World News

เปิดสำนวนบริษัทญี่ปุ่นจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่ไทย

บริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (เอ็มเอชพีเอส) ได้เผยแพร่คำชี้แจงผ่านทางเว็บไซต์ กรณีเจ้าหน้าที่ของบริษัทถูกกล่าวหาว่า ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ท่าเรือทางตอนใต้ของไทย โดยมีใจความว่า

อ้างถึงรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ของสื่อมวลชน ที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาว่า มีพนักงานของเอ็มเอชพีเอสจ่ายสินบน ซึ่งทางเอ็มเอชพีเอส ได้รับแจ้งว่า อดีตพนักงานของบริษัท 2 ราย คือ รองประธานบริหาร ผู้อำนวยฝ่ายวิศวกรรมสำนักงานใหญ่ และรองประธานบริหารอาวุโส ผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายจัดหา และจัดซื้อ รวมถึง อดีตผู้จัดการใหญ่แผนกโลจิสติกส์ในขณะนั้น ถูกตั้งข้อหาว่าต้องสงสัยจะละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันไม่ยุติธรรม ด้วยการให้สินบนต่อเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ

ที่ผ่านมา เอ็มเอชพีเอส ได้วางมาตรการหลายอย่าง เพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับทั้งหมดอย่างเคร่งครัด ซึ่งบริษัทพบว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง จึงอยากขอโทษลูกค้า และผู้ถือหุ้นทั้งหมดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เอ็มเอชพีเอสตระหนักถึงความสำคัญของข้อกล่าวหาดังกล่าว และให้คำมั่นว่าจะทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อรับประกันว่าเจ้าหน้าที่ และพนักงานทุกคนของบริษัท จะปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก พร้อมจะดำเนินการฟื้นฟูความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นในเอ็มเอชพีเอสให้กลับคืนมา

Mitsubishi Hitachi Power Systems

ข้อเท็จจริงของคดี

ข้อหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ เอ็มเอชพีเอส ในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชของไทย

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 พนักงานเอ็มเอชพีเอส ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการขนส่งอุปกรณ์ ได้รับแจ้งว่า ผู้รับเหมาช่วง (ซับคอนแทรคเตอร์) ที่รับผิดชอบในการจัดส่งอุปกรณ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าทางทะเลพยายามที่จะขนถ่ายอุปกรณ์ขึ้นยังท่าเรือที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ก่อสร้าง แต่กลุ่มคนในท้องถิ่น รวมถึง บุคคลที่เชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือท้องถิ่น ไม่อนุญาตให้ใช้ท่าเรือ และเรียกร้องให้มีการจ่ายเงิน 20 ล้านบาท

การไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นท่าเรือเกิดขึ้นเพราะผู้ดำเนินการขนส่ง ไม่ได้มีการดำเนินงานตามขั้นตอนที่จำเป็นในการขอใบอนุญาตจากทางการที่จะใช้ท่าเรือ และมีการประเมินว่า หากเกิดความล่าช้าในการขนย้ายอุปกรณ์เพราะเรื่องนี้ ก็จะทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งจะทำให้เอ็มเอชพีเอส มีต้นทุน และค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อาทิ ค่าปรับต่อความเสียหายที่เกิดจากความล่าช้า

ในความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์เช่นนั้น บุคคลที่เกี่ยวข้องเอ็มเอชพีเอส จึงได้มอบเงินให้กับซับคอนแทรคเตอร์จำนวน 20 ล้านบาท เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้

เอ็มเอชพีเอสไม่สามารถยืนยันได้ว่า ซับคอนแทรคเตอร์ ได้ส่งมอบเงิน 20 ล้านบาทให้กับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ โดยเงินจำนวนนี้เป็นการจัดหามาโดยกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเอ็มเอชพีเอสในขณะนั้น ด้วยการสั่งงานหลอกๆ เพิ่มให้กับผู้รับเหมาท้องถิ่น

การรับมือของเอ็มเอชพีเอสหลังทราบเหตุการณ์

ในเดือนมีนาคม 2558 เอ็มเอชพีเอสได้รับแจ้งจากคนในบริษัท ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการจ่ายเงินอย่างไม่เหมาะสมให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งเอ็มเอชพีเอสก็ได้ดำเนินการสอบสวนภายในขึ้นมาทันทีภายในเดือนเดียวกัน และยังมอบหมายให้บริษัทกฎหมายภายนอกบริษัท ดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย

