Economics

‘พาณิชย์’ จับพ่อค้า 10 ราย ‘กักตุน-โก่งราคา’ หน้ากากอนามัย ฟันคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน

กรมการค้าภายในเอาจริง จับมือตำรวจลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายหน้ากากอนามัยตามที่ได้รับการร้องเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลรวม 218 ราย เจอผู้กระทำผิด 10 ราย ทั้งกักตุน โก่งราคา ส่งดำเนินคดีเอาผิดทันที โทษคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนในต่างจังหวัดให้พาณิชย์จังหวัดตรวจเข้ม ด้านผลหารือองค์การเภสัชกรรมและองค์การอาหารและยา (อย.) มอบพาณิชย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยให้เพียงพอความต้องการใช้

resize 5e3d3ade0fba3
วิชัย โภชนกิจ

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วออกไปหาข้อเท็จจริงตามเบาะแสที่ได้รับแจ้งกรณีมีการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการจำหน่ายหน้ากากอนามัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงระหว่างวันที่ 5 – 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวม 218 ราย ปรากฏว่ามีผู้กระทำผิดตามที่มีการร้องเรียนจริง จำนวน 10 ราย ในเขตพื้นที่ลาดกระบัง ประเวศ ราชเทวี บางรัก พญาไท และสัมพันธวงศ์ โดยมีทั้งกรณีที่ผู้ค้าหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือกักตุนสินค้า ปั่นราคาขายสูงกว่าความเป็นจริง จนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

“พฤติกรรมที่ตรวจสอบพบ มีการขายหน้ากากสูงเกินสมควร สร้างความปั่นป่วนในราคาซื้อขาย และบางรายมีสินค้า แต่ปฏิเสธการขาย โดยจะขายให้ในราคาที่ต้องการ ซึ่งได้ทำการจับกุมผู้กระทำความผิดทั้ง 10 ราย ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินคดีในกระทงความผิดเกี่ยวกับการสร้างความปั่นป่วนราคาขายให้สูงกว่าความเป็นจริง ในมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้ว”

ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการเป็นกรณีเร่งด่วนให้พาณิชย์จังหวัด, ฝ่ายปกครอง, และเจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดคณะเคลื่อนที่เร็วออกตรวจสอบผู้มีพฤติกรรมปั่นป่วนราคาขายตามที่มีข้อร้องเรียน และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดอย่างจริงจังและเข้มงวดอีกทางหนึ่งด้วย

resize 5e36355972675

นายวิชัยกล่าวว่า กรมยังได้หารือกับองค์การเภสัชกรรม และองค์การอาหารและยา (อย.) โดยได้เห็นชอบให้กรมฯ เป็นหน่วยงานหลักหน่วยในการบริหารศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย ให้มีใช้เพียงพอในประเทศและราคาเป็นธรรม

กรมจะทำหน้าที่รวบรวมความต้องการและประสานผู้ผลิต 10 ราย ในการจัดสรรหน้ากากอนามัย โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรมและอย. จะเป็นผู้ดูแล หากไม่พอให้รายงานมาที่ศูนย์ฯ ก็จะช่วยประสานจัดการให้

ขณะนี้พบว่า เริ่มมีโรงพยาบาลบางแห่งหาซื้อยาก ส่วนหน่วยงานทั่วไปกรมจะเป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการ โดยมีหน่วยงานต่างๆ แจ้งความต้องการมาแล้วประมาณ 10 ล้านชิ้น เฉพาะหน่วยงานด้านสาธารณสุขมีความต้องการใช้วันละ 2 แสนชิ้น ซึ่งการบริหารจัดการหน้ากากจะพิจารณาตามลำดับความสำคัญของแต่หน่วยงานที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน

“ขณะนี้ความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้นจาก 30 ล้านชิ้น เป็น 50 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งโรงงานต่างๆ ได้เพิ่มกำลังการผลิตแล้ว แต่ปัญหาส่วนหนึ่งที่ขาดตลาด พบว่ามีการซื้อเพื่อการส่งออกและเก็งกำไร รวมถึงอ้างการบริจาคหรือการซื้อเพื่อไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อไปบริจาคให้กับคนจีน ซึ่งกรมฯ ได้ขอให้ผู้ส่งออกชะลอเกือบทุกล็อต และจะพิจารณาเป็นรายกรณีตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน”นายวิชัย กล่าว

Avatar photo