World News

ซุปค้างคาว? อาวุธชีวภาพ? สื่อหลักโต้ ‘ข่าวโคมลอยโคโรนาบนโลกโซเชียล’ ด้วยข้อเท็จจริง

ข้อมูลและรายงานที่ผิดๆ เกี่ยวกับ ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV)’ กระหน่ำสื่อโซเชียลอย่างไม่ขาดสายนับตั้งแต่ไวรัสฯ แพร่ระบาด อันเป็นการกระพือความหวาดกลัวอันไร้เหตุผลในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ดีมี ‘สื่อกระแสหลัก’ จำนวนมากออกมารายงาน และให้ความกระจ่างต่อข่าวลือเหล่านั้น เพื่อนำเสนอภาพ และข้อมูลที่แท้จริงของโรคระบาดนี้แก่สาธารณชน และยุติความตื่นตระหนกของผู้คนในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ซุปค้างคาว

ชาวจีนชื่อดังในวงการโซเชียลมีเดียเผยแพร่คลิปวิดีโอแสดงภาพการกิน ‘ซุปค้างคาว’ ซึ่งแพร่ไปตามสื่อออนไลน์จนมีคนกดดูจำนวนมาก หลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสฯ ในนครอู่ฮั่น ทางตอนกลางของจีน

สื่อบางสำนักใช้คลิปดังกล่าวเพื่อเผยแพร่รายงานเท็จ โดยอ้างว่าไวรัสฯ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับซุปค้างคาวที่ปนเปื้อน

UID20200204160553810641

“แต่จะว่ากันจริงๆ แล้ว คลิปวิดีโอดังกล่าวไม่ได้ถ่ายขึ้นที่อู่ฮั่น หรือในจีน” สำนักข่าวบีบีซี (BBC) รายงานแย้งกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา

“คลิปนี้ถ่ายทำโดยหวังเมิ่งอวิ๋น (Wang Mengyun) พิธีกรรายงานท่องเที่ยวและบล็อกเกอร์สาวชื่อดัง ระหว่างท่องเที่ยวที่ปาเลา (Palau) หมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เมื่อปี 2016” สำนักข่าวฯ รายงาน

เชื่อกันว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกิดจากสัตว์ป่าที่ถูกนำมาลักลอบค้าอย่างผิดกฎหมายที่ตลาดอาหารทะเลในอู่ฮั่น และแม้ค้างคาวจะถูกกล่าวถึงในงานวิจัยล่าสุดจากจีนว่าอาจเป็นต้นตอของไวรัสฯ แต่ซุปค้างคาวนั้นไม่ใช่สิ่งที่หากินได้ทั่วไปในจีน นอกจากนั้นตอนนี้ การสืบหาแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของไวรัสฯ ก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ” สำนักข่าวฯ ระบุ

XxjflbC185620 20191231 HGVFN0002

โฆษณาชวนเชื่อเหยียดชาวจีน

เดอะการ์เดียน (The Guardian) หนังสือพิมพ์สหราชอาณาจักร เผยแพร่บทความคิดเห็นซึ่งระบุว่า “ข่าวเท็จเรื่อง ‘ซุปค้างคาว’ คือตัวอย่างสุดคลาสสิกของข่าวปลอม และเป็นข่าวปลอมที่ทรงพลังทีเดียว”

“อย่างในกรณีนี้ คลิปวิดีโอต้นฉบับจริงของหญิงชาวจีนที่กำลังกินซุปค้างคาวนั้น ถูกแยกออกจากบริบทที่แท้จริง (ที่ว่าเป็นวิดีโอท่องเที่ยวของบล็อกเกอร์ที่บันทึกจากร้านอาหารในปาเลาเมื่อปี 2016) และเริ่มกุเรื่องเชื่อมโยงว่าไวรัสโคโรนาบางชนิดเกิดจากค้างคาว เพื่อแต่งเรื่องน่าดึงดูดใจแก่เป้าหมายชาวตะวันตก กลุ่มที่ชอบเหยียดเชื้อชาติ” เดอะการ์เดียนระบุ

ใน ออสเตรเลีย มีการเตือนภัยปลอมซึ่ง อ้างว่ามาจากรัฐบาลควีนส์แลนด์ เตือนให้ประชาชนอยู่ห่างจากพื้นที่ที่มีชาวจีนอยู่หนาแน่น

เวลาต่อมา ดันแคน เพกก์ (Duncan Pegg) สมาชิกสภารัฐควีนส์แลนด์ เผยแพร่ภาพบันทึกจากหน้าจอของข่าวเตือนภัยดังกล่าว พร้อมระบุข้อความว่า “ปลอม!! ปลอม!! ปลอม!! 100%”

“ปกติผมก็ไม่อยากจะเชื่อถือคนที่หาทางว่าร้ายชุมชนของเราอยู่แล้ว แต่คราวนี้ผมอยากจะทำอะไรให้มันชัดเจน” ดันแคนระบุ

XxjpsgC007041 20200202 PEPFN0A001 scaled

ทฤษฎีสมคบคิด “อาวุธชีวภาพ”

อีกหนึ่งข่าวโคมลอยที่เผยแพร่ทางออนไลน์อย่างกว้างขวางนั้น หนีไม่พ้นรายงานจาก ‘หนังสือพิมพ์วอชิงตัน ไทมส์ (Washington Times)’ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่อ้างว่าไวรัสฯ “อาจเกิดจากห้องทดลองในนครอู่ฮั่นซึ่งเชื่อมโยงกับโครงการลับเพื่อสร้างอาวุธชีวภาพ”