การตรวจสอบเหล่านี้ รวมถึง การเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง และให้ทนายความของบริษัทดำเนินการเก็บรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อพบความเป็นไปได้ว่าจะมีการละเมิดกฎหมาย และข้อบังคับเกิดขึ้น บริษัทได้รายงานเรื่องนี้ต่อสำนักงานอัยการเขตโตเกียว ในเดือนมิถุนายน 2558

ใช้ระบบข้อตกลงต่อรองรับสารภาพ

ในปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เอ็มเอชพีเอส รายงานข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบพบมาต่อสำนักงานอัยการเขตโตเกียวนั้น ระบบข้อตกลงต่อรองสารภาพ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ยังไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เอ็มเอชพีเอสได้ให้ความร่วมมือกับการสืบสวนคดีนี้ ของสำนักงานอัยการเขตโตเกียวอย่างเต็มที่ ซึ่งทางสำนักงานก็ตระหนักดีถึงความร่วมมือจากเอ็มเอชพีเอส และในเดือนมิถุนายน 2561 ได้แนะนำให้มีการนำข้อตกลงต่อรองรับสารภาพเข้ามาใช้ในคดีนี้

เอ็มเอชพีเอสมีความเข้าใจว่า ต่อให้ไม่มีการนำข้อตกลงต่อรองรับสารภาพเข้ามาใช้ การตั้งข้อหาต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ก็จะไม่แตกต่างออกไป และบริษัทเชื่อมั่นว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องให้ความร่วมมือเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดในเรื่องนี้ออกมา เข้าสู่ข้อตกลงกับอัยการ ภายใต้ระบบข้อตกลงการรับสารภาพ

เอ็มเอชพีเอสเชื่อว่า การตัดสินใจของบริษัทในการทำข้อตกลงดังกล่าว เป็นเรื่องที่ทั้งจำเป็น และสมเหตุผล เพื่อที่จะรับประกันว่า จะสามารถปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และพนักงานบริษัทเอาไว้ได้

มาตรการป้องกัน

เอ็มเอชพีเอสได้ข้อสรุปจากการสอบสวนภายในว่า การจะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก จำเป็นต้องมีการเน้นย้ำมากกว่าเดิม ให้บุคลากรเห็นถึงความสำคัญของการตรวจสอบ และปฏิบัติตามมาตรการภายในบริษัท ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น เอ็มเอชพีเอส กำลังดำเนินการดังต่อไป

  • ออกจดหมายจากผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวข้องกับการป้องกันการให้สินบน
  • เพิ่มช่องทางการรายงานเหตุการณ์ รวมถึง ออนไลน์ และโทรศัพท์ไม่เสียค่าบริหาร
  • กำหนดให้มีการตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อตรวจจับความเสี่ยงที่จะเกิดการให้สินบน ทั้งก่อนหน้า และหลังจากที่ได้รับงาน
  • ตรวจสอบการใช้จ่ายในงานก่อสร้างต่างประเทศให้มากขึ้น
  • ทบทวนขั้นตอนการอนุมัติจากระดับบริหารใหม่ทั้งหมด
  • จัดการอบรมในเรื่องการป้องกันการให้สินบน

การลงโทษภายในบริษัท

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 บริษัทได้ดำเนินการลงโทษทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินอย่างไม่เหมาะสม และเพื่อแสดงความรับผิดชอบในระดับของผู้บริหารต่อเหตุการณ์นี้ ทั้งประธานบริหาร และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านการขาย และอนุมัติให้เหตุการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เกิดขึ้น โดนหักเงินค่าตอบแทนดังต่อไปนี้

  • ประธานบริหาร และซีอีโอ หักเงินเดือน 30% นาน 3 เดือน
  • รองประธานบริหารอาวุโส รับผิดชอบด้านการขาย หักเงินเดือน 20% นาน 3 เดือน
  • หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ และธุรกิจ สำนักงานใหญ่ รับผิดชอบด้านการขาย หักเงินเดือน 20% นาน 3 เดือน
  • ผู้จัดการอาวุโสแผนกบริหาร และการจัดการ รับผิดชอบการอนุมัติงานต่างๆ หักเงินเดือน 10% นาน 3 เดือน

คำชี้แจงบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (เอ็มเอชพีเอส) 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight