Digital Economy

คาดอีคอมเมิร์ซ’61แตะ 3 ล้านล้านบาท ผุด e-Commerce Park หนุนคนค้าออนไลน์

etda ecommerce
ตัวเลขคาดการณ์อีคอมเมิร์ซปี 2561 โดย ETDA

ETDA แถลงตัวเลขคาดการณ์ผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปี 2560 พบมีมูลค่าทั้งสิ้น 2.81 ล้านล้านบาท โตขึ้น 8.76% เทียบกับปีก่อนหน้า คาดปีนี้เติบโตแตะ 3 ล้านล้านบาท ประกาศจับมือ มศว. ผุดอีคอมเมิร์ซปาร์คสร้างคนค้าขายพันธุ์ออนไลน์ ตามแบบจีน คาดสร้างผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน

โดยในงาน Future Economy : Big Change for Big Chance ที่จัดโดยสำนักงานสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพบว่า ปี 2560 ไทยมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 2,812,592.03 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น

  • มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2B อยู่ที่ 1,675,182.23 ล้านบาท หรือเท่ากับ 59.56%
  • มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C อยู่ที่ 812,612.68 ล้านบาทหรือ 28.89%
  • มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2G อยู่ที่ 324,797.12 ล้านบาท หรือ 11.55%
etda ecommerce
ความท้าทายและโอกาสของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยในอนาคต

โดยเมื่อเทียบมูลค่าอีคอมเมิร์ซปี 2560 กับปี 2559 พบว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2B มีการเติบโตขึ้น 8.63% เช่นเดียวกับ B2C ที่โตขึ้น 15.54% ขณะที่ในส่วนของการแบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซตามประเภทอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม พบว่าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซสูงที่สุด ได้แก่

  • อันดับที่ 1 อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 869,618.40 ล้านบาท (30.92%)
  • อันดับที่ 2 อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 658,131.15 ล้านบาท (23.40%)
  • อันดับที่ 3 อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 417,207.07 ล้านบาท (14.83%)
  • อันดับที่ 4 อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 404,208.00 ล้านบาท (14.37%)
  • อันดับที่ 5 อุตสาหกรรมการขนส่ง มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 104,904.28 ล้านบาท (3.73%)
  • อันดับที่ 6 อุตสาหกรรมศิลปะความบันเทิง และนันทนาการ มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 19,716.04 ล้านบาท (0.70%)
  • อันดับที่ 7 อุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 11,280.33 ล้านบาท (0.43%)
  • อันดับที่ 8 อุตสาหกรรมการประกันภัย มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 2,729.65 ล้านบาท (0.10%)
etda ecommerce
กรณีศึกษาของจีนที่ผลักดันอีคอมเมิร์ซโดยใช้ e-Commerce Park ที่ปัจจุบันมีถึง 2,000 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับตัวเลขคาดการณ์ในปีนี้ ETDA เผยว่าอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท โดย ETDA ชี้ว่าตัวเลขการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะมีการเติบโตที่น่าสนใจในกลุ่ม B2C อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากการเติบโตของธุรกิจอีคอเมิร์ซในจีนแล้ว ถือว่าห่างกันอย่างมาก (จีนเติบโตถึง 86%) ในจุดนี้ นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยว่า ETDA ได้ศึกษาวิธีการเติบโตของจีนและพบว่าจีนมีการส่งเสริมผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซอย่างน่าสนใจ ผ่าน “E-Commerce Park” โดยปัจจุบันจีนมี e-Commerce Park กว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมีลักษณะคล้ายนิคมอุตสาหกรรม หรือเมืองที่มีพื้นที่สำหรับการดำเนินงานร่วมกันของบริษัทต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ, ศูนย์ฝึกอบรม, ส่วนให้คำปรึกษา, ส่วนพื้นที่คลังสินค้า และพื้นที่สำหรับการทำ Workshop ด้วย

“การก่อตั้ง e-Commerce Park Thailand นี้เกิดจากการตั้งคำถามว่า ทำไม e-Commerce ของจีนถึงได้เติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และไทยจะสามารถนำบทเรียน ความรู้ และ Succeed Case ด้าน e-Commerce ของจีนมาประยุกต์อย่างไรในการผลักดันผู้ประกอบการไทยให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น”

“อีกทั้งเรายังพบว่า e-Commerce park แต่ละแห่งก็จะมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็น การทำการตลาดออนไลน์ (Online Marketing / Content) เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) โลจิสติกส์ (Logistics)และการนำเข้า-ส่งออก (Cross-Border e-Commerce) เป็นต้น โดย e-Commerce Park เหล่านี้เปรียบเสมือน One Stop Service ที่ยึดโยง ส่งเสริมผู้ประกอบการจีนให้มีความเข้มแข็งตลอด e-Commerce ecosystem ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ”

etda ecommerce
เป้าหมายของอีคอมเมิร์ซปาร์คแห่งแรกในไทย

จับมือ มศว. ผุดอีคอมเมิร์ซปาร์คแห่งแรก

สำหรับประเทศไทย จากการคาดการณ์ผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2560 พบว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซมีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี ETDA จึงเตรียมจัดตั้ง Thailand e-Commerce Park โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร ที่จะเป็นตลาดแรงงานในตลาด e-Commerce ต่อไปในอนาคต ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจ สำหรับการส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซในระดับประเทศอย่างครบวงจร โดยมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้ง e-Commerce Park ระหว่างสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒด้วย

นางสุรางคณายังกล่าวด้วยว่า เทรนด์ของอีคอมเมิร์ซที่ต้องจับตาคือการช้อปปิ้งโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย เช่น การช้อปปิ้งด้วยเสียง หรือการนำเทคโนโลยีสแกนใบหน้าเข้ามาช่วยยืนยันตัวบุคคล และการชำระเงิน นอกจากนั้น การใช้บิ๊กดาต้าในธุรกิจนี้ก็ยังทำให้แบรนด์สามารถคาดการณ์เทรนด์ หรือแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ และที่ลืมไม่ได้คือบล็อกเชน ที่กำลังจะก้าวเข้าในเป็นช่องทางในการซื้อขายพลังงาน เหล่านี้ทำให้ภาพของอีคอมเมิร์ซในอนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลก็คือ สินค้าไทยที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับด้านคุณภาพมาตรฐานในตลาดจีนนั้น กำลังจะถูกสินค้าจากจีนคุกคามได้ในอนาคต เนื่องจากจีนประกาศว่า ภายในปี 2568 หรือ ค.ศ. 2025 สินค้าจีนจะต้องสมาร์ท ราคาถูก มีความพรีเมียม และคุณภาพดี การพัฒนาผู้ประกอบการไทยเสียตั้งแต่วันนี้จึงอาจเป็นทางรอดที่ชัดเจนที่สุด

Avatar photo