World News

เปิดเหตุผล ‘เศรษฐกิจโลก’ ต้องกลัว ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’

ผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี นับแต่ที่เชื้อไวรัสโคโรนา ที่รู้จักกันในชื่อซาร์ส เกิดขึ้นในจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และจุดชนวนให้เกิดความตื่นตระหนก ที่ทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะชะงักงันไปทั่วโลก

ปัจจุบัน ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จากระกูลเดียวกัน ก็กำลังแพร่ระบาดไปทั่ว และอาจสร้างความเสียหายรุนแรงกว่า

GettyImages 1195314045

นับตั้งแต่ปี 2546 ที่เกิดการระบาดของซาร์ส จีนได้กลายมาเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของธุรกิจโลก เติบโตขึ้นมาเป็น โรงงานโลก เป็นผู้ผลิตสินค้าต่างๆ มากมาย อาทิ ไอโฟน และยังเป็นแหล่งขับเคลื่อนความต้องการโภคภัณฑ์ต่างๆ อย่าง น้ำมัน และทองแดง

จีนยังเป็นแหล่งกำหนดผู้บริโภคฐานะมั่งคั่งหลายร้อยล้านคน ที่ใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับสินค้าหรูหรา การท่องเที่ยว และรถยนต์ โดยเศรษฐกิจจีน ที่เคยคิดเป็นสัดส่วนราว 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกเมื่อปี 2546 ได้เติบโตขึ้นมามีสัดส่วนราว 16% ของผลผลิตโลกในปัจจุบัน

ก่อนที่จะควบคุมได้นั้น ซาร์สทำให้มีผู้ป่วยจำนวน 8,098 คน และเสียชีวิต 774 ราย ขณะที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่มีต้นตอการระบาดมาจากเมืองอู่ฮั่น ตอนกลางของจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 1,000 คน และติดเชื้อมากกว่า 43,000  คน ใน 28 ประเทศหรือดินแดนทั่วโลก เจ้าหน้าที่จีนต้องสั่งปิดตายอู่ฮั่น และอีกหลายเมือง แต่เชื้อไวรัสก็ยังระบาดออกไปอย่างต่อเนื่อง

นีล เชียริง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากแคปิตัล อิโคโนมิคส์ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่การระบาดของเชื้อไวรัส จะทำให้เศรษฐกิจ และตลาดการเงิน เกิดความผันผวนอย่างรุนแรง แต่เมื่อถึงที่สุดแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมากน้อยเท่าใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการแพร่ระบาด และวิวัฒนาการของเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะคาดการณ์ไม่ได้เลย รวมถึง วิธีการที่รัฐบาลประเทศต่างๆ รับมือกับเรื่องนี้

ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น อยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า โลกภายนอกประเทศจีน ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา

“โลกาภิวัฒน์” หนุนให้บริษัทต่างสร้างเครือข่าย “ซัพพลายเชน” ที่ตัดข้ามพรมแดนของประเทศต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจของแต่ละดินแดนเชื่อมต่อกันเพิ่มขึ้นอย่างมาก

นับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2551 เป็นต้นมา ธนาคารกลางรายใหญ่ๆ ของโลก ต่างงัดมาตรการต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อต่อสู้กับเศรษฐกิจขาลง และระดับหนี้โลกก็ไม่เคยที่จะเพิ่มสูงขึ้นเลย

กระแสชาตินิยมที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในขณะนี้ อาจทำให้เป็นเรื่องยากขึ้น ถ้าเกิดมีความจำเป็นที่ทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังก่อกวนซัพพลายเชน และรบกวนการทำธุรกิจของบริษัทต่างๆ

GettyImages 1200050072

แม้จะผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีนไปแล้ว แต่โรงงานผลิตรถยนต์ทั่วจีน ยังต้องปิดอยู่ตามคำสั่งของรัฐบาล ทำให้ค่ายรถยนต์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น โฟล์คสวาเก้น (Volkswagen) , โตโยต้า (Toyota), เดมเลอร์ (Daimler), เจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors : GM), เรโนลต์ (Renault) , ฮอนด้า (Honda)  และ ฮุนได (Hyundai)  ยังไม่สามารถดำเนินงานในตลาดรถยนต์รายใหญ่สุดของโลกได้

