Business

ค้าปลีกไทยเล็งลงทุน‘เมียนมา’หลังแก้กม.ต่างชาติถือหุ้น

ในงานสัมมนาด้านเศรษฐกิจ “เมียนมา อินไซต์ 2018” (Myanmar Insight 2018)  ซึ่งจัดโดย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ร่วมกับสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา (Thai Business Association of Myanmar – TBAM)  เป็นหนึ่งในกิจกรรมฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เมียนมา ในปี 2561

แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ “เมียนมา” ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเร็วสุดในเอเชีย ซึ่งข้อมูลจากธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า ในปี 2560 จีดีพีเมียนมาขยายตัว 6.4% คาดว่าจะขยายตัวในระดับเท่ากันในปีนี้ ก่อนจะขยายตัวราว 7% ในปีต่อไป

ตอง ตุน เมียนมา
นายตอง ตุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐบาลกลางของเมียนมา

แก้กม.บริษัทเปิดทางต่างชาติถือหุ้น 35%

นายตอง ตุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐบาลกลางของเมียนมา กล่าวว่าเมียนมาตั้งเป้าที่จะก้าวกระโดดสู่อนาคต โดยมีแรงหนุนจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วในการใช้มือถือและอินเทอร์เน็ตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน 90% ของประชากร 53 ล้านคนในประเทศเมียนมา เข้าถึงมือถือแล้ว

“เราหวังที่จะสร้างทางลัดในการสร้างความสามารถ ที่ประเทศกำลังพัฒนารายอื่น ๆ เคยต้องผ่านมาก่อน ผ่านทางกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ”

สิ่งที่น่าจับตาของเมียนมาในปีนี้ คือการแก้กฎหมายบริษัท ปี 2457 ซึ่งธุรกิจท้องถิ่นที่มีบริษัทต่างชาติถือหุ้นอยู่ จะถูกจัดให้เป็นบริษัทต่างชาติทั้งหมด แต่กฎหมายบริษัทฉบับปรับปรุงใหม่ ได้ปรับเปลี่ยนคำจำกัดความใหม่ กำหนดให้บริษัทท้องถิ่นสามารถมีธุรกิจต่างชาติเข้าถือหุ้นได้สูงสุด 35%  ซึ่งจะเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจ ที่ก่อนหน้านี้สงวนให้เฉพาะบริษัทที่มีแต่ชาวเมียนมาเป็นเจ้าของ 100% เท่านั้น

สำหรับกฎหมายบริษัทฉบับแก้ไขใหม่ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายในภาคธุรกิจเมียนมา นักลงทุนต่างชาติจะสนใจเข้ามาลงทุนเมียนมามากขึ้น เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2561 เพราะได้สิทธิเป็นเจ้าของบริษัทที่จัดตั้งในเมียนมาสัดส่วน 1 ใน 3 ได้สิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สินถาวรที่ลงทุนในเมียนมา ในธุรกิจที่เดิมจำกัดให้คนเมียนมาลงทุนเท่านั้น

นอกจากนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมียนมา หรือ เอ็มไอซี ยังมุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนถ่าย ที่จะทำให้เมียนมากลายเป็นจุดหมายการลงทุนและการค้าระดับภูมิภาค

โอกาสลงทุนค้าปลีก-เอสเอ็มอีไทย

นายสรศักดิ์ กีรติโชคชัยกุล นายกสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา (TBAM) กล่าวว่าการแก้กฎหมายบริษัทเพื่อให้ต่างชาติที่ถือหุ้นไม่เกิน 35% ในธุรกิจเดิมที่เคยจำกัดเฉพาะคนเมียนมาลงทุน  ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญดึงการลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น  จากการได้สิทธิเป็นเจ้าของบริษัท 1 ใน 3 ของการลงทุนทำให้กลุ่มทุนต่างชาติ รวมทั้งคนไทยสามารถวางแผนลงทุนธุรกิจต่างๆ รวมทั้งย้ายฐานการผลิตมายังเมียนมามากขึ้น โดยเฉพาะการเช่าที่ดินเพื่อลงทุนธุรกิจต่างๆ ด้วยสัญญาระยะยาว จากเดิมที่เป็นสัญญาระยะสั้น