นิทานเรื่องการสมคบคิดสร้าง “อาวุธชีวภาพ” ดังกล่าว ถูกอ้างอิงที่มาจาก แดนี โชแฮม (Dany Shoham) อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของกองทัพอิสราเอล

นิตยสารฟอเรนจ์ โพลิซี (Foreign Policy) ระบุข้อความในบทความฉบับหนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่า “ไวรัสอู่ฮั่นไม่ใช่อาวุธชีวภาพจากห้องทดลอง” (The Wuhan Virus Is Not a Lab-Made Bioweapon) บนเว็บไซต์ว่า “บรรดาทฤษฎีสมคบคิดแพร่ไปเร็วเสียยิ่งกว่าตัวไวรัสโคโรนา”

“แม้โชแฮมจะไม่เคยมีข้อสนับสนุนข้ออ้างเรื่องแต่งที่ว่าการแพร่ระบาดเกิดจากอาวุธชีวภาพ แต่สื่อก็ยังคงหยิบยกไปใช้และปั่นกระแส” ฟอเรนจ์โพลิซีระบุ

นอกจากนั้น สำนักข่าวบีบีซี ยังรายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า “ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ สำหรับข้ออ้างนี้”

XxjidoC007027 20200120 CBMFN0A001

การแพร่ระบาด “แผนที่วางไว้แล้ว”

ทฤษฎีสมคบคิดอีกข้อหนึ่งอ้างว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ถูกสร้างขึ้นโดยอุตสาหกรรมเภสัชกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อขายวัคซีน

“หนึ่งในคนพวกแรกๆ ที่ปล่อยข้อกล่าวหาเช่นนี้ออกมา คือยูทูเบอร์ และนักทฤษฎีสมคบคิดที่ชื่อว่าจอร์แดน เซเธอร์ (Jordan Sather)” สำนักข่าวบีบีซี รายงาน

เซเธอร์เผยแพร่เนื้อหาในทวิตเตอร์ซึ่งภายหลังถูกแชร์ไปในวงกว้าง เขาได้แนบลิงก์สิทธิบัตรปี 2015 ฉบับหนึ่ง ที่ออกโดยสถาบันเพอร์ไบรต์ (Pirbright Institute) สิทธิบัตรฉบับดังกล่าวระบุถึงการพัฒนาไวรัสโคโรนาที่เชื้ออ่อนแอสำหรับใช้เป็นวัคซีนป้องกันหรือรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ

อย่างไรก็ตาม สถาบันดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์ฉบับยาวลงในเว็บไซต์ พร้อมชี้แจงว่างานวิจัยไวรัสโคโรนาของสถาบันนั้นครอบคลุมไวรัสที่มีผลต่อสัตว์ปีกและสุกรเท่านั้น ไม่ใช่เชื้อประเภทที่ปรากฏในมนุษย์

“สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ควรจดจำคือไวรัสโคโรนาไม่ใช่โรคหนึ่งโรค แต่เป็นกลุ่มไวรัสกลุ่มหนึ่ง (ที่มีหลายชนิด)” บัซซ์ฟีด (Buzzfeed) สื่ออินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ รายงาน “ไวรัสโคโรนาในปัจจุบันที่เชื่อว่ามีแหล่งกำเนิดจากอู่ฮั่นนั้น ถูกระบุว่าเป็นชนิดที่ 7”

XxjpbeE007335 20200204 PEPFN0A001 scaled

จำนวนผู้เสียชีวิตปลอม

ฮัล เทอร์เนอร์ (Hal Turner) พิธีกรรายการวิทยุของสหรัฐฯ หัวเอียงขวาจัด ได้อ้างถึงจำนวนผู้เสียชีวิตและติดเชื้อไวรัสฯ เกินจริงไปอย่างมาก โดยได้รายงานบนเว็บไซต์ของตน เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ว่า มีผู้เสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น 112,000 ราย และมีผู้ติดเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ใหม่ถึง 2.8 ล้านราย พร้อมอ้างอิง “แหล่งข่าวกรองลับซึ่งเป็นอดีตเพื่อนร่วมงานของผมตลอด 15 ปี ที่ทำงานในเอฟบีไอ (FBI)”

ลีดสตอรีส์ ( Lead Stories) หนึ่งในองค์กรฝ่ายที่สามที่ เฟซบุ๊ก ว่าจ้างให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ยืนยันว่ารายงานของ             เทอร์เนอร์ เป็น “ข่าวปลอม”

XxjpbeE007024 20200204 PEPFN0A001 scaled e1581067272680

ความเป็นจริง ทางการสาธารณสุขของจีนได้แจ้งตัวเลขล่าสุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกวัน เช่นวันนี้ (ุ7 ก.พ.) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากไวรัสฯ บนจีนแผ่นดินใหญ่รวมอยู่ที่ 31,161 ราย และผู้ป่วยที่เสียชีวิตรวมอยู่ที่ 639 เมื่อนับถึงสิ้นวันพฤหัสบดี (ุ6 ก.พ.)

ส่วนผู้ป่วยที่ยังคงมีอาการหนักอยู่ที่ 4,800 ราย ผู้ป่วยต้องสงสัยอยู่ที่ 26,000 ราย และผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลได้แล้วรวมอยู่ที่ 1,540 ราย

XxjpbeE007477 20200201 PEPFN0A001 scaled e1581067690338

ที่มา: สำนักข่าวซินหัว

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight