Finance

มาตรการด้าน ‘ภาษี’ หนึ่งในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสู้ไวรัสอู่ฮั่น!

หลังยอดนักท่องเที่ยวจีนหายกว่า 80% หลัง “ไวรัสโคโรนา” ระบาดหนักจนทางการจีนต้องประกาศให้พลเมืองงดการท่องเที่ยวต่างประเทศเพื่อหยุดการแพร่เชื้อไวรัสร้าย แม้รัฐบาลไทยจะสามารถดูแลและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างดี และสามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนานี้ได้หายขาด แต่ยอดนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของธุรกิจไทยก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่น้อย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงต้องมีมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยออกเป็นมาตรการเร่งด่วน ทั้งมาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านภาษี โดยคาดว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้รวมทุกมาตรการประมาณ 4,500 ล้านบาท

313632

โดยมาตรการเร่งด่วนอย่างแรก ได้แก่ การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปี 2563 ให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปเป็นภายในเดือนมิถุนายนของปี 2563

นอกจากนี้ยังมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง

รวมถึงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมหักรายจ่ายสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวน 1.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง

84349273 1294216667450313 5847652562538332160 o 1

นอกจากนี้ รัฐบาลยังไฟเขียว “มาตรการด้านการเงิน” ทั้งมาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม อาทิ ธนาคารออมสิน ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ 2 เท่าของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญา สูงสุดไม่เกิน 5 ปี, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พักชำระหนี้เงินต้นสำหรับเงินกู้ยืมระยะยาวที่มีวงเงินคงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยต้องมีประวัติการผ่อนชำระหนี้ดีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนวันเข้าร่วมโครงการ และต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผัดผ่อนการชำระหนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน ต่อเนื่องไม่เกิน 5 ครั้ง หรือสามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ไม่เกิน 20 ปี และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และงวดผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรมผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

พร้อมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน ของธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) วงเงินรวม 123,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แม้ว่าการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา แต่จากมาตรการรัฐที่ออกมารับมือ ก็มองว่าปัญหานี้จะไม่ยืดเยื้อ

Avatar photo