บริษัทจัดอันดับชั้นนำ “เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์” ประเมินว่า การระบาดของเชื้อไวรัสจะกดดันให้บริษัทรถยนต์รายต่างๆ ในจีน ต้องปรับลดปริมาณการผลิตในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ลงมาราว 15% ซึ่งโตโยต้าระบุล่าสุดว่า จะต้องปิดโรงงานไปอย่างน้อยจนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้

ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าหรูหรา ที่พึ่งพาการใช้จ่ายอย่างมือเติบของผู้บริโภคจีน ทั้งในบ้านเกิด และต่างประเทศ ก้ได้รับผลกระทบเช่นกัน เบอร์เบอรี (Burberry) แบรนด์สินค้าหรูสัญชาติอังกฤษ ได้ปิดสาขาในจีนไปแล้ว 24 แห่ง จากที่มีอยู่ทั้งหมด 64 ร้าน และซีอีโอ ของบริษัทก็ออกมาเตือนว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จะเป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อความต้องการสินค้าหรูหรา

เช่นเดียวกับสายการบินหลายสิบรายทั่วโลก ที่ต่างประกาศลด หรือระงับ เที่ยวบินทั้งขาเข้า และออกจากจีน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 28 มีนาคมนี้ คิดเป็นจำนวนมากกว่า 165,000 เที่ยวบิน ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารมากกว่า 27 ล้านคน ยังไม่นับรวมสายการบินอีกจำนวนหนึ่ง ที่ประกาศลด หรือระงับเที่ยวบินเข้าออกจีน อย่างไม่มีกำหนด

เรื่องที่น่าจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าสถานการณ์ข้างต้น คือ ซัพพลายเชนโลก

ควอลคอมม์ (Qualcomm) ผู้ผลิตชิพสมาร์ทโฟนรายใหญ่สุดของโลก เตือนว่า การระบาดของเชื้อไวรัส จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมาก ในเรื่องความต้องการสมาร์ทโฟน และความต้องการในการผลิต

ทั้งจนถึงขณะนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ก็ตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์แล้ว ถึงขั้นที่ ฮุนได ต้องตัดสินใจปิดโรงงานในเกาหลีใต้ และ เฟียต ไครสเลอร์ (FCAU) ต้องจัดทำแผนสำรอง เพื่อป้องกันไม่ให้โรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทในยุโรป ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

138755660 15808236472201n scaled 1

กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์มองว่า ภาวะขัดข้องที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ยังสามารถบริหารจัดการได้ หากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เริ่มลดน้อยลง และโรงงานต่างๆ ในจีน สามารถเปิดทำการได้ในเร็ววันนี้

ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน และส่งผลต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจโลก จะจำกัดอยู่ในเฉพาะไตรมาสแรกของปีนี้เท่านั้น  แต่ถ้าหากเชื้อไวรัสยังคงระบาดไปอย่างต่อเนื่อง ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

โมฮัมเหม็ด เอล อีเรียน หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ของอลิอันซ์ (Allianz) ระบุว่า สิ่งที่เขากังวลมากที่สุด คือ การเดิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“อย่างแรกเลย เชื้อไวรัสทำให้ทั้งมณฑลกลายเป็นอัมพาตจากการระบาด จากนั้นก็ค่อยๆ กระจายไปทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อการค้า การบริโภค การผลิต และการเคลื่อนย้ายของประชากรภายในประเทศ และถ้ายังควบคุมไวรัสวไม่ได้ กระบวนการนี้ก็จะแพร่กระจายออกไปมากขึ้น กลายเป็นผลกระทบระดับภูมิภาค และทั่วโลก ทำให้การค้า ซัพพลายเชน และการเดินทางติดขัดไปหมด ”

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์บางรายมองว่า ตัวของเชื้อไวรัสเองนั้น ไม่ได้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ปัจจัยที่แท้จริงคือวิธีการที่รัฐบาล ธุรกิจ และผู้บริโภค มีปฏิกิริยาตอบรับต่อการระบาด

ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่เลือกอยู่บ้านระหว่างการระบาด เพื่อเลี่ยงการป่วย ทำให้ไม่เกิดการเดินทาง ซื้อของ และการทำงาน ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และพลังงานในวงจำกัด  ขณะเดียวกันภาคธุรกิจ และรัฐบาล ก็ตัดสินที่จะปิดร้าน ปิดโรงงาน ซึ่งทำให้ผลผลิตลดลง

Avatar photo