เมียนมา
นายสรศักดิ์ กีรติโชคชัยกุล นายกสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา (TBAM)

ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาเป็นอันดับ 3 รองจาก จีน และสิงคโปร์ โดยช่วง 20 ปีที่ผ่านมาไทยใช้งบประมาณลงทุนในเมียนมารวม 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์  ,สิงคโปร์ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ และจีน 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์

ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลังจากเมียนมาเปิดประเทศ มูลค่าลงทุนในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ปีละ  400-500 ล้านดอลลาร์  ขณะที่จีนลงทุนปีละ 2,500  ล้านดอลลาร์ และสิงคโปร์ อยู่ที่ปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์

มองว่าหลังจากเมียนมาประกาศใช้กฎหมายบริษัทใหม่ กลุ่มนักลงทุนไทยจะสนใจเข้าไปลงทุนในเมียนมามากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ที่เดิมจำกัดการลงทุนเฉพาะคนท้องถิ่น ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของธุรกิจค้าปลีกจากไทยที่มีความแข็งแกร่งจะขยายสู่ตลาดเมียนมา

“เมียนมามีจุดแข็งด้านต้นทุนแรงงานไม่สูง อีกทั้งมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก  ภาคธุรกิจมีโอกาสขยายการลงทุนทั้งด้านอุตสาหกรรมต่างๆ และภาคบริการ และถือเป็นอีกโอกาสของนักลงทุนไทย รวมทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี จากประเทศไทยด้วยเช่นกัน”

ค้าปลีกไทยสำรวจพื้นที่เตรียมลงทุน

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสากลธุรกิจเลิศรวมมิตร จำกัด ตัวแทนจัดหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเมียนมา และประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่าบริษัทเข้าไปลงทุนนำสินค้าจากไทยไปจำหน่ายในเมียนมาตั้งแต่ปี 2533 หรือเกือบ 30 ปี  ปัจจุบันเป็นผู้จำหน่ายสินค้าจากไทยกว่า  13 สินค้า เช่น กระทิงแดง, สปอนเซอร์, ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว, อาร์ท, รองเท้าตราช้างดาว ,เดลี่เฟรช, ดอกบัวคู่ ปีที่ผ่านมามียอดขาย 2,000 ล้านบาท ธุรกิจเติบโตทุกปีปีละ 20-30%

เมียนมา
นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา

ปัจจุบันการค้าขายในเมียนมาเป็นรูปแบบค้าปลีกดั้งเดิม (traditional trade) 90% และโมเดิร์นเทรด 10% เนื่องจากเมียนมามีกฎหมายควบคุมการลงทุนค้าปลีกที่จำกัดให้คนท้องถิ่นเป็นผู้ลงทุนและเจ้าของธุรกิจ โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านเริ่มคนท้องถิ่นลงทุนค้าปลีก รูปแบบโมเดิร์นเทรด เช่น ซูเปอร์วัน ,ซิตี้มาร์ท, ซิตี้ เอ็กซ์เพรส

จากการแก้กฎหมายบริษัทใหม่ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ที่กำหนดให้ต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 35% มีสิทธิลงทุนในธุรกิจต่างๆ ในเมียนมาเช่นเดียวกับบริษัทท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจค้าปลีกต่างชาติเข้ามาลงทุนจากเดิมที่ต้องเป็นคนเมียนมา 100% พบว่าตั้งแต่เริ่มมีการแก้กฎหมายดังกล่าว มีผู้ประกอบการค้าปลีกโมเดิร์นเทรดจากไทย 4-5 ราย ทั้งศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต เข้ามาสำรวจพื้นที่ลงทุนในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ เพื่อเตรียมเข้ามาลงทุนหลังกฎหมายใหม่บังคับใช้

นอกจากนี้รัฐต่างๆ ทั้ง 7 รัฐของเมียนมายังต้องการการลงทุนจากต่างชาติในด้านอื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน กระแสไฟฟ้า คมนาคม ขนส่ง

“ชาวเมียนมาพูดไทยได้ถึง 15% ชื่นชอบสินค้าแบรนด์ไทย จึงเป็นโอกาสการเข้าไปลงทุนของธุรกิจไทยในเมียนมาทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและค้าปลีกโมเดิร์นเทรด”

 

Avatar photo