General

ประกาศแผนเยียวยาจิตใจ 4 ระยะ รับมือผลกระทบ ‘เหตุกราดยิงโคราช’

กรมสุขภาพจิต ประกาศแผนเยียวยาจิตใจ 4 ระยะ ได้แก่ ระยะฉุกเฉิน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งระดมบุคลากรด้านสุขภาพจิต เข้าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว จากเหตุกราดยิงที่โคราช

310163 ตัด e1581241579171

วันนี้ (9 ก.พ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึง กรณีเหตุกราดยิงที่ จังหวัดนครราชสีมา ที่เกิดขึ้นวานนี้ ( 8 ก.พ.) ว่า กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีม MCATT หรือ ทีมวิกฤติสุขภาพจิต เพื่อเข้าดูแลจิตใจประชาชน เป็นการเร่งด่วน ตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา

และภายในช่วงเช้า ได้มีการจัดทีมบุคลากรด้านสุขภาพจิตเพิ่มเติม ประกอบด้วย ทีมจากโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ สถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมบูรณาการกับทีม MCATT ในพื้นที่

โดยกรมสุขภาพจิตแบ่งหน้าที่การทำงานออกเป็น 3 ส่วน คือ

  • การสนับสนุนด้านวิชาการ
  • เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงาน
  • ลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงาน

ในกรณีหากมีผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น กรมสุขภาพจิต ได้ทำการเตรียมทีม MCATT สำรองสำหรับการดูแลผู้ป่วยทั่วไปจำนวน 8 ทีม และดูแลเด็กและเยาวชนจำนวน 3 ทีม

84338505 1181622205341327 1932359997547610112 n

ทั้งนี้กรมสุขภาพจิต จะดำเนินการแผนเยียวยาจิตใจ 4 ระยะ ดังนี้

1. ระยะฉุกเฉิน (72 ชั่วโมงแรก) สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบอาจเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล สับสน มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีม MCATT เพื่อเข้าประเมินประชาชน คัดกรอง และให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความสูญเสียโดยตรง

2. ระยะสั้น (2 สัปดาห์แรก) ผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม อาจยังได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างต่อเนื่อง อาจเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นบางประการ เช่น เบื่อหน่าย ซึมเศร้า ท้อแท้ ไม่สามารถปรับตัวได้ อาจมีความวิตกกังวลในการ กลับไปใช้ชีวิตประจำวัน

กรมสุขภาพจิตโดยทีม MCATT และโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จะให้การบำบัดรักษาในรายที่จำเป็น เริ่มทำกิจกรรมต่างๆ กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย เกิดพลังใจทางบวก เกิดความยืดหยุ่นทางจิตใจ พร้อมที่จะกลับไปชีวิตตามปกติหลังจากนี้ และติดตามผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

3. ระยะกลาง (6 เดือน) ในกลุ่มที่ยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตอยู่ จะทำการติดตามต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อติดตามปัญหาด้านสุขภาพจิตที่อาจเกิดตามมาในภายหลังได้ เช่น โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ PTSD เป็นต้น

4. ระยะยาว กรมสุขภาพจิต จะยังคงติดตามเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงครอบครัวของผู้ได้รับบาดเจ็บ และสูญเสีย ที่อาจยังต้องการความช่วยเหลือด้านจิตใจ ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่สุด

84492551 1181660882004126 8277251240455307264 o

ทั้งนี้ หากประชาชน พบความผิดปกติด้านจิตใจของตนเอง หรือคนใกล้ชิด สามารถไปพบจิตแพทย์ได้ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เลขที่ 86 ถ.ช้างเผือก ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา โทรศัพท์ 044-233999 หรือติดต่อขอคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ที่ทีม MCATT ที่ได้ลงพื้นที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ได้ดูแลผู้บาดเจ็บ 17 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 4 ราย

ในส่วนครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ส่งทีมเข้าไปเยียวยาจิตใจ โดยระดมทีม MCAT จาก 32 อำเภอ ใน จังหวัดนครราชสีมา และจากส่วนกลางจากโรงพยาบาลจิตเวชและศูนย์สุขภาพจิตอีก 6 ทีม ทั้งนี้ ในระยะยาว ได้เตรียมตั้งจุดบริการที่บริเวณห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 ภายหลังที่เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

85097315 1181195898717291 2039871322548338688 n

 

Avatar photo