ใช้งานต่างต้องการแอปพลิเคชันที่ปรับเปลี่ยนได้ตามที่ตนเองต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงกว่า 40% เมื่อถึงปี 2567 ซึ่งไม่เพียงจะทำให้องค์กรต้องเร่งพัฒนาโซลูชันหลักในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้องเพิ่มแอปพลิเคชันในลักษณะ คอนเทนเนอร์ และ ไมโครเซอร์วิส แยกออกเป็นส่วน ๆ สำหรับงานหรือบริการบางประเภท เพื่อให้องค์กรสามารถสร้างและปรับปรุงบริการการใช้งานได้เร็ว ทันการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ และทันใจผู้ใช้มากขึ้น

นอกจากนี้ ความนิยมในการเข้าถึงบริการและแอปพลิเคชันจากที่ไหนก็ได้โดยอิสระผ่านสมาร์ทโฟน หรือ อุปกรณ์ BYOD โดยยังคงรักษาประสิทธิผลของงานได้เหมือนเดิม หรือดียิ่งกว่าเดิม เป็นสิ่งที่การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า จนถึงปี 2566 กว่า 30% ขององค์กรธุรกิจกำลังปรับเปลี่ยนนโยบายในการติดตามผลการทำงานของพนักงาน หรือติดตามพฤติกรรมลูกค้าที่ใช้บริการผ่านอุปกรณ์ BYOD ต่าง ๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม องค์กรก็ต้องมีแนวทางควบคุมการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อการใช้งานเฉพาะในขอบเขตที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับธุรกิจไว้ด้วย

เอไอ

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ จะถูกพัฒนาให้เป็นไฮบริดมากขึ้นในมิติต่าง ๆ โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2567 ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถจับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์อย่างลึกซึ้งและแม่นยำ จะมีผลต่อการสร้างสรรค์โฆษณาสินค้าออนไลน์เกินกว่าครึ่ง รวมถึงมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ขณะเดียวกัน 28% ของนักการตลาดทั้งหลายต่างจัดอันดับให้ทั้ง เอไอ และ แมชชีนเลิร์นนิ่ง มีผลต่อการขับเคลื่อนการตลาดในอนาคต

เพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยี ไอโอที โดย ฟอร์เรสเตอร์ ซึ่งกล่าวว่า นับจากปี 2563 เป็นต้นไป ไอโอทีจะเดินเครื่องเต็มที่สู่ยุค 5G ด้วยศักยภาพในการรับ-ส่งข้อมูลที่ใช้เวลาน้อยลงเรื่อย ๆ (Low-Latency) โดยเฉพาะการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม  การเก็บรวบรวมและเชื่อมโยงระบบข้อมูลจากอุปกรณ์ไอโอทีที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตนับเป็นพัน ๆ ล้านชิ้นในการสร้างระบบนิเวศน์ด้านไอที (Ecosystem) เพื่อการจัดการในองค์กร การดำเนินธุรกิจ การสื่อสารกับลูกค้า ได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่ากับการลงทุนทางเทคโนโลยี

การบริหารจัดการข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจทางธุรกิจ หรือ บิสซิเนส อินเทลลิเจนท์ จะยังคงอยู่ต่อไป แต่จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเติมเทคโนโลยีด้านเอไอเพื่อช่วยจัดการกับข้อมูลระดับ บิ๊ก ดาต้า การสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและรอบด้าน ให้สามารถตอบโจทย์ธุรกิจได้จริง หรือ การออกแบบ ระบบจัดการชุดข้อมูล เพื่อแก้ปัญหาการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ใช้งาน หรือ ไม่สร้างมูลค่าใด ๆ ให้กับธุรกิจ

ส่วนเทคโนโลยี บล็อกเชน แม้มาตรฐานความปลอดภัยในการดูแลบัญชีธุรกรรมออนไลน์จะยังไม่นิ่ง แต่ผู้ใช้ก็ไม่รีรอที่จะซื้อขายใช้จ่ายเงินในตลาดออนไลน์ ผ่านสมาร์ทโฟน หรือแพลตฟอร์มการเงินต่าง ๆ อาทิ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือคิวอาร์โค้ด โดยคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 50% ในปี 2568 ขณะเดียวกัน การแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคของบล็อกเชนยังคงดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ตาม เด้านมืดของไอทีที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ คือ การโจมตีจากอาชญากรไซเบอร์ การละเมิดสิทธิและข้อมูลส่วนบุคคล การเข้าถึงชั้นความลับของข้อมูลทางธุรกิจโดยบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต การขโมยรหัสผ่านเพื่อเข้าถึงบัญชีธุรกรรมออนไลน์ การเจาะช่องโหว่ของระบบเพื่อก่อกวนการทำงาน รวมถึงการปล่อยไวรัสแรนซัมแวร์ บนโลกดิจิทัลจะยังคงเกิดอย่างต่อเนื่อง

digitization 4705450 960 720

ดังนั้น องค์กรควรให้ความใส่ใจกับการสร้างปราการ ความปลอดภัยไอที เครือข่ายและข้อมูล ให้ครอบคลุมทั้งด้านเทคนิคและนโยบาย ในเชิงเทคนิค เช่น ระบบป้องกันไวรัส เกตเวย์ ไฟร์วอลล์ การพัฒนาระบบพิสูจน์ตัวตน (Authentication) หรือเข้าใช้งานในระบบ การเฝ้าระวังการรับ-ส่งข้อมูลที่ได้มาจากการใช้งานเอไอ แมชชีนเลิร์นนิ่ง หรือ ไอโอที เนื่องจากเป็นเป้าโจมตีที่อาชญกรไซเบอร์ชื่นชอบ เป็นต้น

ในเชิงนโยบาย ก็เช่น การวางมาตรฐานด้านจริยธรรมทางเทคโนโลยีที่ซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อไม่ให้ก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวของผู้คนจนเกินไป รวมถึงหมั่นติดตามและคอยปรับปรุงนโยบายด้านความปลอดภัยให้เป็นไปตามข้อบังคับ หรือกฎหมายความปลอดภัยจากในและนอกประเทศ เช่น พรบ. อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ จีดีพีอาร์ มาตรฐานทางบัญชีใหม่ IFRS 9 หรืออื่น ๆ เพื่อให้ระบบความปลอดภัยมีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ และเป็นไปตามมาตรฐานสากลอยู่เสมอ

เรื่องน่ายินดีก็คือ การ์ทเนอร์คาดว่า การใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลกจะโตเพิ่มขึ้นอีก 3.7% ในปี 2563 จากยอดใช้จ่ายรวม 3.7 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2562 และถึงแม้ตัวเลขส่วนใหญ่ถูกใช้จ่ายไปกับเรื่องซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรธุรกิจ แต่ตัวเลขใช้จ่ายด้านความปลอดภัยก็สูงถึง 10.5% ในปี 2562 ทั้งนี้ ตัวเลขที่ใช้จ่ายไปกับการรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ คาดว่าจะโตถึง 41.2% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า วิถีโลกยุคระบบอัตโนมัติที่มีศักยภาพและเสถียรภาพนั้น ช่วยให้มนุษย์มีอิสระในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี แต่ก็ต้องเป็นระบบที่ต้องตอบสนองวิถีชีวิตทั้งในโลกความเป็นจริง และชีวิตในเวอร์ชันดิจิทัลได้อย่างชาญฉลาด มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยสูงเป็นสำคัญ

 

บทความโดย สุภัค ลายเลิศ กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ

บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

Avatar photo